สพฐ.สนองนโยบาย “วรวัจน์” ประเดิมทำแผนเตรียมยกร่างหลักสูตรเกษตร ตามยุทธศาสตร์ 55 “วรวัจน์” ชี้ปีงบ 56 พื้นที่ฯจะได้รับจัดสรรเงินตามศักยภาพของพื้นที่
วันนี้ (25 ธ.ค.) ที่โรงแรมแอมบาสซาเดอร์ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวระหว่างเป็นประธานและบรรยายพิเศษ หัวข้อ “นโยบายการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานเข้าสู่ประชาคมอาเซียน” ในการประชุมสัมมนาผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ทั่วประเทศ มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ตามที่มีโอกาสลงพื้นที่ในจังหวัดต่างๆ พบว่า ความจริงแล้วกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นหน่วยงานที่มีศักยภาพสูง แต่ที่ผ่านมาขาดการนำแผน “ยุทธศาตร์” มาเป็นแนวทางการพัฒนา ขณะที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ศธ.นั้นจะปรับปรุงพัฒนาเพียงภายในไม่ได้แต่เราต้องคำนึงถึงปัจจัยภายนอกซึ่งหมายถึงประเทศต่างๆ ที่เป็นคู่ค้ากว่า 200 ประเทศ ดังนั้นก่อนที่เราจะก้าวสู่ประชาคมอาเซียน 2558 นั้นในเวลานี้จึงจำเป็นต้องเตรียมพร้อม และตนได้วางยุทธศาตร์ 2555 (ปี 2555-2556) ที่เน้น 5 ศักยภาพของพื้นที่ 5 กลุ่มอาชีพใหม่ และ 5 ภูมิภาคหลักของโลกเป็นแนวทางขับเคลื่อน
อย่างไรก็ตาม ในส่วนสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) นั้นต้องจัดทำหลักสูตรมัธยมเชิงปฏิบัติการขึ้น โดยยึด 5 กลุ่มอาชีพ ได้แก่ เกษตรกรรม, อุตสาหกรรม, การบริการจัดการ ความคิดสร้างสรรค์ และวิชาการและวิชา โดยครั้งนี้ขอให้เริ่มต้นวางแผนการจัดทำหลักสูตรในกลุ่มเกษตรกรรม ที่แบ่งเป็น สาขาพืช สัตว์ ประมง และวรรรณศาสตร์ ซึ่ง สพฐ.ต้องทำตารางการดำเนินการออกมาและมอบให้เขตพื้นที่ฯ และโรงเรียนจะต้องคิดวิธีการร่วมกับมหาวิทยาลัยและนักวิจัยที่มีหน้าที่ดูแล โดยในปี 2555 ตนอยากเห็นว่าโรงเรียนมีความพร้อมในการถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่ชุมชน
“การทำงานของ ศธ.ต่อไปจะเน้นการกระจายอำนาจการตัดสินใจไปให้แต่ละเขตพื้นที่ฯ ดำเนินการตามศักยภาพ และการทำงานก็ต้องนำหลักวิชาการ หลักความรู้เข้ามาเป็นตัวจับ นั่นหมายถึงว่าระบบการศึกษาทั้งระบบต้องมีการปรับตัว นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2556 นั้นการจัดสรรงบประมาณไปสู่เขตพื้นที่ และโรงเรียนแต่ละแห่งจะไม่เท่ากัน แต่จะได้มากน้อยขึ้นอยู่กับศักยภาพการพัฒนาของเขตพื้นที่ฯ นั้นๆ ใครมีแผนพัฒนามาก่อนก็ได้รับพิจารณาก่อน เราจะไม่ฝากความหวังให้กับหน่วยงานอื่นๆ เพราะเราสามารถทำด้วยตนเอง”นายวรวัจน์ กล่าว
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาธิการ กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้ สพฐ. ได้รวบรวมแผนการวิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่ของ สพท.ตามยุทธศาสตร์ 2555 จากนี้จะเข้าสู่กระบวนการพัฒนาหลักสูตร โดยวันนี้ได้เชิญตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) มหาวิทยาลัย ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเกษตรกรรมมาร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับ ผอ.สพท./สพฐ. วางแผนเพื่อยกร่างหลักสูตรดังกล่าวเป็นหลักสูตรแรก