xs
xsm
sm
md
lg

“วรวัจน์” ค้านเปิดเทอมตรงอาเซียน ชี้ไม่เหมาะบ้านเรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“วรวัจน์” ค้านเลื่อนเปิดเทอมตรงอาเซียน เหตุจะทำให้การเปิดเทอมไปตรงช่วงหน้าร้อน และช่วงน้ำหลาก ทั้งที่ไทยกำหนดเปิดเรียนให้พ้นช่วงเวลานั้น เพื่อไม่ให้มีปัญหา ติง ทปอ.จะมีมติอะไรต้องควรถามความคิดเห็น

นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงกรณีที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มีมติให้มหาวิทยาลัยที่เป็นสมาชิก ทปอ.ทั้ง 27 แห่ง ไปหารือกับประชาคมในมหาวิทยาลัย เพื่อหาคำตอบเกี่ยวกับแนวคิดที่จะเลื่อนปิดภาคเรียนเป็นเดือนกันยายน จากปัจจุบันที่จะเปิดภาคเรียนในเดือนมิถุนายน เพื่อให้ตรงกับการเปิดภาคเรียนของประเทศสากล ว่า การตัดสินใจเรื่องนี้กระทบต่อระบบการเรียนการสอนของประเทศซึ่งส่งผลโดยตรงต่อคนส่วนใหญ่ ตนมีข้อสังเกตว่า เดิมการเปิดภาคเรียนนั้นถูกกำหนดขึ้นให้พ้นช่วงฤดูร้อนกับฤดูน้ำหลาก ดังนั้น การเปิดภาคเรียนที่ 1 จึงเป็นช่วงเดือนมิถุนายน-ตุลาคม เพื่อหลบหน้าน้ำ ซึ่งดูได้จากสถานการณ์ที่เห็นอยู่ ณ ขณะนี้ คือ ช่วงนี้เป็นช่วงหน้าน้ำ นักเรียน นักศึกษาจะเดินทางมาเรียนลำบากและมีแนวโน้มว่า ลักษณะเช่นนี้จะเกิดเป็นประจำทุกปี หากปรับให้ไปเปิดภาคเรียนตามอาเซียนนั้นภาคเรียนที่ 1 จะเปิดในช่วงเดือนกันยายน-ธันวาคม จะเป็นช่วงหน้าน้ำพอดี ซึ่ง ทปอ.ต้องไปดูว่าจะกระทบกับการเรียนการสอนหรือไม่
ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เน็ต
เช่นเดียวกับภาคเรียนที่ 2 เดิมเปิดเรียนช่วงพฤศจิกายน-มีนาคม และไปหยุดในช่วงเมษายน ซึ่งเป็นช่วงหน้าร้อนพอดี หากเปิดตามอาเซียน ในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม ซึ่งคร่อมหน้าร้อนพอดีนักเรียนส่วนใหญ่ก็ไม่อยากมาเรียน อีกทั้งยังตรงกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นประเพณีที่สำคัญของบ้านเราคนก็ไม่อยากมาเรียน ดังนั้นก่อนจะมีมติอะไรออกไปน่าจะมีการศึกษาสำรวจความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ด้วย ว่าต้องการหรือไม่และช่วงเวลานั้นเหมาะสมกับวิถีชีวิตเราหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากมหาวิทยาลัยเลื่อนเปิดภาคเรียนออกไปก็จะส่งผลระบบการศึกษาทุกระดับต้องปรับตัวตามหมด

นายวรวัจน์ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีมหาวิทยาลัยที่เตรียมตัวปรับรูปแบบไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐนั้น ต้องพิจารณาให้รอบด้าน เพราะหากออกนอกระบบไปแล้วมหาวิทยาลัยต้องเลี้ยงดูตัวเอง และไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ดังนั้น จึงมีบางมหาวิทยาลัยไปเก็บค่าเทอมแพงๆ กับนักศึกษา ซึ่งต่อไปหากหากรัฐบาลเปิดให้นักศึกษากู้เงินจากกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) แล้ว เท่ากับว่า นักศึกษาจะเป็นผู้ถือเงินเอง และมีสิทธิตัดสินใจเลือกที่เรียน หากที่ใดเก็บแพงเขาก็ไม่เลือก จึงขอให้มหาวิทยาลัยที่เตรียมตัวออกนอกระบบคิดให้รอบคอบ เพราะตนอยากให้มหาวิทยาลัยพยายามพัฒนาความพร้อมเพื่อเข้าสู่การแข่งขันกับประเทศอาเซียนมากกว่า และหากมหาวิทยาลัยใดพัฒนาไปในทิศทางเดียวกับรัฐบาลก็จะสนับสนุนงบประมาณพิเศษให้
กำลังโหลดความคิดเห็น