xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการเตรียมล่า 1,000 รายชื่อยกเลิกกรอบทีคิวเอฟ หวั่นบั่นทอนระบบอุดมศึกษาไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการด้านสังคมศาสตร์ เตรียมรวม 1,000 รายชื่อขอยกเลิกกรอบทีคิวเอฟ สกอ.พร้อมส่งตัวแทนเข้าพบ “วรวัจน์” เพื่อมอบแถลงการณ์และรายชื่อดังกล่าว 9 ก.ย.นี้ แจงข้อจำกัดทีคิวเอฟ หวั่นบั่นทอนการพัฒนาระบบการอุดมศึกษาไทย

รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ตามที่คณะทำงานได้จัดการประชุมวิชาการนานาชาติเรื่อง ความเป็นเลิศของอุดมศึกษาไทยกับการแข่งขันการจัดอันดับมหาวิทยาลัยตามเกณฑ์มาตรฐานนานาชาติ :สิทธิ อำนาจ และความรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งประกอบไปด้วยคณาจารย์ นักวิชาการ โดยเฉพาะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ของประเทศไทย ได้จัดประชุมระดมความคิดเห็นไปเมื่อเร็ว ๆ นี้และมีความเห็นร่วมกันว่าควรให้ยกเลิกกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา หรือทีคิวเอฟ นั้นโดยจะเสนอเรื่องดังกล่าวต่อ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(รมว.ศธ.)
รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้คณะทำงานได้ทำจดหมายเพื่อขอเข้าพบ นายวรวัจน์ เพื่อเสนอคำแถลงการณ์ ซึ่งมีเนื้อหาสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1.การให้ยกเลิกกรอบทีคิวเอฟ ทั้งนี้ ไม่ได้ปฎิเสธ เรื่องการพัฒนาคุณภาพและความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ปฎิเสธอำนาจครอบงำจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) โดยใช้ ทีคิวเอฟ 2.สกอ.ควรปรับบทบาทการบริหารรวมศูนย์ และการควบคุมบังคับ บทลงโทษ ให้กลับมาเป็นการกระจายอำนาจ และสนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษา สมาคมวิชาการต่างๆ ได้มีอิสระ มีส่วนในการพัฒนาคุณภาพ โดยเฉพาะต้องส่งเสริมให้กับการพัฒนาคุณภาพทางเลือกแบบอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่มีกรอบแบบเดียว และ 3.ขอให้มีการยกเลิก "ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา หรือ ทีคิวเอฟ" เพราะซ้ำซ้อนกับการประเมินของ สมศ.และการประกันคุณภาพภายในที่มีอยู่แล้ว ทั้งนี้ จะรวบรวมรายชื่อของคณาจารย์ที่ต้องการให้มีการปฎิรูปอุดมศึกษาไทยยกเลิกทีคิวเอฟ 1,000 รายชื่อเพื่อยื่นพร้อมคำแถลงการณ์ซึ่งคาดว่าจะสามารถเข้าพบในวันศุกร์ที่ 9 ก.ย.2554 นี้ หรือภายในสัปดาห์หน้า

ด้านดร.อรัญญา ศิริผล อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการศึกษากรอบ ทีคิวเอฟ ของประเทศไทย พบว่ามีข้อจำกัด ดังนี้ 1. เกิดความลักลั่นขัดแย้งในเป้าหมายของทีคิวเอฟ ที่มุ่งการประกันคุณภาพ ควบคุมคนทำงาน คุณภาพการศึกษามากกว่าการเทียบเคียงคุณวุฒิหรือพัฒนาระบบการศึกษาแบบสากล 2.การทำความเข้าใจปรัชญาและธรรมชาติในการเรียนการสอนของบางวิชามีปัญหา เพราะการกำหนดกรอบทีคิวเอฟ ยังมองการศึกษาบนพื้นฐานการตลาด ลดทอนปรัชญา ไม่เห็นคุณค่าต่อศาสตร์/สาระที่มุ่งให้ผลิตบัณฑิตเพื่อตอบสนองคุณประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม 3.การกำหนดมาตรฐานผลการเรียนรู้ ที่นำเอาความเฉพาะเจาะจงของบางสาขามาเป็นหลักใช้บังคับกับทุกสาขา 4.ขั้นตอนการดำเนินงานเพื่อการประเมินและการประกันคุณภาพการศึกษา ที่เน้นการกรอกเอกสาร ประเมินจากการบันทึกการสอนมากกว่าการเรียนรู้ และ5. การประกันคุณภาพหลักสูตร

ข้อจำกัดต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นปัญหาในอนาคตและอาจกลายเป็นดาบสองคม ที่บั่นทอนการพัฒนาระบบการอุดมศึกษาของไทยเอง เพราะตอนนี้สภาวะอุดมศึกษากำลังถูกกัดกร่อนด้วยบริบทสถานการณ์การแปลงการศึกษาให้เป็นสินค้าตลาดการศึกษาเพื่อการค้า โดยนำเอาระบบการประเมินคุณภาพการศึกษามาใช้ เพื่อทำให้ระบบการศึกษาของไทยแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในตลาดเสรีได้ โดยไม่ได้ตระหนักถึงการสร้างมหาวิทยาลัยที่ต้องทำหน้าที่เตรียมความพร้อมให้กับเยาวชนในการสร้างจิตสำนึกเพื่อส่วนรวม” ดร.อรัญญา กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น