มหา’ลัย โอดถูกตัดงบลงทุนอื้อ โดยเฉพาะที่ตั้งใหม่เจอผลกระทบต่อการเรียนการสอน วอน รมว.ศธ.ประสานสำนักงบฯ ตัดตามจำเป็น “วรวัจน์” รับปากดูแล ชี้ ที่ผ่านมา รมว.ศธ.ไม่มีโอกาสดูแลและกำหนดแผนงานร่วมมหา’ลัยเลยไม่รู้ความต้องการ เล็งตั้งคณะทำงานร่วมกัน ย้ำอนาคตมหา’ลัยใดทำงานพัฒนาแนวทางรัฐบาลจะดูแลงบให้พิเศษ
นาย วรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวระหว่างเปิดการประชุมสามัญที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศ (ทปอ.) ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เมื่อเร็วๆ นี้ ว่า ภารกิจในการกำกับดูแลงบประมาณถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาล แต่ที่ผ่านมา รมว.ศึกษาธิการ กลับไม่มีส่วนลงไปดูแลหรือกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัย ทำให้ไม่รู้ความต้องการ และทำให้การทำงานบางอย่างเกิดความซ้ำซ้อน ซึ่งจากการประชุมร่วมกันครั้งนี้ ศธ.จะไปทำแผนการพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัย และดูแลเรื่องการจัดสรรงบ จะไม่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสำนักงบประมาณเหมือนที่ผ่าน โดยจะตั้งคณะทำงานเพื่อประสานระหว่างมหาวิทยาลัยกับ ศธ.เพื่อให้เกิดการบูรณาการร่วมกัน
“ต่อไปมหาวิทยาลัยใดที่พัฒนาตามแนวทางการทำงานร่วมกับรัฐบาล ผมจะดูแลจัดสรรงบประมาณพิเศษให้ แต่ถ้ามหาวิทยาลัยใดยังไม่มีการดำเนินงานในลักษณะที่จะขับเคลื่อนการพัฒนา ของประเทศตามแนวทางที่รัฐบาลกำหนดได้ ผมก็จะปล่อย จะไม่ลงไปแตะและจะไม่มีงบประมาณพิเศษให้” นายวรวัจน์ กล่าวและว่า ทั้งนี้ ในอนาคตทิศทางการเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐ อาจไม่ดี เพราะงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดและในอนาคตการปล่อยกู้กองทุนเงินให้กู้ยืม ที่ผูกพันกับรายได้ในอนาคต (กรอ.) สิทธิในการถือเงินและอำนาจการตัดสินใจเลือกสถานศึกษาจะขึ้นอยู่กับนักศึกษา ดังนั้น หากมหาวิทยาลัยใดมีค่าเทอมแพง เขาก็อาจไม่เลือกเรียน ต่อไปมหาวิทยาลัยในกำกับจะต้องปรับตัว
นายประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) ในฐานะประธาน ทปอ.กล่าวว่า ยอมรับว่ามหาวิทยาลัยได้รับผลกระทบจากการถูกตัดงบประมาณก่อสร้างอาคาร และงบประมาณจัดซื้อครุภัณฑ์ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเกิดใหม่ ที่อาจจะมีผลกระทบกับการเรียนการสอน ดังนั้น อยากให้ รมว.ศึกษาธิการ ประสานไปยังสำนักงบประมาณให้พิจารณาอนุมัติงบประมาณตามความจำเป็น โดย ทปอ.จะตั้งคณะทำงานร่วมกับ ศธ.ต่อไป
ด้าน รศ.ดร.สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม กล่าวว่า ม.นครพนม ถือเป็นมหาวิทยาลัยเกิดใหม่และได้รับการอุมัติให้สร้างอาคารเรียน ใหม่จำนวน 3 หลัง แต่ที่ผ่านมาถูกตัดงบประมาณเหลือเพียง 1 หลัง และตัดงบประมาณจัดซื้อครุภัณฑ์บางส่วนลง ซึ่งบางรายการที่ต้องจัดซื้อให้แต่ละสาขาวิชามีความจำเป็นสำหรับมหาวิทยาลัย เกิดใหม่ เช่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานตามที่สภาวิชาชีพกำหนด ดังนั้นจึงจะส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนอย่างแน่นอน ทั้งนี้ ในภาพรวมปี 2555 ม.นครพนม ได้รับงบ จำนวน 530 ล้านบาท แต่ล่าสุดถูกปรับลดเหลือเพียง 450 ล้านบาท ซึ่งตนเข้าใจว่าทุกมหาวิทยาลัยก็ถูกปรับลดเช่นเดียวกัน