นายกฯ ย้ำยุบสภาไม่กระทบ “ปฏิรูปการศึกษา” พร้อมผลักงบประมาณ 710 ล้านเข้า ครม. 3 พ.ค.นี้ ชูโครงการ “ครูสอนดี” จะสำเร็จ “ท้องถิ่น” ต้องเข้มแข็ง ด้านผลสำรวจเอแบคโพลล์ระบุครูสอนดีเด็กต้องไม่เพียงเป็นครูที่สอนดี แต่ต้องมีจิตวิญญาณความเป็นครู ที่สำคัญคือให้ความเท่าเทียมกับเด็กทุกคนไม่เลือกชนชั้น “มาร์ค” ยาหอมหลังตรวจเยี่ยม 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยัน ครม.นัดสุดท้ายเตรียมอนุมัติ 18 ล.สร้างบ่อบาดาล
วันนี้ (29 เม.ย.) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดการประชุม “จังหวัดและชุมชนท้องถิ่นจะปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาได้อย่างไร” เพื่อปฏิรูปประเทศไทยด้านการศึกษา โดยมีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กล่าวย้ำก่อนยุบสภาในวันที่ 6 พ.ค.นี้ว่า ถึงแม้จะมีการยุบสภาการปฏิรูปการศึกษาก็จะต้องเดินหน้าต่อไป ตนอยากจะขอเน้นย้ำว่าการปฏิรูปการศึกษาหัวใจสำคัญก็คือคุณภาพคน ซึ่งเรื่องนี้ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากประชาชนในพื้นที่และชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรปกครองท้องถิ่นถือว่ามีความสำคัญมาก
“เมื่อสักครู่ในช่วงที่รายงาน คณะทำงานได้สะท้อนความกังวลว่าเมื่อยุบสภาและมีการเลือกตั้ง การดำเนินงานในโครงการนี้จะมีอุปสรรคหรือไม่ เรื่องแรกคือเรื่องงบประมาณ 710 ล้านที่จะเข้าคณะรัฐมนตรีเพื่อรออนุมติในวันที 3 พ.ค.นี้ ซึ่งมีลักษณะระบบยืมเงินจากกระทรวงการคลังเหมือนครั้ง สสส. ซึ่ง สสค.จะใช้คืนเมื่อมีกฎหมายรองรับการจัดตั้งเป็นพระราชบัญญัติต่อไป ส่วนจะมั่นใจได้อย่างไรว่ารัฐบาลใหม่จะหยิบยกมาพิจารณาหรือไม่ ผมอยากให้คิดง่ายๆ ว่าถ้าเขาไม่ทำต่อรัฐก็ไม่ได้เงินคืน ใครที่มาเป็นรัฐบาล แม้ไม่เข้าใจงานที่พวกเราทำอยู่ แต่กลไกของพวกเราก็ทำให้โครงการเหล่านี้เดินหน้าไปได้ ผมเชื่อว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งทุกท่านจะเห็นปัญหาเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด หากทุกท่านขับเคลื่อนเรื่องนี้และส่งเสียงดังๆ ไม่มีพรรคการเมืองไหนหรอกครับที่จะปฏิเสธงานที่สำคัญต่อสังคมและมีความหมายต่อประเทศชาติ” นายอภิสิทธิ์กล่าว
“วันนี้เราจะคืนครูดีให้เด็กและเยาวชนเพื่อนำสู่การเสริมสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพ ซึ่งโครงการนี้จะสำเร็จหรือไม่ คำตอบอยู่ที่ท้องถิ่น ดังนั้น กลไกดำเนินการจึงต้องมีคณะกรรมการในระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น โดยผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นที่ปรึกษา แต่ในการขับเคลื่อนจะอยู่ที่ท้องถิ่นคือ หัวใจของการทำงานร่วมกัน โดยจะประสานเชื่อมโยงกับเครือข่ายต่างๆเพื่อให้เกิดเครือข่ายครูสอนดิ ซึ่งในปี 2554 จะเกิดครูสอนดีขึ้น 20,000 คน หรือเฉลี่ยตำบลละ 2-3 คน โดยจะมีการมอบรางวัลให้ครูสอนดีรายละ 10,000 บาทในช่วงปลายปีนี้ และมอบรางวัลทุนครูสอนดี 600 ทุนให้ขยายผลการทำงานในระยะ 3 ปี งานนี้เราได้หมายตาไว้แล้ว 15 จังหวัดและบางจังหวัดมีความพร้อมของท้องถิ่นมากเราก็จะกำหนดให้เป็นพื้นที่ปลอดเด็กที่ตกหล่นจากการศึกษา”
นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รองประธานกรรมการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน คนที่ 2 กล่าวว่า จากแผนปฏิบัติการปฏิรูปประเทศไทยด้านการศึกษา เพื่ออนาคตคนไทยที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2554 โดยมอบหมายให้ สสค.ดำเนินการใน 2 เรื่องที่สำคัญ คือ 1.การยกระดับคุณภาพการเรียนการสอน ผ่านโครงการสังคมไทยร่วมกันคืนครูดีให้ศิษย์ เชิดชู ยกย่อง “ครูสอนดี” 2.การสร้างโอกาส เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ในโครงการสร้างโอกาสทางการศึกษาและพัฒนาทักษะอาชีพให้เด็ก เยาวชนด้อยโอกาสให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน รวมถึงกลุ่มประชากรที่ต้องการพัฒนาศักยภาพ จำนวนรวมทั้งสิ้น 13.8 ล้านคน การปฏิรูปการเรียนรู้ในครั้งนี้ จึงเกิดกลไกสำคัญรูปแบบใหม่ขึ้น 2 ระดับ คือ คณะกรรมการเพื่อการคัดเลือกครูสอนดีและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในระดับจังหวัด และระดับท้องถิ่น ประกอบด้วย 5 ภาคส่วน คือ ภาคท้องถิ่น ภาคเอกชน ภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ มาทำงานร่วมกันด้านการศึกษา โดยผู้ว่าราชการจังหวัดได้ดำเนินการแต่งตั้งกลไกทั้ง 2 ระดับขึ้นแล้ว
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่าถึงผลการสำรวจครั้งนี้ในหัวข้อเรื่อง “ครูแบบไหนได้ใจเด็ก” ตัวอย่างจากเด็กและเยาวชนที่มีอายุ 7-20 ปี ใน 5 หัวเมืองใหญ่ ประกอบด้วย กทม. เชียงใหม่ ขอนแก่น ชลบุรี และสงขลา รวมทั้งสิ้น 3,284 ตัวอย่าง สำคัญประเด็นที่น่าสนใจคือ เด็กที่รู้สึกว่าตนเองมีฐานะปานกลางจนถึงยากจน เป็นกลุ่มที่รู้สึกว่าได้พบคุณลักษณะของคุณครูที่พึงประสงค์ “ด้อยกว่า” ในทุกตัวชี้วัด เมื่อเทียบกับกลุ่มเด็กนักเรียนที่รู้สึกว่าตนเองเป็นคนร่ำรวย โดยเฉพาะเรื่อง “พูดจาดี ไม่โมโหง่าย” กลุ่มเด็กที่คิดว่าตนเองร่ำรวยได้พบครูที่พูดจาดีไม่โมโหง่ายมีค่าเฉลี่ยสูงถึง 7.98 คะแนน ขณะที่กลุ่มเด็กฐานะปานกลางและยากจน พบค่าเฉลี่ยที่ต่ำกว่าคือ 7.37 เท่านั้น ทั้งนี้ จากการสอบถามนักเรียนพบว่า ส่วนใหญ่ 91% อยากให้มีครูสอนดีเกิดขึ้น โดยร้อยละ 70.7 อยากให้ครูในสถานศึกษาของตนเองทั้งหมดเป็นครูสอนดี ร้อยละ 20.9 อยากให้มีครูสอนดีเป็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 6.1 อยากให้มีบ้าง ร้อยละ 1.8 อยากให้มีก็ได้ไม่มีก็ได้ และร้อยละ 0.5 ไม่อยากให้มีครูสอนดีเลย ขณะเดียวกัน เมื่อให้ตัวอย่างจัดอันดับผลที่เกิดมากที่สุดจากการที่มีครูสอนดี พบว่าอันดับแรกคือ “ช่วยให้เด็กมีวิชาความรู้” (ร้อยละ 32.1) รองลงมาคือช่วยให้เด็กมีความสุขในการเรียน (ร้อยละ 13.0) และช่วยให้เด็กได้คะแนนสอบสูงๆ เกรดดีๆ (ร้อยละ 11.8) ตามลำดับ
ในวันเดียวกัน ภายหลังนายอภิสิทธิ์กลับจากการเดินทางไปตรวจราชการที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อเปิดถนนทางหลวงหมายเลข 4066 สายตะโล๊ะหะลอ บ้านปาลอบาเต๊ะ และเป็นประธานมอบบ้านตามโครงการแก้ไขปัญหาความเดือนร้อนที่อยู่อาศัย
ทั้งนี้ ถนนทางหลวงหมายเลข 4066 ซึ่งเป็นเส้นทางสายหลักที่เชื่อมโยงพื้นที่เส้นทางการเดินทางระหว่าง จ.ยะลา และนราธิวาส เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน หลังจากที่โครงการดังกล่าวได้หยุดชะงักไปนานเนื่องจากปัญหาความไม่สงบ กระทั่งเจ้าหน้าที่ทหารช่างได้เข้ามาดำเนินการต่อจนแล้วเสร็จทำให้ประชาชนในพื้นที่สามารถสัญจรได้สะดวกและปลอดภัยยิ่งขึ้นดำเนินการก่อสร้างต่อตั้งแต่ 1 เม.ย. 2553 ครบกำหนดแล้วเสร็จในวันที่ 31 มี.ค. 2554 รวมระยะเวลาที่ใช้ในการก่อสร้างทั้งสิ้น 8 ปี
ทั้งนี้ รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 3 พ.ค.นี้ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายอย่างเป็นทางการของรัฐบาลชุดนี้ จะมีการเสนอจัดทำโครงการแก้ไขปัญหาความการคลาดแคลนน้ำในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ วงเงิน 18,005,000 บาท ให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยจะใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น