xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ฉีดวัคซีน กาฬหลังแอ่น-ไข้หวัดใหญ่ ชาวไทยมุสลิม ผู้แสวงบุญพิธีฮัจญ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.ให้บริการวัคซีนป้องกันไข้กาฬหลังแอ่นและวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ รวม 30,000 โดส แก่ชาวไทยมุสลิมที่เดินทางทำพิธีฮัจญ์ ฟรี

วันนี้ (19 ก.ค ) ที่ศูนย์บริหารกิจการศาสนาอิสลามแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติ กทม. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคติดต่อแก่ชาวไทยมุสลิมที่ไปแสวงบุญ ณ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ว่า การไปประกอบพิธีฮัจญ์ ถือเป็นบทบัญญัติข้อหนึ่งของศาสนาอิสลาม สำหรับชาวมุสลิมที่มีความสามารถจะต้องไปประกอบพิธีฮัจญ์ ณ เมืองมักกะห์ และเมืองมะดีนะห์ ประเทศซาอุดีอาระเบีย อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิต ซึ่งทุกปีจะมีชาวมุสลิมจากทั่วโลกประมาณ 2-3 ล้านคน เดินทางไปประกอบพิธีดังกล่าว ในจำนวนนี้เป็นชาวไทยมุสลิม ประมาณ 13,000-16,000 คน
สำหรับการดูแลสุขภาพและเตรียมความพร้อมให้ชาวไทยมุสลิมที่จะเดินทางไปในครั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้จัดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคแก่ชาวไทยมุสลิม 2 ชนิด ได้แก่ วัคซีนป้องกันโรคกาฬหลังแอ่น (Meningococcal meningitis) ชนิด A, C, Y, W 135 และวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza) ตามที่ประเทศซาอุดีอาระเบียกำหนด โดยเตรียมไว้อย่างละ 15,000 โดส รวมทั้งหมด 30,000 โดส ให้บริการฟรี เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันไม่ให้ป่วยจาก 2 โรคดังกล่าว เนื่องจากผู้ไปประกอบพิธีฮัจญ์ มาจากหลายเชื้อชาติทุกภูมิภาคของโลก และจะต้องอาศัยอยู่รวมกันจำนวนมากเป็นเวลานานในสถานที่จำกัด โรคจึงมีโอกาสระบาดขึ้นได้ โดยเริ่มให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2554 เป็นต้นไป

“สำหรับชาวไทยมุสลิมที่จะรับบริการฉีดวัคซีนก่อนเดินทาง ส่วนกลางในพื้นที่ กทม.สามารถไปขอรับบริการได้ที่ 1.สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี 2.ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ ท่าเรือกรุงเทพ 3.กองควบคุมโรค สำนักอนามัย กทม.4.สถานเสาวภา สภากาชาดไทย และ 5.โรงพยาบาลนวมินทร์ กทม.ส่วนภูมิภาคหรือต่างจังหวัด รับบริการที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 14 จังหวัดภาคใต้ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 3 จ.ชลบุรี, ที่ 10 จ.เชียงใหม่, ที่ 11 นครศรีธรรมราช, ที่ 12 สงขลา และด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ สังกัดกรมควบคุมโรคใน จ.สงขลา และ จ.นราธิวาส ขณะนี้กรมควบคุมโรคได้จัดเตรียมวัคซีนไว้ให้บริการอย่างเพียงพอแก่ผู้เดินทางไปแสวงบุญที่ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมการศาสนาไว้แล้ว ขอให้ไปรับบริการได้ตามสถานที่ที่กล่าวมาข้างต้น” นพ.สุวรรณชัย กล่าว

ทั้งนี้ จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคไข้กาฬหลังแอ่น ของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เมื่อปี 2553 พบผู้ป่วย 28 ราย จาก 17 จังหวัด เสียชีวิต 6 ราย ส่วนในปี 2554 (ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-29 พฤษภาคม 2554) พบผู้ป่วย 12 ราย จาก 10 จังหวัด เสียชีวิตแล้ว 1 ราย จากจังหวัดปัตตานี จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต อัตราป่วย 0.30 ต่อประชากรแสนคน จังหวัดชลบุรี อัตราป่วย 0.23 ต่อประชากรแสนคน จังหวัดอุตรดิตถ์ อัตราป่วย 0.22 ต่อประชากรแสนคน จังหวัดระยอง อัตราป่วย 0.16 ต่อประชากรแสนคน และจังหวัดปัตตานี อัตราป่วย 0.15 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ
กำลังโหลดความคิดเห็น