xs
xsm
sm
md
lg

น้ำท่วมเมืองนครฯคลี่คลาย-รอบนอกเร่งเปิดเส้นทาง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหตุดินถล่มที่ อ.ร่อนพิบูลย์
นครศรีธรรมราช - น้ำท่วมนครศรีฯคลี่คลาย เขตเทศบาลเกือบเข้าสู่ภาวะปกติ หลังเร่งระบายน้ำต่อเนื่อง ขณะที่ความเสียหายในอำเภอรอบนอก ทั้งจากน้ำป่า ภูเขาถล่มนั้น จนท.ยังต้องส่งกำลังแก้ไขปัญหาเฉพาะจุด

วันนี้ (5 ม.ค.) ความคืบหน้าสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ ปรากฏว่า ฝนได้หยุดตกอย่างสิ้นเชิงเกินกว่า 24 ชม.แล้ว ส่งผลให้การระบายน้ำในจุดที่น้ำท่วมขังเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครนครศรีธรรมราช เกือบทุกพื้นที่กำลังเข้าสู่สภาวะปกติ ยกเว้นชุมชนบ้านตก ชุมชนบ่อทรัพย์ ชุมชนท่าโพธิ์ และชุมชนราเมศวร์ ที่ยังคงมีน้ำท่วมขังแต่ระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็วการระบายน้ำลงสู่คลองท่าซาก คลองปากนคร ก่อนระบายออกสู่ปากอ่าวปากนคร

ผศ.เชวนวัศน์ เสนพงศ์ นายกเทศมนตรีนครนครศรีธรรมราช ระบุว่า ได้มีการระดมเครื่องสูบและผลักดันน้ำรวมถึง 19 ตัว เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับน้ำระบายออกอย่างรวดเร็วไม่มีทะเลหนุน การระบายน้ำเป็นไปได้อย่างดี โดยในวันเสาร์ที่ 8 ม.ค.55 จะมีการทำความสะอาดเมืองครั้งใหญ่หรืออร่วมกันทำบิ๊กคลีนนิ่งเดย์

ทหารเร่งกู้เส้นทางเข้าสู่ชุมชน-หมู่บ้านในพื้นที่เทือกเขา

ผู้สื่อข่าวรายงานในพื้นที่ชุมชน ที่ตั้งอยู่ในเขตเทือกเขาหลวง เช่น ชุมชนบ้านห้วยตง บ้านหวายช่อ ม.6, ม.8 ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช กำลังพลจากกรมการทหารช่าง กองทัพภาคที่ 4 ได้นำเอาเครื่องกลหนัก พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ซ่อมบำรุงเส้นทางจากแขวงการทางนครศรีธรรมราช เข้าเร่งกู้เส้นทางต่างๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถใช้การได้อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.นบพิตำ นั้นรถยนต์ทุกชนิดสามารถเดินทางเข้าไปได้แค่โรงเรียนบ้านปากลงเท่านั้น

ส่วนในพื้นที่ อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช หลายพื้นที่ยังคงถูกตัดขาด เนื่องจากสะพานเชื่อมระหว่างหมู่บ้าน และเส้นทางหลักได้รับความเสียหาย จนไม่สามารถใช้การได้และในช่วงเที่ยงนายฐานิสร์ เทียนทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมประชาชนและติดตามการให้การช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่

ขณะเดียวกัน นายกองเอก ดร.ดิษฐพร วัชโรทัย ปธ.กก.บริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ และนายประสงค์ พิทูรย์กิจจา เลขาธิการมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ พร้อมด้วยคณะได้ลำเลียงสิ่งของเครื่องอุปโภคบริโภคจำนวนมากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานมาแจกจ่ายให้กับประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่ อ.สิชล อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช

ส่วนการกู้เส้นทางในวันนี้ กำลังทหารช่าง ช.พัน 401 และ ช.พัน 402 พัทลุง, ทหารช่างกรมทหารปืนใหญ่ที่ 5 และ ทหารจาก ป.105 กองทัพภาคที่ 4 และ จนท.จากศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ 4 อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช ได้ร่วมกันเร่งทำการกู้สะพานแบริ่ง ที่ลอยกระเด็นในลำคลองกลายดึงกลับมาไว้ที่เดิม และเร่งถมดินลงไปในลำคลองกลาย เพื่อสร้างทางเบี่ยงอย่างเต็มที่ตลอดทั้งวัน ซึ่งคาดว่าจะสามารถกู้สะพานแบริ่งและสร้างทางเบี่ยงเสร็จภายในค่ำวันนี้อย่างแน่นอน และจะเปิดให้ประชาชนทั้งฝั่ง ม.5 และ ม.6 ต.ปากลง ได้สัญจรไปมาได้ตามปกติต่อไปภายในคืนนี้ โดยมีชาวบ้านจำนวนมากไปยืนให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ตลอดเวลา ขณะที่ชาวบ้านหลายคนของ ม.6 ต.กรุงชิง ที่จำเป็นต้องเดินทางออกมาก็ได้ไต่สะพานเชือกข้ามคลองกลายผ่านออกมาอย่างทุลักทุเล

นายปรีชา คุ้มวงศ์ นายอำเภอนบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ขณะนี้ทหารช่างกองทัพภาคที่ 4 กำลังเร่งกู้และซ่อมสร้างสะพานแบริ่งข้ามคลองกลายอย่างเต็มที่ คาดว่าจะสร้างเสร็จภายในคืนวันนี้แน่นอน สำหรับราษฎร ที่ติดค้างในฝั่ง ม.6 ต.กรุงชิง จำนวน 500 คนทางอำเภอได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นแล้ว

กฟภ.กำลังเร่งกู้เสาไฟฟ้าแรงสูง “นบพิตำ” ล้ม 12 ต้น

นายภณุตส์ นาคเพ็ชร์ ผจก.ไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า จากการสำรวจของเจ้าหน้าที่ พบว่า ในพื้นที่บ้านเขาไม้ไผ่ ม.8 ต.กรุงชิง และบ้านห้วยตง ม.7 ต.กรุงชิง มีเสาไฟฟ้าแรงสูงถูกน้ำป่าซัดล้มเสียหายจำนวน 12 ต้น ราษฎรเดือดร้อนไม่มีไฟฟ้าใช้จำนวน 80 ราย ทาง กฟภ.กำลังเร่งส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปในพื้นที่ประสบภัยเพื่อเร่งซ่อมติดตตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงใหม่ต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถซ่อมเสร็จในวันที่ 9 ม.ค.2555 เนื่องจากสะพานที่จะเข้าไปในหมู่บ้านขาดจำนวน 7 สะพานด้วยกัน จะต้องเร่งซ่อมสะพานให้เสร็จก่อนเจ้าหน้าที่ กฟภ.ถึงจะเข้าไปซ่อมติดตั้งเสาไฟฟ้าแรงสูงให้ราษฎรทั้งสองหมู่บ้านต่อไป

ชาวสวนกรุงชิงขาดรายได้นำผลผลิตไปขายไม่ได้

นางนุสรา เมืองสุวรรณ อายุ 35 ปี แม่ค้าแผงรับซื้อผลไม้ในตลาด ต.กรุงชิง อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่มังคุด ลองกอง และเงาะกำลังออกผลผลิตอย่างเต็มที่พอดี แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ชาวสวนผลไม้ในพื้นที่ ม.6 ต.กรุงชิง ซึ่งมีพื้นที่ปลูกสวนผลไม้ทั้งเงาะ มังคุด ลองกอง จำนวนนับหมื่นไร่และมีผลผลิตออกสู่ตลาดวันละนับพันตันไม่สามารถนำผลผลิตดังกล่าวออกมาขายได้

ทั้งนี้ เนื่องจากสะพานแบริ่งชั่วคราวข้ามคลองกลายถูกน้ำป่าซัดขาดเสียก่อน ทำให้ผลผลิตของเกษตรกรนับพันตันต่อวันต้องเน่าเสีย ไม่สามารถขนส่งออกมาจากหมู่บ้านได้เลยและทำให้ราษฎรต้องขาดรายได้เป็นจำนวนเงินก้อนมหาศาลทีเดียว อยากให้ทางการเร่งซ่อมสะพานให้เสร็จโดยเร็วด้วย

“ความจริงสะพานข้ามคลองกลายแห่งนี้ถูกน้ำป่าซัดพังเสียหาย มาตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.2554 เจ้าหน้าที่เพียงแต่ซ่อมสร้างสะพานแบริ่งเป็นทางเบี่ยงให้เท่านั้น แต่ไม่ได้สร้างสะพานใหม่ถาวรให้เลย ปล่อยอย่างนั้นจนสะพานแบริ่งถูกน้ำป่าซัดพังเสียหายอีกครั้ง จนสร้างความเดือดร้อนให้แก่ราษฎรอีกครั้ง ชาวบ้านอยากให้ทางการเร่งสร้างสะพานถาวรให้เสร็จโดยเร็วไม่ต้องเดือดร้อนแบบนี้” นางนุสรา กล่าว

แม่เฒ่าจมน้ำเสียชีวิตอีก 1 ราย

เมื่อเวลา 13.00 น.ของวันเดียวกัน พ.ต.ท.ไพรัช ทองฉิม พนักงานสอบสวนเวร สภ.ย่อยปากพุน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช เข้าทำการชันสูตรพลิกศพ นางกอบ นิ่มช่วย อายุ 71 ปี อยู่ 368 ม.10 ต.ปากพูน อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช หลังจากจมน้ำเสียชีวิตใกล้กับบ้านริมถนนสายบางปู-ท่าอากาศยาน เนื่องจากพยายามเดินลุยน้ำไปทำความสะอาดบ้านที่ถูกน้ำท่วมสูงและเริ่มที่จะลดระดับลง ซึ่งคาดว่านางกอบอาจจะหมดแรงแล้วเป็นลมจมน้ำจนเสียชีวิต

อย่างไรก็ตาม ผู้เสียชีวิตเนื่องจากการจมน้ำ นางกอบ ถือเป็นรายที่ 3 และยังมีผู้เสียชีวิตเนื่องจากถูกไฟฟ้าช็อตขณะน้ำไหลบ่าเข้าท่วมบ้านอีก 1 ราย

ผวจ.สอบพื้นที่เขาถล่ม อ.ร่อนพิบูลย์

ส่วนในพื้นที่บ้านเขาวัง ม.12 ต.หินตก อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ได้เกิดเหตุดินถล่มลงมาและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวไปอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีรอยร้าวเพิ่มขึ้นหลายจุดลึกเข้าไปอีกนับสิบเมตร หากฝนตกลงมาเพิ่มเติมดินถล่มจะขยายวงเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน

นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายและความเดือดร้อนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากดินสไลด์ ที่บ้านเขาวัง หมู่ที่ 12 ต.หินตก อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช โดยจุดเกิดเหตุเป็นสวนยางพาราและสวนไม้ผลของชาวบ้าน ซึ่งบริเวณดังกล่าว ดินภูเขาได้พังถล่มลงมาทับเสาไฟฟ้าเสียหายหลายต้น ถนนพังยับ พืชสวนการเกษตรของพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายเป็นวงกว้าง เส้นทางเข้าหมู่บ้านเขาวังถูกตัดขาดอย่างสิ้นเชิง ทำให้โรงเรียน ตชด.บ้านเขาวัง และชาวบ้านที่อาศัยอยู่ข้างในได้รับความเดือดร้อน 150 ครัวเรือน จำนวนกว่า 1,200 คน ไม่สามารถเดินทางออกมายังภายนอกได้ โดยขณะนี้ต้องเร่งดำเนินการกู้เส้นทาง ซึ่งต้องเจรจากับเจ้าของที่ดินเพื่อตัดแต่งไม้ผลเปิดให้ไฟฟ้าสามารถเดินสายส่งที่ได้รับความเสียหายใหม่ โดยผู้ว่าราชการจังหวัดขอรับผิดชอบทั้งหมด

ด้าน นายทวีสน บุญผล ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 12 ต.หินตก อ.ร่อนพิบูลย์ กล่าวว่า เกิดภูเขาพังถล่มลงมาปิดเส้นทางสัญจรและยังคงมีดินสไลด์ลงมาต่อเนื่อง โชคดีบริเวณที่ดินพังลงมานั้นไม่มีบ้านเรือนของชาวบ้านอาศัยอยู่ ส่วนความเดือดร้อนขณะนี้ผลผลิตทางการเกษตร เช่น มังคุด ทุเรียน เงาะ ซึ่งกำลังเก็บเกี่ยวผลผลิตออกสู่ตลาด ต้องเดินเท้าแบกหามระยะทางกว่า 200 เมตร ขึ้นลงภูเขา จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลช่วยเหลือเป็นการเร่งด่วนด้วย

นอภ.เจรจาเจ้าของที่ดินที่พังถล่มเปิดเส้นทางใหม่

นายธำรง เขมะรัตน์ นายอำเภอร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช พร้อมด้วย นายภานุวัฒน์ ทิพย์ศรีนิมิต ผจก.ไฟฟ้าส่วนภูมิภาคร่อนพิบูลย์ ได้เข้าเจรจากับนางแก้ว ดวงฤทธิ์ อายุ 70 ปี อยู่ 88/2 ม.10 ต.หินตก อ.ร่อนพิบูลย์ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่อยู่ติดกับจุดพังถล่ม และยังมีที่ดินสวนผลไม้ของนางแก้ว พังถล่มออกมาอีกตลอดแนวเป็นเนื้อที่ประมาณ 2 ไร่

ทั้งนี้ เนื่องจาก นางแก้ว ไม่ยินยอมให้เดินสายไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านที่ดิน ตัดไม้ผล และตัดแนวถนนเข้าในที่ดินเนื่องจากที่ดินดังกล่าว โดยระบุว่าเป็นที่ดินผืนสวนสมรมแห่งแรกและแห่งเดียวของครอบครัวเดิมมีอยู่ประมาณ 10 ไร่ แต่ถูกตัดถนนไปแล้วและไม่ได้สิ่งใดตอบแทนกลับมาเลย มาครั้งนี้ทั้งพังถล่มอีกครั้ง และทางการขอที่ดินอีกจึงไม่มีที่ดินจะทำกินแล้ว ไม่ได้ว่าจะไม่ให้แต่ที่ชีวิตที่เหลืออยู่จะไปเอาอะไรกิน ทั้งยังมีลูกอีก 5 คนที่ต้องแบ่งที่ดินผืนนี้จะอยู่กันอย่างไร

นายธำรง ได้เข้าเจรจาต่อรองจนในที่สุด นางแก้ว และบุตรสาว คือ น.ส.โสภา ดวงฤทธิ์ ยินยอมรับในหลักการ ว่า ทางการจะชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้น พร้อมทั้งดูแลครอบครัวของนางแก้ว โดยเฉพาะไม้ผลที่ถูกตัดแต่งไปหากเสียหายตายลงจะชดใช้ค่าเสียหาย ส่วนที่ดินที่จะตัดทำถนน ทางการจะรับผิดชอบทั้งหมด เพื่อให้ประชาชนภายในสามารถเดินทางออกมาได้ ภายในนั้นมีประชาชนอาศัยอยู่ประมาณ 1,500 คนเศษ นักเรียนโรงเรียน ตชด.บ้านเขาวังที่ต้องใช้เส้นทางอีกประมาณ 185 คน

นักธรณีวิทยาแนะใช้วิธีธรรมชาติป้องกันดินถล่ม

นายสมใจ เย็นสบาย ผอ.ส่วนธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า พื้นที่นี้มีความเสี่ยงที่จะขยายวงถล่มมากขึ้น วิธีแก้ที่เป็นธรรมชาติ คือ การใช้ต้นมะขาม โดยการโปรยเม็ดมะขามให้มากที่สุดแล้วให้เจริญงอกงามขึ้น รากของมะขามจะเกาะยึดกับดินแน่นช่วยเหนี่ยวรั้งไม่ให้พังทลายลงมา ส่วนเมื่อโตขึ้นนั้น ให้ตัดแต่งแล้วจะสามารถปลูกพืชอื่นๆ ต่อไปได้พื้นที่ไม่เสียหาย

“และหากถ้าแก้ไขพื้นที่ตามหลักวิศวกรรม จะต้องใช้งบประมาณสูงมาก และใช้เวลานาน ต้องใช้วิธีธรรมชาติจะดีที่สุด” ผอ.ส่วนภัยพิบัติ กรมทรัพยากรธรณีกล่าว





กำลังโหลดความคิดเห็น