xs
xsm
sm
md
lg

สกอ.ชะลอประกาศ หลักสูตรเกี่ยวข้ององค์กรวิชาชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.กำจร ตติยกวี
สกอ.ชะลอออกประกาศ หลักสูตรเกี่ยวข้ององค์กรวิชาชีพ หลังตั้งเวทีพิจารณ์เห็นลงตัว เล็งทำข้อตกลงร่วมสภาวิชาชีพเป็นรายสาขาแทน วางเงื่อนไขนศ.ต้องมีสิทธิรับรู้ข้อมูลสาขาที่เลือกเรียน

รศ.นพ.กำจร ตติยกวี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (รองเลขาธิการ กกอ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้จัดการสัมมนาพิจารณ์ (ร่าง) ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เรื่อง หลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติการพิจารณาหลักสูตรการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับองค์กร วิชาชีพ พ.ศ.. เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีผู้แทนจาก 13 สภาวิชาชีพ และสาขาที่กำลังจะยกฐานะขึ้นเป็นสภาวิชาชีพ เช่น สาขาวิทยาศาสตร์ เป็นต้น เข้าร่วมรับฟัง กว่า 500 คน โดยได้ข้อสรุปร่วมกันว่า จะยังไม่ออกเป็นประกาศ ศธ.ในเรื่องดังกล่าว เพราะแต่ละสภาวิชาชีพมีความแตกต่างกัน แต่จะทำข้อตกลงร่วมกันของแต่ละสาขาวิชาแทน ซึ่งเร็วๆ นี้ ตนจะนัดหารือร่วมกับทั้ง 13 สภาวิชาชีพเพื่อจัดทำข้อตกลงร่วมกันอีกครั้ง

ทั้งนี้ การทำข้อตกลงของแต่ละสาขาวิชานั้นมีเงื่อนไข ว่า จะต้องไม่ทำให้นักศึกษาเดือดร้อน และมีสิทธิรับรู้ข้อมูลต่างๆ ในสาขาที่ตนเลือกสมัครก่อนเข้าเรียน เช่น กรณีที่สภาวิชาชีพรับรองเฉพาะหลักสูตรไปก่อน และจะไปรับรองสถาบันที่หลัง ตรงนี้อาจจะต้องประกาศให้นักศึกษารู้ล่วงหน้าก่อนเข้าเรียนว่าเรียนไปแล้ว อาจจะไม่สามารถขอใบประกอบวิชาชีพได้ หากสถาบันไม่ได้รับการรับรองภายหลัง เป็นต้น

   
“หากสามารถตกลงกันแนวทางนี้ได้ก็คงไม่จำเป็นต้องออกประกาศ ศธ.เพื่อบังคับใช้ในภาพรวม แต่หากตกลงกันไม่ได้ก็คงต้องเดินหน้าออกประกาศดังกล่าวต่อไป เพราะสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ คือ สภาวิชาชีพและสถาบันอุดมศึกษา ต่างคนต่างเกี่ยงไม่ยอมที่จะประกาศให้นักศึกษาได้รับรู้ข้อมูลต่างๆ ก่อนเลือกเรียน เนื่องจากตัวสถาบันการศึกษาเองก็กลัวว่าหากประกาศไปแล้วจะไม่มีคนมาเรียน ขณะนี้สภาวิชาชีพเองก็ควรจะประกาศให้นักศึกษาได้รับทราบว่ายังไม่รับรอง สถาบัน ไม่ใช่ปล่อยเวลาถึง 3 ปี แล้วมาบอกว่าไม่รับรอง ทำให้นักศึกษาที่เรียนไปแล้วได้รับความเดือดร้อน เรื่องนี้ถือเป็นหน้าที่ของ สกอ.ที่จะต้องเข้าไปกำกับดูแล” นพ.กำจร กล่าว

               

 รศ.นพ.กำจร กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ประเด็นสำคัญที่ตนจะหารือร่วมกับสภาวิชาชีพ คือ ที่ผ่านมาผู้ที่จบจากต่างประเทศ เช่น แพทยศาสตร์  สามารถสอบเพื่อขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพได้ทันที ทั้งที่ผู้ที่จบจากต่างประเทศ เราไม่สามารถไปตรวจสอบหรือให้การรับรองเรื่องคุณภาพอะไรได้เลย ทั้งหลักสูตรและตัวสถาบัน ขณะที่ผู้ที่จบจากสถาบันการศึกษาในประเทศไทยไม่สามารถทำได้ หากสภาวิชาชีพไม่รับรองทั้งหลักสูตรและสถาบัน ทั้งที่หลักสูตรที่จะเปิดสอนจะต้องได้รับการรับรองจาก สกอ.อยู่แล้ว ดังนั้น จึงถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะคนที่จบจากสถาบันการศึกษาในประเทศไทยก็ควรจะมีสิทธิสอบใบอนุญาตประกอบ วิชาชีพได้เช่นกันหากเขามีความรู้ความสามารถเพียงพอ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องทำความเข้าใจร่วมกัน และหากทางสภาวิชาชีพไม่เห็นด้วย ก็อาจจะต้องไปปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น