นครศรีธรรมราช - ผู้แทนพลังงานจังหวัดนครศรีฯ ยอมรับกลางเวทีไต่สวนสาธารณะ กก.สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ “กฟผ.กำลังจัดหาที่ดินสร้างไฟฟ้าถ่านหินหัวไทร” ก่อนเบี่ยงไม่รู้ข้อมูลโยน กฟผ.แจงเอง ขณะเดียวกัน กฟผ.จัดเวทีให้ความรู้ชน! ระดมท้องถิ่นรับฟังให้ “อารีย์ ไกรนรา” เปิดงานคล้อยหลังกร่อยเหลือ 25 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ จ.นครศรีธรรมราช การเตรียมการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ อ.หัวไทร ยังกลายเป็นเรื่องร้อน แนวโน้มดุเดือด โดยความคืบหน้าล่าสุดวันนี้ (20 ธ.ค.) ได้มีการจัดเวทีสาธารณะขึ้น 2 เวทีพร้อมกันและจัดในเวลาเดียวกัน โดยเวทีแรกนั้น กฟผ.ได้จัดขึ้นพร้อมกับอ้างว่า มีสมาคม อบต.นครศรีธรรมราช อ.หัวไทร เป็นผู้จัดขึ้นในหัวข้อ “ทิศทางพลังงานและพลังงานความร้อน” โดยมี นายอารีย์ ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน และมี นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้กล่าวรายงาน
ส่วนวิทยากรที่เข้าร่วมนั้น ประกอบด้วย นายทนงศักดิ์ วงศ์ลา ผอ.กลุ่มราคาไฟฟ้าและคุณภาพบริการ กระทรวงพลังงาน ว่าที่ พันตรี ดร.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ.อยุธยา ผช.ผอ.ฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการ-วิชาการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และ นายจำลอง ฝั่งชลจิตต์ นักเขียนอิสระ โดยใช้สถานที่ของที่ว่าการอำเภอหัวไทร เป็นสถานที่จัดงาน
โดยก่อนหน้านั้น ได้มีหนังสือเวียนไปยัง องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช เชิญชวนให้เข้าร่วมการรับฟังสัมมนาดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลาปรากฏว่า มีผู้เข้าร่วมทั้งหมดไม่เกิน 100 คน โดยหลังจากที่ นายอารีย์ ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวเปิดงานและเดินทางกลับเรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่าเหลือผู้เข้าร่วมเพียงไม่ถึง 25 คนเท่านั้น
สำหรับวิทยากรที่ให้ความรู้รายแรก คือ นายทนงศักดิ์ วงศ์ลา ผอ.กลุ่มราคาไฟฟ้าและคุณภาพบริการ กระทรวงพลังงาน ได้กล่าวถึงการใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย แนวโน้มของการหมดไปของพลังงาน ซึ่งต้องทดแทนด้วยการสร้างพลังงานสำรองที่จะต้องเกิดขึ้น
ส่วน ว่าที่ พันตรี ดร.อนุชาต ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา ผช.ฝ่ายสิ่งแวดล้อมโครงการ-วิชาการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้กล่าวอธิบายถึงโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินว่าสามารถอยู่กับชุมชน โดยไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินจะสามารถอยู่คู่กับชุมชน ท้องถิ่นได้โดยไม่มีผลกระทบ พลังงานความร้อนเป็นพลังงานทางเลือกที่มีประสิทธิภาพ ประหยัด และมีความปลอดภัยสูง ใช้วัตถุดิบ 2 ชนิด คือ ถ่านหินซับบิทูมินัส และถ่านหินบิทูมินัส ซึ่งหลายประเทศได้นำไปใช้แล้วและให้ผลในเชิงบวก
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการศึกษาความเป็นได้ที่จะนำพลังงานดังกล่าวมาใช้ในพื้นที่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช นั้น ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ จะคำนึงถึงความปลอดภัย และความต้องการของประชาชนเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ ในการศึกษาดังกล่าวจะใช้ระยะเวลารวม 3 ปี ซึ่งหากพลังงานความร้อนดังกล่าวได้รับการตอบรับและเป็นที่ต้องการของพื้นที่ก็จะดำเนินการก่อสร้างโรงงาน ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการทั้งหมดประมาณ 8 ปี ขณะที่นายจำลอง ฝั่งชลจิตต์ นักเขียนอิสระ ได้เล่าถึงประสบการในการไปศึกษาดูงานโรงฟ้าถ่านหินในต่างประเทศหลายประเทศกับ กฟผ.เมื่อไม่กี่เดือนก่อน
ส่วนอีกเวทีนั้นได้มีการจัดเวทีไต่สวนสาธารณะหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับกรณีการเตรียมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่ อ.หัวไทร ที่เทศบาลตำบลเกาะเพชร อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช โดยมี นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน ด้านสิทธิชุมชน พร้อมด้วยภาคประชาชนที่เป็นผู้ร้อง เข้าร่วมรับฟังการไต่สวนในเรื่องดังกล่าว
ส่วนภาครัฐที่เข้ามาชี้แจงในการไต่สวนนั้น ประกอบด้วย ว่าที่ ร.ต.ประภากร ทองสุภา นายช่างเทคนิคชำนาญงาน ในฐานะตัวแทนพลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช ผอ.สำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครศรีธรรมราช และนายสุชาติ สุวรรณรัศมี ปลัดอำเภอหัวไทร ตัวแทนนายอำเภอหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เป็นผู้ให้ข้อมูล ส่วน กฟผ.ไม่ส่งตัวแทน หรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายใดๆ เข้าร่วม
โดยในการไต่สวนนั้น นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้เริ่มการไต่สวนสาธารณกับ ว่าที่ ร.ต.ประภากร ทองสุภา ในฐานะตัวแทนพลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นรายแรก ถึงการเกี่ยวข้องของพลังงานจังหวัด กระทรวงพลังงาน ต่อโครงการดังกล่าว โดย ว่าที่ ร.ต.ประภากร ได้ตอบคำถามไปในทำนองว่าพลังงานจังหวัดมีหน้าที่ดูแลรับผิดชอบเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งจัดไปแล้ว 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจัดเมื่อวันที่ 2 ธ.ค .ที่ผ่านมา และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา เป็นผู้บริหารสถานศึกษา ครูอาจารย์จากโรงเรียนมัธยมเข้าร่วม
หลังจากนั้น ตัวแทนพลังงานจังหวัดได้อธิบายถึงข้อดีข้อเสียของการจัดสร้างโรงไฟฟ้าและการจัดตั้งกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า และเมื่อถามต่อว่าสาเหตุที่จัดเวทีใครเป็นคนสั่ง ว่าที่ รต.ประภากร ตอบว่ากระทรวงพลังงานเป็นผู้สั่งการ และเมื่อถามต่อว่าโรงไฟฟ้าที่จะลงพื้นที่ อ.หัวไทร เป็นหน้าที่ของใคร ว่าที่ รต.ประภากร ตอบว่าเป็นของ กฟผ.และอยู่ใน 7 ขั้นตอน โดยเริ่มจากการให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่
ทั้งนี้ เมื่อถามต่อว่าขณะนี้อยู่ในขั้นตอนไหน ว่าที่ รต.ประภากร ตอบว่าอยู่ในขั้นตอนการจัดหาที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้า ส่วนจะสร้างหรือไม่สร้างนั้นเป็นเรื่องของ กฟผ.ที่จะต้องตอบคำถาม จากนั้น นพ.นิรันดร์ จะอ่านทั้ง 7 ขั้นตอนให้ กับ ร.ต.ประภากร ฟัง และในขั้นตอนการจัดหาที่ดินนั้นเป็นขั้นตอนที่ 4 จากทั้งหมด 7 ขั้นตอน
ก่อนจะซักถามต่อว่าทั้ง 7 ขั้นตอนนี้อยู่ในขั้นตอนตามกฎหมายหรือไม่ และการมาตอบคำถามนั้นทราบหรือไม่ทราบข้อมูลเรื่องนี้ ว่าที่ รต.ประภากร ตอบว่าไม่รู้ ส่วนการสั่งการให้มานั้นผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้สั่งการ ท่ามกลางเสียงโห่ร้องแสดงความไม่พอของกลุ่มเครือข่ายต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่
หลังจากนั้น นพ.นิรันดร์ ได้สรุปว่า หนังสือสั่งการให้ ว่าที่ ร.ต.ประภากร มาเป็นผู้แทนจากพลังงานจังหวัด ซึ่งต้องทำหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดว่าคนที่ส่งมานั้นไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ และความรู้ที่มีนั้นไม่ตรงกับคำถาม ซึ่งจะต้องขอข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ส่วน นายสุเมธ อำภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเดินทางมาให้ข้อมูลด้วยตนเอง ระบุว่าได้ตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังแล้ว สำนักงานทรัพยากรจังหวัดไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมหารือหรือประชุมใดๆ กับ กฟผ.ในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ในพื้นที่ อ.หัวไทร ทั้งสิ้น
ส่วน นายสุชาติ สุวรรณรัศมี ปลัดอำเภอหัวไทร ตัวแทนอำเภอหัวไทร ได้กล่าวเช่นเดียวกันว่าอำเภอหัวไทร ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ กับ กฟผ.เป็นการดำเนินการของ กฟผ.ทั้งสิ้น ก่อนที่การไต่สวนดังกล่าวจะเสร็จสิ้นลงไปในเวลา 12.00 น.ของวันเดียวกัน