xs
xsm
sm
md
lg

สตูลระดมสมองรับมือน้ำท่วม-เทศบาลเตรียมผันน้ำลงทะเล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สตูล – เทศบาลเมืองสตูลเร่งหาวิธีรับมือปัญหาน้ำท่วม โดยผันน้ำลงทะเล ขณะจังหวัดสตูลรับนโยบายมาตรการนายกฯหญิง 10 ข้อแก้เรื่องน้ำ

วันนี้ (15 ต.ค.) นายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล และผู้รักษาราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล พร้อม ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และผู้อำนวยการฝ่ายชุมชนและสังคม พร้อมนายแมน ปุโรทกานนท์ นักวิจัยพื้นที่โครงการ ร่วมกับราชการหลายฝ่ายทั้ง ชลประทานจังหวัดสตูล ผังเมือง สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.สตูล หอการค้าจังหวัดสตูล อบจ.สตูล และภาคประชาชนที่รับผลกระทบน้ำท่วม เข้าร่วมประชุมในโครงการวิจัยการพัฒนาระบบประเมินผลแบบเสริมพลังเพื่อการพัฒนางานพื้นที่ (ระยะที่ 1 ) จังหวัดสตูล ที่ห้องประชุมชั้น 2 อบจ.สตูล

ทั้งนี้ หลังทางคณะที่เดินทางมาพูดคุยร่วมกันแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมในจังหวัดสตูลนั้น เป็นการที่มาเพื่อชี้แจ้งกรอบในการวิเคราะห์ปัญหา และการศึกษาประเด็น ปัญหาที่เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ โดยทางคณะวิจัยต้องการลงสำรวจเพื่อหาแนว ทางการแก้ปัญหาระยะยาวเรื่องน้ำท่วมในจังหวัดสตูล โดยมาประชุมในครั้งนี้เพื่อต้องการชี้ให้เห็นความสำคัญ การดูแลระบบทางน้ำ และการป้องกัน ซึ่งต้องมาพูดคุยทำความเข้าใจในวันนี้ ก่อนเจ้าหน้าที่ลงศึกษาหาข้อมูลเรื่องน้ำในจังหวัดสตูล

นายแมน ปุโรทกานนท์ นักวิจัยพื้นที่โครงการ กล่าวว่า ที่เดินทางมาสำรวจในครั้งนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่จะวิเคราะห์ และกระบวนการทำงานในพื้นจังหวัดสตูล โดยการทำวิจัยหมายถึงว่า สตูลเป็นหนึ่งเป้าหมายที่ต้องหาทางแก้ไข โดยกระบวนการในวันนี้เพื่อมาชี้แจ้ง และขอให้หน่วยงานภาครัฐให้ความร่วมมือในการทำงาน แต่สิ่งที่สำคัญหลักการทำงานวิจัยที่นี่ คือ วิเคราะห์ภาพรวมลุ่มน้ำ หรือหมายความว่า ทำความเข้าใจระบบทางน้ำ จับสภาพองค์ประกอบของลุ่มน้ำ และเลือกระบบนิเวศเด่นที่จะเป็นตัวแทนลุ่มน้ำ ซึ่งจะเป็นในเชิงทำงานหนึ่งยุทธศาสตร์ เช่น ลักษณ์พื้นที่ชุมน้ำของจังหวัดสตูล ป่าต้นน้ำหรือจุดที่เป็นปัญหาทางน้ำ ตามมาคือ เลือกพื้นที่ระบบย่อยที่มีลักษณ์เด่นที่สำคัญ เพื่อทำการศึกษา และประเมินทรัพยากร หมายถึงที่จะสามารถรู้ไปจนหาทางแก้ไขน้ำได้

พื้นที่เป้าหมายดำเนินการของการวิจัยที่จะลงสำรวจคือพื้นที่ อำเภอควนโดน ตำบลย่านซื่อ และตามมาพื้นที่อำเภอเมือง ได้แก่ ตำบลฉลุง บ้านควน คลองขุด ควนขัน ตำมะลัง เทศบาลเมือง ที่จะต้องดูและแก้ไขเรื่องน้ำที่จะลงมือทำอย่างเป็นทางการ เร็วๆนี้

ขณะเดียวกันด้านนายพิบูลย์ รัชกิจประการ นายกเทศบาลเมืองสตูล เองก็ได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นมาที่ผ่านมานั้น เรื่องน้ำท่วมหนักในพื้นที่ตัวตำบลพิมาน โดยหารือกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลเช่นเดียวกัน ในมาตรการป้องกันในระยะยาว และสำรวจบ้านเรือนที่สร้างบ้าน ริมคลอง เช่น คลองมำบัง คลองตายาย และหลังห้องสมุด และทางน้ำที่ไหลขึ้นมาบนตัวเมือง โดยนายกเทศบาลเมืองสตูล ได้สั่งเจ้าหน้าที่โยธา เทศบาลออกสำรวจบ้านเรือนที่สร้างริมลำคลอง และเตรียมประกาศควรยกบ้านหรือผู้ที่จะสร้างบ้านริมคลองให้สูงขึ้นกว่าเดิม 2 เท่าเพื่อรับระดับน้ำที่อาจมาเยอะและน้ำทะเลหนุน พร้อมกับเตรียมจัดกระสอบทราย รองรับป้องกันท่วงที ก่อนน้ำมาและจัดทำเครื่องสูบน้ำที่พร้อมไว้หลังน้ำท่วม ซึ่งส่วนใหญ่หากน้ำท่วมหนัก น้ำจะไหลตัดเส้นทางเข้าออกของตัวเมืองสตูล ซึ่งเป็นรอยต่อเทศบาลเมืองและเทศบาลคลองขุดในช่วงสะพานตายาย

นายพิบูลย์ รัชกิจประการ นายกเทศบาลเมืองสตูล กล่าวว่า สิ่งตอนนี้ที่สำคัญ คือ ทางเทศบาลเอง ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำ เป็นพื้นที่สุดท้าย โดยชาวบ้านต้องเดือดร้อนเช่นกัน ตอนนี้เราได้วางแผนพร้อมรองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูลเห็นว่า 1.ควรเตรียมกระสอบทรายไว้ 2.เรือทองแบน 3.เครื่องสูบน้ำ 4.สัญญาณเตือนภัย 5 คน ที่เข้าช่วยเหลือชาวบ้านได้ทันท่วงที โดยเทศบาลเมืองนั้นจะประชุมจัดการน้ำทันที เพื่อป้องกันน้ำท่วม และสืบเนื่องจากในทุกปีช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน จังหวัดสตูลมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พาดผ่าน ทำให้ฝนตกหนักถึงหนักมากเป็นบริเวณกว้างในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยและนำไปสู่การเกิดสถานการณ์อุทกภัยได้

ด้านนายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า จังหวัดสตูล มีลุ่มน้ำที่สำคัญจำนวน 3 ลุ่มน้ำ ประกอบด้วยลุ่มน้ำคลองดุสน ลุ่มน้ำคลองท่าแพ และลุ่มน้ำคลองละงู ปริมาณน้ำฝนโดยเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 2,700 มิลลิเมตรต่อปี สำหรับในปี 2554 ช่วง 10 เดือนที่ผ่านมามีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 1,700 มิลลิเมตร ซึ่งยังคงมีปริมาณน้ำฝนอีกประมาณ 1,000 มิลลิเมตร ในช่วง 2 เดือนที่เหลือ การเตรียมความพร้อมในการรับสถานการณ์ ทางจังหวัดได้นำวิธีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมแบบบูรณาการตามนโยบาย 2P 2R มาดำเนินการ

ได้แก่ ด้านการเตรียมการ การป้องกันล่วงหน้า การเผชิญเหตุและการฟื้นฟู มีการตั้งคณะทำงานโดยเฉพาะ ทั้ง 3 ลุ่มน้ำ เพื่อลงไปคุยกับชุมชนเพื่อหาแนวทางในการแก้ไข ซึ่งมีทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว สำหรับการแก้ไขปัญหาระยะสั้นสามารถทำได้เลย ซึ่งจะเริ่มประมาณสัปดาห์หน้า โดยคณะทำงานแต่ละลุ่มน้ำจะนำข้อมูลมาเสนอต่อที่ประชุมอีกครั้งหลังจากลงพื้นที่พบชุมชนแล้ว

รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ยังกล่าวถึงการแจ้งเตือนภัยว่า ต้องมีระบบเตือนภัยที่เป็นการให้ความรู้แก่ประชาชนในการปฏิบัติตัว ซึ่งต้องทำการสำรวจว่ามีพื้นที่ไหนบ้างที่เป็นพื้นที่เสี่ยง การแจ้งเตือนจะจัดทำเป็นป้ายถาวร เพื่อเป็นองค์ความรู้ให้คนในชุมชนได้ปฏิบัติตัวเมื่อเกิดภัยขึ้นมา

สิ่งที่สำคัญอีกทางหนึ่ง คือ สัญลักษณ์การเตือนภัยของน้ำในพื้นที่จังหวัดสตูลยังขาดตกบกพร่อง โดยทางจังหวัดปรึกษาแล้วจะทำกำหนดจุดเตือนภัยโดยใช้ธงสีต่างๆ เป็นสัญลักษณ์ให้ประชาชนเห็นหรือสังเกตได้ง่ายด้วย เช่น สีเขียว เหลือง หรือแดง เพื่อให้การอพยพหรือขนข้าวของไปยังจุดที่ปลอดภัยได้อย่างทันท่วงที ส่วนขณะนี้ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เข้าไปขุดลอกคลองที่ตื้นเขิน และสิ่งกีดขวางทางน้ำเพื่อให้น้ำไหลสะดวกมากยิ่งขึ้น

ด้านนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้มีการประชุม ผ่านระบบประชุมทางไกล (vtc ) จากทำเนียบรัฐบาลวันที่ 5 ตุลาคม 54 ที่ผ่านมา โดยมอบ มาตรการแก้ปัญหาจังหวัดที่ประสบอุทกภัย และจังหวัดที่รับมือ เตรียมการดั้งนี้

มาตรการที่ 1 ดำเนินวิธีการผันน้ำในพื้นที่น้ำท่วมให้ผันลงทะเลโดยเร็วที่สุด, มาตรการที่ 2 รายงานสถานการณ์ปริมาณน้ำร่วมกับ ศอส., มาตรการที่ 3 แก้ปัญหาน้ำท่วมที่ลุ่มขัง, มาตรการที่ 4 รายงานการช่วยเหลือผู้ประสพภัย อย่างเร่งด่วน, มาตรการที่ 5 ให้ปรับปรุงระบบ ข้อมูล ข่าวสาร ให้ทันสถานการณ์, มาตรการที่ 6 การป้องกันรักษาเมือง ชุมชนเทศบาลขนาดใหญ่, มาตรการที่ 7 ให้กองทัพร่วมกับชลประทาน ประสานเรื่องขุดลอกคูคลอง และหาแนวพื้นที่ขุดแนวคลองใหม่, มาตรการ 8 โครงการชลประทานอาสา ซึ่งรัฐบาลจะสนับสนุนน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าใช้จ่าย เช่น โครงการใช้เรือจำนวนมากในการดำเนินการดันน้ำลงทะเล เมื่อน้ำเริ่มลดจากขอบตลิ่ง, มาตรการที่ 9 ชี้แจ้งให้ภาคสังคมทุกภาคส่วนรับทราบถึงปัญหาของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม, มาตรการที่ 10 รอยต่อระหว่างจังหวัดให้ภาครัฐ / ภาคเอกชน ตั้งคณะกรรมการระหว่างจังหวัด เพื่อหาวิธีผันน้ำลงทะเลโดยแบ่งกลุ่มจังหวัด ศอส. พิจารณาแบ่งกลุ่มจังหวัด

กำลังโหลดความคิดเห็น