นครศรีธรรมราช - เครือข่ายภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ร่วมหารือกำหนดท่าทีการต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหิน ปี 2555 ขณะที่ กฟผ.ปูด ยังคงเดินหน้าก่อสร้างแน่นอน ที่ จ.นครศรีธรรมราช 2 โรง และ จ.ตรังอีก 1 โรง
วันนี้ (27 ธ.ค.) ที่ห้องประชุม อบต.ท่าศาลา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช นายอภินันท์ เชาวลิต นายก อบต.ท่าศาลา นายบุญโชค แก้วแกม นายก อบต.ท่าขึ้น ในฐานะผู้นำท้องถิ่น พร้อมด้วย แกนนำจากเครือข่ายท่าศาลารักษ์บ้านเกิด เครือข่ายประมงพื้นบ้านท่าศาลา เครือข่ายครูรักษ์ถิ่น และภาคประชาชนจากหลายหมู่บ้านในเขต อ.ท่าศาลา ได้เข้าร่วมหารือสรุปถึงกิจกรรมรอบปีที่ผ่านมา ในการรณรงค์ต่อต้านในการปฏิเสธไม่เอา “ถ่านหิน” ตามโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนโดยใช้เชื้อเพลิงถ่านหินจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และได้กำหนดกรอบแนวทางในการเคลื่อนไหวต่อสู้ในจุดยืน คือ การปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ วิถีชีวิต ของชาว อ.ท่าศาลา ในปี 2555
นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว ผู้ประสานงานเครือข่ายท่าศาลารักษ์บ้านเกิด เปิดเผยว่า ในปี 2555 การเคลื่อนไหวผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อปฏิเสธถ่านหินนั้นได้กำหนดกรอบหลักๆ ไว้ คือ 1.แสดงให้เห็นว่าพื้นที่ อ.ท่าศาลา และนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ที่มีความมั่นคงทางอาหารสูงมาก 2.เป็นพื้นที่ที่มีวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ 3.เป็นพื้นที่ที่ทรัพยากร การเกษตร และเศรษฐกิจที่พอเพียง ทั้งหมดจะถูกรวบรวมสร้างเครือข่ายประชาสัมพันธ์ขึ้นอย่างเป็นระบบให้มีการรับรู้ขยายไปอย่างกว้างขวางเพื่อร่วมกันปกป้องรักษาความมั่นคงของทรัพยากรไม่ให้ถูกทำลาย
นายวิชาญ เชาวลิต เครือข่ายครูอนุรักษ์ถิ่น ได้แสดงความเห็นต่อกรณีการเคลื่อนไหวเพื่อปฏิเสธการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินของ กฟผ.ในพื้นที่ ว่า เครือข่ายครูพยายามเน้นกิจกรรมในการสร้างความรู้ความเข้าใจ ถึงพิษภัยของถ่านหิน ซึ่งเมื่อทุกคนรู้เชื่อว่าทุกคนไม่อยู่เฉยแน่นอน ท่าศาลา เป็นพื้นที่มีความสมบูรณ์พร้อมของทรัพยากรที่หล่อเลี้ยงคนอย่างมาก ไม่อยากให้ถูกทำลายไป
“การโฆษณาชวนเชื่อว่า “ถ่านหินสะอาด เทคโนโลยีสะอาด” เป็นการพูดได้ทั้งนั้น แต่ข้อเท็จจริงอย่างไรต้องพูดให้หมด กับประโยคที่ว่า กฟผ.ผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทย แล้วคนที่ทุกข์เพราะการผลิตไฟฟ้า มันจะสุขไปได้อย่างไร เพราะมีผลกระทบต่ออาชีพ ต่อถิ่นฐานที่อยู่ของเขา การสร้างโรงไฟฟ้าบนพื้นฐานของการทำลายทรัพยากรนั้น ต้องถามว่าเพื่ออะไร เพื่อประโยชน์ของใคร เคยรู้หรือไม่ว่าความอุดมสมบูรณ์นั้นเป็นอย่างไร วิถีชีวิตที่มีความสุขของชาวบ้านนั้นเป็นอย่างไร ความปกติสุขเป็นอย่างไร ที่นี่มีสังคมไทยพุทธ ไทยมุสลิมที่แน่นแฝ้นกลมเกลียวที่หาดูที่ไหนไม่ได้เป็นความสวยงามอย่างยิ่ง หาไม่ได้แล้วท่าศาลาคือแผ่นดินทองคำจริงๆ” นายวิชาญ กล่าว
นายวิชาญกล่าวต่อว่าที่ว่า กฟผ.จะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ก็แล้วแต่ว่า รัฐหรือ กฟผ.จะว่ากันอย่างไร แต่ชาวบ้านเรามีหน้าที่ในการปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัย ปกป้องวิถีชีวิต ปกป้องให้กับลูกหลานในอนาคต และยืนยันว่า เราไม่ได้รุกรานข่มเหงใคร ทุกอย่างคือการปกป้องตนเองและลูกหลาน ซึ่งเป็นการหวงแหนถิ่นที่อยู่ ที่สำคัญต้องย้ำชัดๆ ว่า เราไม่เอาถ่านหิน ไม่ได้หมายความว่า เราไม่เอาโรงไฟฟ้า ซึ่งต่อไปนั้นอาจจะมีไฟฟ้าที่เป็นมิตรกับชุมชนเช่นพลังงานหมุนเวียน เป็นต้นเราพร้อมสนับสนุน
ส่วนความเคลื่อนไหวของ กฟผ.แหล่งข่าวที่เกี่ยวข้องรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ขณะนี้ในส่วนของนโยบายรัฐนั้นมีความชัดเจนว่าส่งเสริมสนับสนุนในเรื่องของโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างเต็มที่ โดย 2 โรงแรกที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน คือ ใน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช และอีกโรงใน อ.กันตัง จ.ตรัง และโรงที่ 3 คือ ที่ อ.ท่าศาลา ที่ผ่านมา จากการต่อต้านนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อแผนพัฒนาพลังงานของ กฟผ.แต่อย่างใด ทุกอย่างยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างเต็มที่อยู่ที่ว่าเดินหน้าอย่างเปิดเผยหรือเดินไปอย่างเงียบๆ เท่านั้น
“โรงไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้นโรงแรกนั้น น่าจะเป็น อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ล้านเปอร์เซ็นต์ ขณะนี้ความเคลื่อนไหวที่ไม่เปิดเผยนั้นเดินหน้าไปไกลถึงขั้นรวบรวมที่ดินแล้ว แต่ยังไม่มีการซื้อขายอย่างเป็นทางการเท่านั้นสอดคล้องกับที่ตัวแทนของพลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ไปให้ข้อมูลการไต่สวนสาธารณะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติว่า กฟผ.กำลังรวบรวมที่ดินจัดสร้างโรงไฟฟ้า ส่วนที่เคลื่อนไหวอย่างเปิดเผยนั้นอยู่ที่ขั้นตอน การให้ข้อมูลความรู้อย่างที่ทราบกัน สาเหตุที่ กฟผ.ต้องขึ้นที่ อ.หัวไทร ให้ได้ก่อนนั้น เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวทางการต่อต้านน้อยเนื่องจากมีประชากรน้อย และสามารถเข้าทำมวลชนได้ง่ายผ่านวิธีการต่างๆ” แหล่งข่าวรายนี้ กล่าว
ด้าน นายอภินันท์ เชาวลิต นายก อบต.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่าในส่วนของ ท้องถิ่นนั้นจุดยืนชัดเจน คือ การปฏิเสธถ่านหินร่วมกับชาว อ.ท่าศาลา ซึ่งเป็นการยืนหยัดและมีเครือข่ายที่เข้มแข็ง มีการแสดงจุดยืนของนักเรียน คนหนุ่มสาว ไปจนถึงคนผมขาว มีทุกเพศทุกวัย เป็นตัวอย่างของความเข็มแข็ง โดยล่าสุดนั้นชาว จ.ตรัง ได้เข้ามาหารือกับเครือข่ายท่าศาลา ถึงทิศทางในการเคลื่อนไหวคัดค้าน เพราะดูเหมือนว่า กฟผ.จะสร้างโรงไฟฟ้าชนิดนี้อย่างต่อเนื่อง