xs
xsm
sm
md
lg

"อ.นบพิตำ" เปิดเส้นทางเข้าสู่พื้นที่ได้ทุกจุดแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นครศรีธรรมราช - เหตุการณ์อุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่มใน จ.นครศรีธรรมราช หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าให้ความช่วยเหลือจนสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย พร้อมเข้าพื้นที่กู้เส้นทางใน อ.นบพิตำ และมอบเครื่องอุปโภคบริโภคพระราชทานให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลาก

วันนี้ (6 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.นครศรีธรรมราช ว่า ความคืบหน้าในความพยามเข้าให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน จากเหตุการณ์น้ำป่า อุทกภัย และดินถล่ม ในหลายพื้นที่ของนครศรีธรรมราช เริ่มจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งล่าสุดสามารถเกิดเส้นทางได้แล้วทั้ง 7 จุดที่ถูกตัดขาด

พล.ต.ชรินทร์ อมรแก้ว เสนาธิการกองทัพภาคที่ 4 เปิดเผยว่า 21 ศูนย์บรรเทาสาธารณะภัยของกองทัพภาคที่ 4 ได้ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ภาพรวมขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายจนเกือบปกติแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม หน่วยทหารยังคงเข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องทุกภารกิจ ทั้งสนับสนุน อปท.ช่วยประชาชนในการขนย้ายสิ่งของ ช่วยในการซ่อมแซมฟื้นฟู โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.นบพิตำ ได้มีการบินสำรวจคลุมทั้งพื้นที่พบว่ามีจุดที่ถูกกระแสน้ำตัดสะพานและถนนขาดรวม 7 จุดด้วยกัน ทั้ง 7 จุดสามารถใช้เส้นทางเข้าสู่พื้นที่ลำเลียงความช่วยเหลือในด้านต่างๆและสามารถสัญจรได้แล้ว

“ในวันที่ 7 ม.ค.นี้ กำลังพลจากกองทัพภาคที่ 4 จะเข้าร่วมกับเทศบาลนครนครศรีธรรมราช ในการฟื้นฟูทำความสะอาดตัวเมืองในกิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งเดย์ร่วมกับทุกภาคส่วน ซึ่งหน่วยทหารทุกหน่วยที่เข้าให้การช่วยเหลือนั้นเราจะยึดหลักในการร่วมมือ รวดเร็ว และสมบูรณ์ งานที่ต้องมองไปข้างหน้าขณะนี้คือหลังจากที่น้ำป่าไหลหลากอย่างรุนแรง ผบ.ทบ.ได้มอบนโยบายให้หน่วยทหารร่วมกับทุกฝ่ายในการปลูกจิตสำนึกรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาทรัพยากรธรรมชาติที่ทรัพยากรป่าไม้ลดลงอย่างมาก ซึ่งต้องเร่งในการสร้างจิตสำนึกป้องกันก่อนที่จะเกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงหนักหน่วงกว่านี้ ส่วนการรับมือนั้นพบว่าประชาชนมีความตื่นตัวสูง เมื่อเกิดภัยขึ้นจะไม่สูญเสียชีวิตเหมือนเช่นอดีต” เสนาธิการ ทภ.4กล่าว

โดยอีกเส้นทางที่เจ้าหน้าที่กำลังเร่งกู้คือ ต.ฉลอง ต.เทพราช ตงเขาน้อย อ.สิชล ซึ่งมีสะพานที่ได้รับความเสียหายถูกกระแสน้ำกัดเซาะคอสะพานจนไม่สามารถใช้การได้กว่า 20 จุดซึ่งเป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างหมู่บ้าน-ชุมชน เจ้าหน้าที่กำลังเร่งซ่อมแซมโดยใช้หินคลุกและหินทิ้ง ซ่อมคอสะพานให้สามารรถใช้ได้ภายในวันนี้ทั้งหมด

ทน.นครศรีแห้งสนิทนายกเล็กเผยเร่งระบายน้ำ 24 ชม.จนน้ำลดเร็ว
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ระดมทีม สส.ปชป.ร่วมบิ๊กคลีนนิ่งเดย์

ผู้สื่อข่าวรายงานในพื้นที่เขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราชว่า ล่าสุดนั้นมีการระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้จนแห้งหมดเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์แล้ว ยังคงมีจุดที่ท่วมขังอยู่บ้างเช่นชุมชนนอกโคกใกล้เคียงกับสถานีรถไฟ ชุมนบ่อทรัพย์ ต.ในเมือง

ผศ.เชาวนวัศน์ เสนพงศ์ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่ามีการระดมเครื่องสูบน้ำเครื่องดันน้ำจำนวน 19 เครื่อง มาติดตั้งยังจุดสำคัญที่ต้องระบายน้ำให้รวดเร็ว ผลปรากฏว่าระดับน้ำแห้งเร็วระบายได้เร็วอย่างเหนือความคาดหมาย เพียงไม่ถึง 2-3 วันทุกอย่างกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ถือเป็นโชคดีอย่างหนึ่งคือน้ำทะเลไม่หนุน ทำให้การระบายน้ำเป็นไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้นไปอีก และในเช้าวันที่ 7 ม.ค. นี้ ทุกภาคส่วนทั้งทหาร ตำรวจ ภาคประชาชน จะร่วมกันทำความสะอาดในกิจกรรมบิ๊กคลีนนิ่งเดย์กันทั้งเมืองด้วย

ชาวเขาวัง อ.ร่อนพิบูลย์เฮ 3 ชาวบ้านอุทิศที่ดินเปิดเส้นทางใหม่
เร่งเก็บเกี่ยวขนส่งผลไม้ลงจำหน่ายเร่งด่วนก่อนเน่าเสียหาย

ความคืบหน้าสถานการณ์ดินถล่มในพื้นที่ ม.12 บ้านเขาวัง ต.หินตก อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ได้คลี่คลายลงไปแม้ว่าผืนดินจะมีรอยร้าวแยกหลายจุดพร้อมถล่มลงมาอีกแต่เนื่องจากฝนหยุดตกสถานการณ์จึงเริ่มคลี่คลาย แต่หากฝนตกลงมาอย่างหนักอีกพื้นที่นี้จะถล่มขยายวงกว้างเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน

ส่วนความพยายามในการเปิดเส้นทางให้ประชาชนใช้เส้นทางได้เมื่อวานนี้ หลังจากที่มีการเจรจากับนางแก้ว ดวงฤทธิ์ อายุ 70 ปี และน.ส.โสภา ดวงฤทธิ์ บุตรสาว ที่มีการตกลงหลักการในเบื้องต้นในการเปิดเส้นทางและเดินสายส่งกระแสไฟฟ้าแรงสูงเข้าพื้นที่ ปรากฏว่าในที่สุดช่วงเย็นของวานนี้ได้ล้มเหลวเนื่องจากไม่สามารถตกลงกันได้

นายทวีผล บุญผล ผู้ใหญ่บ้าน ม.12 ต.หินตก อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ปัญหาในเรื่องการเปิดเส้นทางและปักเสาสายส่งไฟฟ้าแรงสูงนั้นได้ยุติแล้ว โดยมีประชาชนจำนวน 3 ราย คือ นายต้อง ศรีอุลิต นางณัฐฏิกานต์ บัวเพชร และนางประเทือง ศรีฟองแก้ว ได้อุทิศที่ดินในพื้นที่ติดต่อกัน 3 แปลง เพื่อเปิดเส้นทางใหม่ไปยังหมู่บ้านเขาวังที่อยู่ด้านบนโดยใช้เครื่องจักรกลหนักของ อบจ.นครศรีธรรมราช เปิดเส้นทางกว้าง 6 เมตร ยาว 350 เมตรเข้าไปยังพื้นที่ที่ถูกตัดขาดแต่ยังคงมีความลาดชันสูง ซึ่งอย่างไรก็ตามชาวบ้านได้เริ่มใช้เส้นทางขนส่งผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นผลไม้กำลังสุกได้ที่เก็บเกี่ยวลงมาด้านล่างส่งขายได้แล้วบรรเทาความเดือดร้อนไปได้มากซึ่งต้องขอขอบคุณเจ้าของที่ดินที่อุทิศเพื่อสาธารณประโยชน์ในครั้งนี้

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์-ตัวแทนผบ.ทบ.ลงพื้นที่เยี่ยมประชาชน
ให้กำลังใจทหารปฏิบัติการกู้เส้นทาง

ในช่วงเช้าของวันนี้ (6 ม.ค.) นายกองเอกดร.ดิษฐพร วัชโรทัย ปธ.กก.บริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ และนายประสงค์ พิทูรย์กิจจา เลขาธิการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ พร้อมด้วยคณะได้ลำเลียงสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคจำนวนมากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานให้กับประชาชนที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ ต.แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง ขณะเดียวกัน พล.อ.ดาว์พงศ์ รัตนสุวรรณ รอง ผบ.ทบ.ในฐานะตัวแทน ผบ.ทบ. พร้อมด้วย พล.ท.นิพนธ์ ปานมงคล เจ้ากรมการทหารช่าง กองทัพบก ได้เดินทางลงพื้นที่ ต.แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครสรีธรรมราช เพื่อเข้าเยี่ยมประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากกรณีคลื่นขนาดใหญ่เข้าซัดหมู่บ้านจนหมู่บ้านเสียหายเป็นวงกว้าง และน้ำทะเลเข้าท่วมในหมู่ที่ 2 และ 3 ต.แหลมตะลุมพุก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช

ขณะเดียวกันได้ให้กำลังใจหน่วยทหารที่เข้าไปให้การช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เกิดเหตุ โดยได้ระบุกับประชาชนว่าทหารจะจัดกำลัง 1 ชุดประจำการในพื้นที่เพื่อพร้อมช่วยเหลือประชาชน และอีกชุดปฏิบัติการเข้าฟื้นฟูเส้นทางในหมู่บ้าน และปลุกสร้างบ้านเรือนให้กับประชาชนที่บ้านพังเสียหาย โดยขณะนี้กำลังทหารเป็นหน่วยหลักที่อยู่ในพื้นที่ และต้องเฝ้าระวังในอีกไม่กี่วันข้างหน้าที่จะมีมรสุมเข้าพื้นที่อีกลูก

พล.อ.ดาว์พงศ์ รัตนสุวรรณ รอง ผบ.ทบ.ได้เดินทางจาก อ.ปากพนัง ด้วยเฮลิคอปเตอร์มุ่งหน้าไปยัง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินการของทหารช่างที่ได้เข้าพื้นที่กู้เส้นทางร่วมกับหน่วยงานต่างๆ พร้อมทั้งได้มอบเครื่องอุปโภคบริโภคพระราชทานให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำป่าไหลหลาก

ผู้ว่าฯนครศรีฯสรุปความเสียหายอื้อ 14 อำเภอภัยพิบัติ
แหลมตะลุมพุกปากพนังยับ

นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า จังหวัดนครศรีธรรมราชมีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย วาตภัย ดินโคลนถล่ม และได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ จำนวน 14 อำเภอ ประกอบด้วย อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช ลานสกา พรหมคีรี นบพิตำ ขนอม สิชล ท่าศาลา หัวไทร ร่อนพิบูลย์ พระพรหม เฉลิมพระเกียรติ พิปูน เชียรใหญ่ และอำเภอชะอวด มีพื้นที่ประสบภัย จำนวน 50 ตำบล 290 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบประมาณ 124,000 คน มีการอพยพประชาชนไปอยู่ที่ปลอดภัยประมาณ 3,000 คน 500 ครัวเรือน ถนนเสียหาย 120 สาย สะพาน คอสะพาน 30 แห่ง ส่วนสิ่งสาธารณประโยชน์อื่นอยู่ระหว่างการสำรวจ

ทั้งนี้ ในส่วนของพื้นที่หมู่ที่ 2 และ 3 ตำบลแหลมตะลุมพุก อำเภอปากพนัง มีราษฎรได้รับความเดือดร้อน 596 ครัวเรือน 2,623 คน บ้านเรือนพังเสียหายทั้งหลัง จำนวน 16 หลัง และเสียหายบางส่วน 6 หลัง ถนนคอนกรีตเสริมเหล็กเสียหายใช้การไม่ได้ จำนวน 1 เส้นทาง

โดยมีมาตรการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย ได้จัดทำโครงการขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 133 ไร่ 2 งาน 50 ตารางวา ในพื้นที่หมู่ที่ 3 เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยให้แก่ผู้ประสบภัยจากคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง จำนวน 569 ครัวเรือน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 เสนอต่อกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการของบประมาณสนับสนุนจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อซ่อมแซมถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก ระยะทาง 250 เมตร จำนวน 1 โครงการ และโครงการก่อสร้างแนวหินใหญ่ป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง หมู่ที่ 2,3 ความยาว 800 เมตร รวมเป็นเงิน 5,425,000 บาท
กำลังโหลดความคิดเห็น