xs
xsm
sm
md
lg

กฟผ.หาที่ดินสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่หัวไทรแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นครศรีธรรมราช - ผู้แทนพลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช ยอมรับกลางเวทีไต่สวนสาธารณะ กก.สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ “กฟผ.กำลังจัดหาที่ดินสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินหัวไทร” ก่อนบ่ายเบี่ยงไม่รู้ข้อมูล โยน กฟผ.แจงเอง ขณะเดียวกัน กฟผ.จัดเวทีให้ความรู้ชน ระดมท้องถิ่นรับฟังให้ “อารีย์ ไกรนรา” เปิดงาน แต่หลังทำพิธีเสร็จงานกร่อยเหลือคนร่วมงานแค่ 25 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครศรีธรรมราช การเตรียมการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ อ.หัวไทร ยังกลายเป็นเรื่องร้อน แนวโน้มดุเดือด โดยความคืบหน้าล่าสุดเมื่อเร็วๆนี้ ได้มีการจัดเวทีสาธารณะขึ้น 2 เวทีพร้อมกันและจัดในเวลาเดียวกัน โดยเวทีแรกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย( กฟผ.)จัดขึ้น โดยอ้างว่า มีสมาคม อบต.นครศรีธรรมราช อ.หัวไทร เป็นผู้จัดขึ้นในหัวข้อ “ทิศทางพลังงานและพลังงานความร้อน” โดยมี นายอารีย์ ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน และมี นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้กล่าวรายงาน

ส่วนวิทยากรที่เข้าร่วมงาน ประกอบด้วย นายทนงศักดิ์ วงศ์ลา ผอ.กลุ่มราคาไฟฟ้าและคุณภาพบริการ กระทรวงพลังงาน ว่าที่ พันตรี ดร.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผช.ผอ.ฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการ-วิชาการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และ นายจำลอง ฝั่งชลจิตต์ นักเขียนอิสระ โดยใช้สถานที่ของที่ว่าการอำเภอหัวไทร เป็นสถานที่จัดงาน

ก่อนหน้านั้น ได้มีหนังสือเวียนไปยังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในจ.นครศรีธรรมราช เชิญชวนให้เข้าร่วมการรับฟังสัมมนาดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาปรากฏว่า มีผู้เข้าร่วมทั้งหมดไม่เกิน 100 คน โดยหลังจากที่ นายอารีย์ ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวเปิดงานและเดินทางกลับ เหลือผู้เข้าร่วมเพียงไม่ถึง 25 คนเท่านั้น

สำหรับวิทยากรที่ให้ความรู้รายแรก คือ นายทนงศักดิ์ วงศ์ลา ผอ.กลุ่มราคาไฟฟ้าและคุณภาพบริการ กระทรวงพลังงาน ได้กล่าวถึงการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย แนวโน้มของการหมดไปของพลังงาน ซึ่งต้องทดแทนด้วยการสร้างพลังงานสำรองที่จะต้องเกิดขึ้น

ส่วน ว่าที่ พันตรี ดร.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผช.ฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการ-วิชาการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้กล่าวอธิบายถึงโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินว่าสามารถอยู่กับชุมชน โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินจะสามารถอยู่คู่กับชุมชน ท้องถิ่นได้โดยไม่มีผลกระทบ พลังงานความร้อนเป็นพลังงานทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ ประหยัด และมีความปลอดภัยสูง ใช้วัตถุดิบ 2 ชนิด คือ ถ่านหินซับบิทูมินัส และถ่านหินบิทูมินัส ซึ่งหลายประเทศได้นำไปใช้แล้วและให้ผลในเชิงบวก

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการศึกษาความเป็นได้ที่จะนำพลังงานดังกล่าวมาใช้ในพื้นที่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ จะคำนึงถึงความปลอดภัย และความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ในการศึกษาดังกล่าวจะใช้ระยะเวลารวม 3 ปี ซึ่งหากพลังงานความร้อนดังกล่าวได้รับการตอบรับและเป็นที่ต้องการของพื้นที่ก็จะดำเนินการก่อสร้างโรงงาน ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการทั้งหมดประมาณ 8 ปี

ส่วนอีกเวที ได้มีการจัดเวทีไต่สวนสาธารณะหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับกรณีการเตรียมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ อ.หัวไทร ที่เทศบาลตำบลเกาะเพชร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช โดยมี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านสิทธิชุมชน พร้อมด้วยภาคประชาชนที่เป็นผู้ร้อง เข้าร่วมรับฟังการไต่สวนในเรื่องดังกล่าว

ส่วนภาครัฐที่เข้ามาชี้แจงในการไต่สวนประกอบด้วย ว่าที่ ร.ต.ประภากร ทองสุภา นายช่างเทคนิคชำนาญงาน ในฐานะตัวแทนพลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช ผอ.สำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครศรีธรรมราช และนายสุชาติ สุวรรณรัศมี ปลัดอำเภอหัวไทร ตัวแทนนายอำเภอหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เป็นผู้ให้ข้อมูล ส่วน กฟผ.ไม่ส่งตัวแทน หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายใดๆ เข้าร่วม

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เริ่มการไต่สวนสาธารณะ กับ ว่าที่ ร.ต.ประภากร ทองสุภา ในฐานะตัวแทนพลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นรายแรก ถึงการเกี่ยวข้องของพลังงานจังหวัด กระทรวงพลังงาน ต่อโครงการดังกล่าว โดย ว่าที่ ร.ต.ประภากร ได้ตอบคำถามไปในทำนองว่าพลังงานจังหวัดมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งจัดไปแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจัดเมื่อวันที่ 2 ธ.ค .ที่ผ่านมา และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา เป็นผู้บริหารสถานศึกษา ครูอาจารย์ จากโรงเรียนมัธยมเข้าร่วม

หลังจากนั้น ตัวแทนพลังงานจังหวัดได้อธิบายถึงข้อดีข้อเสียของการจัดสร้างโรงไฟฟ้าและการจัดตั้งกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า และเมื่อถามต่อว่าสาเหตุที่จัดเวทีใครเป็นคนสั่ง ว่าที่ รต.ประภากร ตอบว่ากระทรวงพลังงานเป็นผู้สั่งการ และเมื่อถามต่อว่าโรงไฟฟ้าที่จะลงพื้นที่ อ.หัวไทร เป็นหน้าที่ของใคร ว่าที่ ร.ต.ประภากร ตอบว่าเป็นของ กฟผ.และอยู่ใน 7 ขั้นตอน โดยเริ่มจากการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนในพื้นที่

ทั้งนี้ เมื่อถามต่อว่าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนไหน ว่าที่ รต.ประภากร ตอบว่าอยู่ในขั้นตอนการจัดหาที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้า ส่วนจะสร้างหรือไม่สร้างนั้นเป็นเรื่องของ กฟผ.ที่จะต้องตอบคำถาม จากนั้น นพ.นิรันดร์ ได้อ่านทั้ง 7 ขั้นตอนให้ ร.ต.ประภากร ฟัง และในขั้นตอนการจัดหาที่ดินนั้นเป็นขั้นตอนที่ 4 จากทั้งหมด 7 ขั้นตอน

ก่อนจะซักถามต่อว่าทั้ง 7 ขั้นตอนนี้อยู่ในขั้นตอนตามกฎหมายหรือไม่ และการมาตอบคำถามทราบหรือไม่ทราบข้อมูลเรื่องนี้ ว่าที่ ร.ต.ประภากร ตอบว่าไม่รู้ ส่วนการสั่งการให้มานั้นผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้สั่งการ ท่ามกลางเสียงโห่ร้องแสดงความไม่พอของกลุ่มเครือข่ายต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่

หลังจากนั้น นพ.นิรันดร์ ได้สรุปว่า หนังสือสั่งการให้ ว่าที่ ร.ต.ประภากร มาเป็นผู้แทนจากพลังงานจังหวัด ซึ่งต้องทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดว่าคนที่ส่งมาไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ และความรู้ที่มีไม่ตรงกับคำถาม ซึ่งจะต้องขอข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ส่วน นายสุเมธ อำภรณ์ ผอ.สำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเดินทางมาให้ข้อมูลด้วยตนเอง ระบุว่าได้ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังแล้ว สำนักงานทรัพยากรจังหวัดไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมหารือหรือประชุมใดๆ กับ กฟผ.ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในพื้นที่ อ.หัวไทร ทั้งสิ้น

ส่วน นายสุชาติ สุวรรณรัศมี ปลัดอำเภอหัวไทร ตัวแทนอำเภอหัวไทร ได้กล่าวเช่นเดียวกันว่าอำเภอหัวไทร ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับ กฟผ.เป็นการดำเนินการของ กฟผ.ทั้งสิ้น ก่อนที่การไต่สวนดังกล่าวจะเสร็จสิ้นลงไปในเวลา 12.00 น.ของวันเดียวกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น