วงเสวนาคุณภาพผู้เรียนกับนโยบายห้ามตกซ้ำชั้น มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ส่วนใหญ่ชี้ต้องแก้ปัญหาที่ระบบการศึกษา ระบบประเมิน ย้ำ ครูเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาผู้เรียน รวมถึงผู้ปกครอง ขณะที่ ผอ.ร.ร.เทศบาลวัดโพธิ์ ระบุนโยบายที่ส่งเสริมให้เด็กไปสืบค้นข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ทำให้ปัจจุบันเด็กหันไปสนใจเทคโนโลยี
ที่ห้องประชุมลำพอง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา จัดเสวนาเรื่อง คุณภาพผู้เรียนกับนโยบายห้ามเด็กตกซ้ำชั้น โดยมีรศ.ธงทอง จันทราศุ เลขาธิการสภาการศึกษา เป็นประธาน มีผู้บริหารสถานศึกษา เครือข่ายผู้ปกครอง เข้าร่วม 20 คน โดย นางอุษา สุปิยะพันธ ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลวัดโพธิ์ จ.ชลบุรี กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าการให้เด็กตกซ้ำชั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้อง ซึ่งที่โรงเรียนก็ยังมีการใช้วิธีการนี้อยู่โดยเฉพาะเด็กที่เรียนอ่อนมาก เพราะหากปล่อยให้ไปเรียนต่อในชั้นที่สูงขึ้นคุณภาพผู้เรียนก็แย่ แต่นี่เป็นเรื่องปลายเหตุ เพราะต้นเหตุมาจากการปรับเปลี่ยนในระดับนโยบายที่ห้ามไม่ให้เด็กตกซ้ำชั้น เพราะกลัวจะเสียชื่อ ห้ามไม่ให้สอนแบบท่องจำ ห้ามไม่ให้เขียนบนกระดาน แต่ให้เด็กไปสืบค้นจากคอมพิวเตอร์ ให้เด็กพึ่งพาเทคโนโลยี รัฐมนตรีคนใดเข้ามาก็ทำนโยบายและทุ่มงบประมาณ เพื่อสนับสนุนเทคโนโลยีลงสถานศึกษา จนกลายเป็นปัจจุบันเด็กไปมุ่งสนใจแต่เทคโนโลยีทั้งที่ได้จากโรงเรียนและเทคโนโลยีที่เด็กหามาเอง
นอกจากนี้ ครูก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญ ครูยุคใหม่ขาดความเข้าใจ ขาดจิตวิญญาณเวลาสอนนักเรียนก็สอนในวิธีแบบที่เรียนในมหาวิทยาลัย คือ การเลกเชอร์ ตามอาจารย์ที่สอน พอจบมาเป็นครูก็เอาวิธีการแบบนี้มาใช้กับการสอนนักเรียน และส่วนใหญ่ไม่ชอบที่จะเป็นอาจารย์ประจำชั้นเรียน ชอบจะเป็นอาจารย์ประจำวิชามากกว่าเพราะไม่ต้องการลงไปคอยติดตามดูแลเด็ก ในขณะที่ครูในสมัยก่อนที่เรียนในวิทยาลัยครูนั้นจะต้องเรียนทั้งด้านวิชาการ เรียนรู้เรื่องจิตวิทยา การแนะแนวที่เข้มงวดกว่าจะจบออกมาเป็นครูได้ทำให้ในอดีตครูจะมีความใกล้ชิดเด็กมากกว่า
ด้าน นางทัศนีย์ รุ่งเรืองวนิชกุล หัวหน้าฝ่ายวัดผล โรงเรียนมัธยมด่านสำโรง กล่าวว่า นับแต่มีประกาศกระทรวงศึกษาธิการเรื่องแนวปฏิบัติในการเรียนซ้ำชั้นตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ซึ่งลงนามโดย นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศธ.เมื่อ พ.ศ.2548 และปรับปรุงใหม่ให้สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ทำให้ที่ผ่านมาโรงเรียนหลายแห่งไม่ค่อยมีการซ้ำชั้นนักเรียน แต่ปีที่ผ่านมาทางโรงเรียนซ้ำชั้นนักเรียน ม.ต้น 80 คน เพราะผลการเรียนต่ำกว่า 1.00 ตามที่กำหนดบางรายได้เกรดเฉลี่ย 0 เพราะไม่มาเรียนและไม่สามารถตามตัวได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพบปัญหาว่าเด็กที่ต้องซ้ำชั้นไม่รู้สึกวิตกกังวล ขณะที่บางคนก็อายจนไม่มาเรียน ทั้งนี้ การแก้ปัญหาจะต้องไปดูระบบการวัดประเมินผลผู้เรียน รวมไปถึงการเพิ่มจำนวนครูที่จะมาช่วยติดตามดูแลนักเรียนเพราะปัจจุบันโรงเรียนขาดครูมาก
นางสาวยุภาพร เจือจินดา รองผู้อำนวยการกลุ่มบริหารงานวิชาการโรงเรียนสตรีนนทบุรี กล่าวว่า ตนคิดว่า การแก้ปัญหาคุณภาพผู้เรียนตกต่ำนั้น ต้องแก้ที่ครูไม่ใช่ไปกำหนดให้เด็กสอบตกต้องซ้ำชั้น เพราะปัจจุบันครูต้องทำงานหนักทั้งปฏิบัติการสอน และสนับสนุนงานของโรงเรียน ทำให้ไม่มีเวลาสอนเท่าที่ควร ถึงแม้นโยบายปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่ 2 จะมีการแบ่งหน้าที่ครูอย่างชัดเจนแล้ว ได้แก่ ครูปฏิบัติการสอน ครูสนับสนุนการสอน ก็ยังไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ เพราะอัตรากำลังครูขาดแคลนจากการผลิตที่ไม่ต่อเนื่อง ทำให้ไม่มีครูสนับสนุนการสอน อีกทั้งระบบการวัดผลและประเมินผลต้องมีคุณภาพด้วย ไม่ใช่นักเรียนสอบไม่ผ่านก็ให้สอบซ่อม และหากซ่อมไม่ผ่านก็ให้ส่งงาน จนเด็กผ่านไปได้แบบไม่มีความรู้ดังนั้น ตนไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการซ้ำชั้น
ขณะที่ น.ส.อนงค์ อ่ำรอด รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการโรงเรียนสายปัญญารังสิต กล่าวว่า อยากให้การซ้ำชั้นนั้น มีการพิจารณาอย่างรอบคอบโดยคณะกรรมการสถานศึกษา ดูเป็นรายๆ ไปไม่ใช่ซ้ำชั้น 100% พร้อมกันนี้ โรงเรียนต้องวางระบบช่วยเหลือนักเรียนอย่างเข้มแข็ง จัดทำตารางสอนเสริมหรือให้แก่นักเรียนเป็นรายบุคคลไม่ใช่ทำรวมกันเพราะเด็กบางคนไม่ได้ตกวิชาเดียว
ด้าน รศ.ธงทอง กล่าวภายหลังเสวนาว่า ภายหลังการเสวนาว่า การเสวนาครั้งนี้มีผู้เสนอแนวคิดหลายหลาก ซึ่งมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการปรับตกซ้ำชั้น โดยส่วนใหญ่เห็นว่าการแก้ปัญหาคุณภาพผู้เรียนตกต่ำ ต้องแก้ที่ระบบการศึกษา ไม่ใช่ปรับให้นักเรียนต้องซ้ำชั้น ทั้งนี้ ตนคิดว่า ปัจจัยที่จะแก้ปัญหาคุณภาพผู้เรียนตกต่ำ คือ ครูและผู้ปกครองที่ต้องร่วมมือกันทำงานพัฒนาเด็ก โดยครูจะต้องมีความพร้อมในการสอน ไม่มีภาระหน้าที่ที่หนักงานไป เพื่อจะได้มีเวลาสอน และผู้ปกครองก็ไม่ควรปล่อยปละละเลยบุตร อย่างไรก็ตาม ก็ต้องแก้ปัญหาโรงเรียนระดับประถมปล่อยนักเรียนไม่มีคุณภาพขึ้นมาระดับมัธยมด้วย เพื่อจะแก้ปัญหาของการศึกษาในภาพรวมต่อไป อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอในวงเสวนาครั้งนี้ ตนจะนำประเด็นต่างๆ ไปเป็นปัจจัยการกำหนดแผน และนโยบายเพื่อใช้เป็นแนวทางพัฒนาคุณภาพผู้เรียนต่อไป