“กิตติรัตน์” เรียกหน่วยงานเศรษฐกิจ ถกรับมือผลกระทบน้ำท่วม 17 ต.ค.นี้ วางแนวใช้เงิน 8 หมื่นล้าน ที่เกลี่ยมาจากแต่ละกระทรวง ฟื้นฟูประเทศ “ธีระชัย” เผย ตัวเลขจีดีพีสูญ 6-9 หมื่นล้านบาท ประเมินแค่เดือนเดียวและเฉพาะนิคมฯ โรจนะ ตัวเลขจริงสูงกว่านั้นแน่
วันที่ 14 ต.ค.นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ให้สัมภาษณ์ที่สนามบินดอนเมือง ถึงการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ว่า ในวันที่ 17 ต.ค.นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ จะเรียกประชุมหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อหารือถึงการกำหนดแนวทางในการนำงบประมาณที่ได้จากการเกลี่ยมาจากแต่ละกระทรวงซึ่งมีเม็ดเงินอยู่ประมาณ 8 หมื่นล้านบาท นำมาใช้ในการซ่อมแซมและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบน้ำท่วม
ส่วนการจ่ายเงินชดเชยครอบครัวละ 5,000 บาทนั้น รัฐบาลจะเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณให้เร็วขึ้น จากเดิมที่จะเบิกจ่ายได้ในเดือน ก.พ.55 ทั้งนี้ จะจ่ายในวงเงินของธนาคารออมสิน ผ่านโครงการกองทุนหมู่บ้านและกองทุนเอสเอ็มแอล โดยจะมีการแบ่งจ่ายเป็นช่วงๆ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่จะกำหนดชัดเจนอีกครั้ง ทั้งนี้ จะถือโอกาสในการจ่ายเงินผ่านกองทุนหมู่บ้าน เน้นในการสร้างรายได้ และการสร้างมูลค่าเพิ่มให้เห็นผลอย่างแท้จริง
นายธีระชัย กล่าวอีกว่า ส่วนผลกระทบที่เกิดกับนิคมอุตสาหกรรมใน จ.พระนครศรีอยุธยา นั้น ได้ประเมินความเสียหายแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ ด้านทรัพย์สิน และ ด้านรายได้ที่กระทบต่อจีดีพี ซึ่งทางด้านทรัพย์สินนั้น ส่วนใหญ่ภาคอุตสาหกรรมได้ทำประกันวินาศภัยไว้อยู่แล้ว ซึ่งส่วนนี้ไม่ค่อยกังวล เพราะนิคมอุตสาหกรรมต่างๆสามารถได้รับการเยียวยาผ่านตามกระบวนการของบริษัทประกันได้ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือผลกระทบของรายได้ที่กระทบต่อจีดีพี จากการประเมินเคยคาดการณ์ว่ากระบวนการผลิตของโรงงานต่างๆ จะหยุดเพียงแค่ 1 เดือน และยังไม่ได้นับรวมนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
“ความเสียหายในขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อจีดีพีไปแล้ว 6-9 หมื่นล้านบาท แต่นี่เป็นเพียงการประเมินในแค่ 1 เดือน ซึ่งเชื่อว่าผลกระทบต่อจีดีพีคงจะมากกว่าเดิม โดยการประเมินนั้น ประเมินแค่ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะเท่านั้น” นายธีระชัย กล่าว
รมว.คลัง กล่าวว่า สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการหลังจากน้ำลด คือ การเร่งกระบวนการผลิตในภาคอุตสาหกรรม รวมถึงต้องหามาตรการต่างๆ เข้าไปช่วยเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมเดินหน้าต่อไปได้ ทั้งนี้ ในส่วนของสถาบันการเงินที่จะให้ความช่วยเหลือต่อโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ นั้น ตนอยากให้ธนาคารของรัฐเป็นตัวนำ ในการพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างยืดหยุ่น ละมุนละม่อม และใช้สามัญสำนึกพิจารณาในเชิงธุรกิจ เพราะลูกค้าที่ได้รับผลกระทบในขณะนี้ ไม่ใช่นิสัยไม่ดี แต่เป็นเหตุการณ์บางช่วงที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ จึงอยากให้ทางสถาบันการเงินช่วยผ่อนปรนเงื่อนไขด้วย
“ยอมรับว่า หลังจากปัญหาน้ำท่วมผ่านพ้นไปแล้ว รัฐบาลจำเป็นต้องมีการหารือถึงการบริหารจัดการน้ำในระยะยาวใน 25 ลุ่มน้ำให้เป็นระบบ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด และมีความสำคัญมากกว่าที่จะซ่อมแซมของเดิม หากเราไม่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศ ผมไม่อยากให้เมืองไทยเป็นส่วนหนึ่งของแหวน แต่อยากให้เป็นหัวแหวน การบริหารจัดการในเรื่องนี้อาจจะต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ 3-5 ปี ของงบประมาณในการที่จะบริหารจัดการน้ำให้เป็นระบบ อีกทั้งผมยังมีแนวคิดว่าอาจจะต้องจัดสรรพื้นที่ที่เป็นที่พร่องน้ำ หรือเร่งการเพาะปลูกให้เร็วขึ้น เพราะเมื่อช่วงที่น้ำมามากจะได้มีพื้นที่รับน้ำมากขึ้น” รมว.คลัง กล่าว