“สธ.-ก.กลาโหม-สปสช.” จัดบริการผ่าตัดตาต้อกระจกใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ หวั่นเหตุการณ์ไม่สงบ ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงบริการยาก งัดนโยบายเชิงรุก ระดมหมอลงพื้นที่ ตั้งเป้า 3 ปี ประชาชนเข้าถึงบริการเกือบ 1 หมื่นราย คาดใช้งบราว 98 ล้านบาท ส่วนกลาโหมช่วยคุ้มครองความปลอดภัย
วันนี้ (12 พ.ค.) นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า โรคตาต้อกระจกเป็นโรคที่มีความสำคัญที่คุกคามต่อคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากและเป็นสาเหตุให้เกิดภาวะตาบอดในอัตราสูงที่สุด ที่ผ่านมา สปสช.ได้สนับสนุนการเข้าถึงบริการด้านการผ่าตัดต้อกระจกของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แต่จากสถานการณ์ความไม่มั่นคงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส ได้ส่งผลกระทบต่อการจัดบริการผ่าตัดต้อกระจกให้แก่ผู้ป่วย ทำให้การเข้าถึงบริการของผู้ป่วยอยู่ในอัตราที่ต่ำกว่าประชาชนในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ดังนั้น ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย บริษัททาสของแผ่นดินจำกัด และ สปสช.ได้ร่วมกันในการส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ป่วยโรคต้อกระจกที่มีสิทธิ์ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้รับบริการผ่าตัดต้อกระจกและเปลี่ยนเลนส์แก้วตาเทียมได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ภายใต้โครงการรณรงค์ผ่าตัดต้อกระจกในพื้นที่พิเศษ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตั้งเป้า 9,999 ราย ภายใน 3 ปี คาดว่าจะใช้งบประมาณ 98 ล้านบาท ประกอบด้วยค่าบริการผ่าตัดข้างละ 7,000 บาท และค่าเลนส์แก้วตาเทียม 2,800 บาท
นพ.ประทีปกล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ ก.กลาโหมจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการจัดบริการผ่าตัดในพื้นที่ตลอดจนการดูแลความปลอดภัยของคณะแพทย์และเจ้าหน้าที่ และประชาชนที่เดินทางมาใช้บริการในโครงการผ่าตัดตาต้อกระจก ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สนับสนุนงบประมาณการชดเชยตามอัตราที่กำหนดทั้งการผ่าตัดเชิงรุกออกหน่วยในพื้นที่และการผ่าตัดตั้งรับใน รพ. และรพ.สามารถแจ้งให้ สปสช.แยกจ่ายค่าภาระงานที่เพิ่มขึ้นในอัตรา 1,200 บาทต่อการผ่าตัดตาต้อกระจกหนึ่งข้างออกจากงบเหมาจ่ายผ่าตัดต้อกระจกได้ ซึ่งวิธีการจ่ายเงินจะจ่ายชดเชยเป็นกรณีพิเศษจากระบบปกติ คือ จ่ายล่วงหน้าให้ รพ.ไปก่อน จากเดิมที่ผ่าตัดแล้วมาเบิกจ่าย โดยงวดที่ 1 จ่ายล่วงหน้า 3 เดือน ตามรายเดือนเฉลี่ยกำหนด และงวดที่ 2 จ่ายล่วงหน้าตามข้อมูลที่ผ่าตัดใน 3 เดือนแรก เพื่อให้ผู้ป่วยในพื้นที่ความไม่สงบเข้าถึงบริการมากขึ้น
“ในปี 2554 สปสช.ทำโครงการเชิงรุก คือ การตรวจคัดกรองผู้ป่วยตาต้อกระจกเพื่อเข้ารับการผ่าตัด โดยจับมือกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และรพ. ให้บริการตรวจคัดกรองผู้ป่วยตาต้อกระจก ซึ่งเป็นการค้นหาผู้ป่วยตาต้อกระจก เช่น การออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่เข้าไปในชุมชนที่ห่างไกล เพื่อตรวจคัดกรอง โดยได้ตั้งเป้าหมายประชาชนในที่มีสิทธิบัตรทองที่ต้องเร่งการกวาดล้างผู้ป่วยตาต้อกระจกรายเก่าให้หมดไป ซึ่งจะทำให้ระบบสาธารณสุขไทยดีขึ้น เมื่อรายเก่าไม่มีแล้ว รายใหม่ที่เข้ามา รพ.ก็จะรักษาได้ทันที ไม่ต้องรอคิวให้เกิดผู้ป่วยสะสม” นพ.ประทีปกล่าว
รองเลขาธิการ สปสช.กล่าวต่อว่า สำหรับเป้าหมายระดับประเทศ ในการผ่าตัดผู้ป่วยตาต้อกระจกนั้น สปสช.ตั้งเป้าไว้ว่าจะดำเนินการให้ได้ 80,000 ดวงตา ใช้งบประมาณ 640 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยตาต้อกระจกที่ตกค้างได้รับการผ่าตัด มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีผู้สูงอายุต้องเผชิญปัญหาโรคตาต้อกระจกนับวันยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นในรอบ 15 ปี ที่ผ่านมาเพราะมีประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ขณะที่มีผู้ป่วยสะสมรอรับการผ่าตัดกว่า 100,000 คน ซึ่งหากยังปล่อยให้สภาวะดำเนินไปเช่นนี้ จะส่งผลให้ตัวเลขผู้ป่วยสะสมทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และสร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้สูงอายุและครอบครัว