xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊ก กฟผ.” เต้นข่าวใช้ 30 ล.ฟาดหัวท้องถิ่นที่นครฯ “นายก อบต.” เป้าหมายยันทาบทามจริง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นครศรีธรรมราช - เผย ผู้ใหญ่ใน กฟผ.เต้นผางแบบนั่งไม่ติดเก้าอี้ กับกรณีข่าวสะพัดหว่านงบ 30 ล้าน ฟาดหัว 5 อบต.ในพื้นที่เป้าหมายดันสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เรียกทีมรับผิดชอบลุยงานในพื้นที่เข้ากรุง เพื่อเคลียร์ปัญหาด่วนแล้ว ด้าน “นายก อบต.ท่าขึ้น” หนึ่งในท้องถิ่นที่อาจถูกเงินหล่นทับ ยันถูกทาบทามให้เขียนโครงการขอรับเงินสนับสนุนจริง ท้าถ้าบริสุทธิ์ใจทำไมไม่แจกจ่ายงานให้ทุก อบต.เมืองคอน ขณะที่ ส.อบต.เป้าหมายระบุการกระทำที่แอบแฝง แสดงว่ายังไม่เข้าใจคนใต้ดีพอ ชี้ อาจจะจะถูกต่อต้านเต็มที่แน่

จากกรณีความเคลื่อนไหวของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เร่งเดินเครื่องเตรียมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน 2 แห่งใน จ.นครศรีธรรมราช คือ ในพื้นที่ อ.หัวไทร และ อ.ท่าศาลา โดยเฉพาะใน อ.หัวไทร นั้น ศูนย์ข้อมูลพัฒนาพลังงานไฟฟ้านครศรีธรรมราช (ศูนย์เตรียมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน) ได้ประสานงานกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่เป้าหมาย 5 แห่ง โดยให้แต่ละแห่งจัดทำโครงการเสนอ กฟผ.เพื่อขอสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งจะมีวงเงินให้ อบต.ละ 6 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 30 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเรื่องของงบประมาณ 30 ล้านบาทที่ กฟผ.จะนำมาให้ อบต.ในพื้นที่เป้าหมายก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินใน จ.นครศรีธรรมราช นั้น ขณะนี้มีการตั้งข้อสังเกตว่า งบประมาณก้อนนี้จะมาจากส่วนไหนของ กฟผ.และใครจะเป็นผู้อนุมัติ ซึ่งจะเป็นการสร้างความหวังให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ แบบเลื่อนลอยหรือไม่

สำหรับความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องนี้ แหล่งข่าวภายใน กฟผ.เปิดเผยว่า ชัดเจนแล้วว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินใน จ.นครศรีธรรมราช ที่จะต้องสร้างให้ได้เป็นที่แรก คือ ในพื้นที่ อ.หัวไทร ดังนั้น ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องนี้ จึงเกิดมาที่ อ.หัวไทร ในขณะนี้ แต่ในส่วนของ อ.ท่าศาลาที่ กฟผ.มีเป้าหมายจะก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกแห่งนั้น เวลานี้อาจจะต้องยุติไปก่อน แต่ความเคลื่อนไหวของเจ้าหน้าที่ทำงานด้านต่างๆ ยังคงต้องดำเนินต่อไป หรืออีกนัยหนึ่งเพื่อเตรียมความพร้อมตามแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า และเคลื่อนไหวเพื่อให้ฝ่ายต่อต้านคัดค้านมีความสับสน

“การดำเนินการต่างๆ ไปตามแผนของ กฟผ.หรือแผนพัฒนาพลังงาน ซึ่งมีถึงกว่า 10 โรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่จะต้องสร้างในพื้นที่เหมาะสม คือ อยู่ริมชายฝั่งทะเล ขณะนี้การเดินหน้าแผนต่างๆ ได้เริ่มขึ้นอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ทีมงานเตรียมการก่อสร้างที่อยู่ในฝ่ายก่อสร้างพลังงานความร้อนได้กระจายลงไปในพื้นที่ จ.สงขลา จ.ตรัง จ.กระบี่ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.ตราด ซึ่งล้วนแต่เป็นพื้นที่ริมชายฝั่ง เพื่อเตรียมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าในทำนองเดียวกับที่ จ.นครศรีธรรมราช แต่ที่นครศรีธรรมราชได้เกิดปัญหาจากการปฏิบัติงานของทีมงาน จึงมีการส่งฝ่ายสื่อสารองค์กรลงมาทำงานร่วมด้วย แต่ยังคงเป็นไปในรูปแบบเดิม ซึ่งยังไม่สามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้” แหล่งข่าวใน กฟผ.กล่าวและเสริมว่า

ในประเด็นการหว่านเงินจำนวนถึง 30 ล้านบาท ไปให้ 5 อบต.ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราชนั้น ผู้บริหารระดับสูงของ กฟผ.ทราบเรื่องนี้แล้ว ได้มีการตรวจสอบในสายงานที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่นครศรีธรรมราช ซึ่งพบว่าเป็นความจริง ได้มีการประสานกับ อบต.ในพื้นที่เพื่อจัดทำโครงการเสนอตามนโยบายของผู้บริหารฝ่ายรายหนึ่งที่ไปพูดเปิดช่องทางไว้ ทำให้ผู้ปฏิบัติในพื้นที่ดำเนินการสานต่อ จึงเกิดกรณีนี้ขึ้น และมีการเรียกทีมงานในส่วนนี้ขึ้นประชุมด่วนที่กรุงเทพฯ ในเวลานี้แล้วด้วย

“แท้จริงแล้วการอนุมัติงบ 30 ล้านบาทนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย และงบประมาณส่วนนี้จะมาจากตรงส่วนไหนของ กฟผ. การที่ไปเปิดช่องทางว่าจะสนับสนุนงบประมาณให้ อบต. จึงเสมือนว่าไปหลอกให้ท้องถิ่นดีใจ หรืออีกนัยหนึ่งอาจเป็นได้ว่าจะมีการอนุมัติงบประมาณจริง แต่อาจจะถูกลากยาวไปเพื่อให้มีกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าที่เกิดขึ้นก่อนแล้ว จึงนำงบนั้นมาจัดสรรให้ หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่น่าสงสัย การทำงานในลักษณะเช่นนี้จึงก่อให้เกิดปัญหา และเกิดภาพความไม่จริงใจกับคนในพื้นที่ อีกทั้งจะขยายวงไปเรื่อยๆ อันเป็นจุดอ่อนจุดใหญ่ของ กฟผ.ทีเดียว” แหล่งข่าวระบุ

ขณะที่ นายบุญโชค แก้วแกม นายก อบต.ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ได้ถูกพูดจาทาบทามจากเจ้าหน้าที่ กฟผ.เช่นเดียวกัน เพื่อให้มีการเขียนโครงการแล้วยื่นของบประมาณสนับสนุนจาก กฟผ.ซึ่งถ้า กฟผ.มีความจริงใจในเรื่องแบบนี้จริง ก็อยากจะขอให้ กฟผ.สนับสนุนให้ครบทุกๆ อบต.ในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช การจะมาให้เพียง อบต.ในพื้นที่เป้าหมายของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเท่านั้นถือว่าไม่บริสุทธิ์ใจ

“อีกทั้งการทำโครงการต่างๆ ก็ต้องมีการตรวจสอบให้ถูกต้องด้วย การจะให้ อบต.เขียนโครงการแบบง่ายๆ แล้วตามมาด้วยการมีใบเสร็จแบบไม่ถูกต้อง แบบนี้ถือว่าใช้ไม่ได้ ถ้าจะแจกเงินให้กับ อบต.จริงๆ ก็เปิดเวทีกลางสนามหน้าเมืองนครฯ เลย แล้วแจกเงินกันให้ชัดเจนไปเลย แต่ละ อบต.จะได้มีเงินใช้กันบ้าง” นายก อบต.ท่าขึ้น กล่าว

ขณะที่สมาชิกสภา อบต.(ส.อบต.) แห่งหนึ่งใน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช รายหนึ่ง กล่าวว่า ตนได้รับทราบมาเบื้องต้นว่า งบประมาณจาก กฟผ.ในเรื่องนี้ หากทาง อบต.ต้องการจะสร้างอะไรให้เขียนเป็นโครงการเสนอไปยัง กฟผ.ได้เลย โดยทาง กฟผ.จะสนับสนุนงบประมาณส่วนหนึ่งให้ ซึ่งตนก็ยังไม่มั่นใจว่าจะได้จริงหรือไม่ เพราะมีสิ่งสาธารณูปโภคจำนวนมากที่ชาวบ้านยังคงต้องการ

“หากถามว่าถ้าโครงการที่จะทำให้ชุมชนหรือบ้านเมืองเจริญขึ้น ทุกคนก็อยากได้ทั้งนั้น แต่การอยากได้จะต้องอยู่บนพื้นฐานความถูกต้องด้วย ไม่ใช่มีอะไรแอบแฝง ซึ่งผมไม่ได้ว่า กฟผ.แอบแฝงนะ แต่ต้องการให้ กฟผ.กล้าๆ ที่จะเข้ามาพูดคุยกับ อบต.แบบไม่ต้องผ่านล่าม หาก กฟผ.จริงใจก็สมควรที่จะบอกกล่าวกันให้ชัดเจน งบส่วนนี้จะช่วย อบต.และไม่ได้หมายความว่า อบต.จะต้องมีผลประโยชน์ต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน” ส.อบต.ในพื้นที่ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่ในเป้าหมาย กฟผ.กล่าวก่อนจะตอกย้ำว่า

วันนี้ กฟผ.ใช้วิธีการลงมากวนชาวบ้านอีกแล้ว ผมขอบอกว่า การมอบเงินให้ อบต.หากเป็นจริงก็จะเป็นประโยชน์ชุมชน แต่หากแอบแฝงก็คงจะต้องเจอกัน กฟผ.คงยังไม่รู้จักคนใต้ดีพอ งบประมาณนั้นน่ะอยากได้ แต่จะให้สนับสนุนให้เข้ามาทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกระทบต่อชุมชนนั้น ผมไม่เห็นด้วย และพร้อมคัดค้านเต็มที่เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น