สตูล - รองผู้ว่าราชการจังหวัดลงสำรวจแนวทางป้องกันการน้ำท่วม เร่งใช้มาตรการ 2 พี 2 R จัดการระบบน้ำจังหวัดสตูล ด้านภาคประชาชน ยังไม่มั่นใจรัฐบาลจะแก้ปัญหาน้ำได้
วันนี้ (8 ต.ค.) นายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เตรียมรับมือน้ำท่วมในจังหวัดสตูล ที่หวั่นว่าในช่วงเดือนพฤศจิกายน ในพื้นที่จังหวัดสตูลมักจะเกิดน้ำท่วมเป็นประจำทุกเดือน พร้อมกับรับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวน บวกกับมรุสมพายุที่พัดเข้ามาในพื้นที่ของประเทศไทย พร้อมนำนโยบายของรัฐบาลนายกรัฐมนตรี ปู ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 2 พี 2 R แก่ปัญหาน้ำท่วมโดยจะนำมาใช้รับมือน้ำท่วมในจังหวัดสตูล โดยตอนนี้ทางจังหวัดได้ประชุมวางแผนรับมือแล้ว ถึงแม้สถานการณ์น้ำในจังหวัดยังอยู่ในสภาวะปกติ โดยลงตรวจดูเส้นทางน้ำไหลผ่านลงสู่ทะเล
ขณะด้านนายสำเริง วงศ์มุณีวรณ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสตูล กล่าวถึงการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดสตูล ว่า เนื่องจากสภาพพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของ จ.สตูล เป็นภูเขา ที่ราบเชิงเขา และที่ราบลุ่มลาดลงสู่ทะเลอันดามัน ระดับความลาดชันของพื้นที่ต้นน้ำกับปลายน้ำมีความลาดชันมาก ส่งผลให้ระบบการระบายน้ำทำได้โดยสะดวก ทั้งนี้ ถ้าน้ำทะเลไม่หนุนจะท่วมขังไม่นาน การเฝ้าระวังพื้นที่ช่วงต้นน้ำถึงปลายน้ำจึงสามารถทำได้ดีกว่าพื้นที่อื่น
ด้านภาคประชาชน ตัวแทนแต่ละตำบลทั้ง 7 อำเภอในพื้นที่จังหวัดสตูลได้มาร่วมประชุมหารือแนวการการจัดระบบทางน้ำไหลผ่าน และแสดงระดมสมองความคิด ในมุมมองภาคประชาชน พบว่าสาเหตุที่จังหวัดสตูลเกิดน้ำท่วมระบบทางน้ำในพื้นที่จังหวัดสตูลมีการขยายถนน การวางผังเมือง สร้างห้างสินค้ามาทับเส้นทางน้ำจึงเกิดการระบายน้ำไม่ทัน จึงเป็นสาเหตุน้ำท่วมหนักในจังหวัดสตูลในปี 54นี้ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา
นายเหนือชาย จิระอภิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล กล่าวว่า แนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมจังหวัดต่างๆ และจังหวัดสตูล เราใช้มาตรการทางด้าน2 พี 2 R น้ำมาแก้ปัญหาน้ำท่วมที่ผ่านมา ซึ่งทางจังหวัดสตูลนั้นได้มีการประชุมรับมือก่อนหน้าที่ทุกครั้ง แต่ไม่สามารถที่จะรับรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าว่า สถานการณ์น้ำที่จะท่วมจังหวัดสตูล จะหนักแค่ไหน แต่การรองรับเรามีความพร้อม เช่นเดียวกับการป้องกันเตือนภัยดินโคลนถล่มนั้น เราจะต้องจัดเวรยามหมู่บ้านเฝ้า ดูพื้นที่เสี่ยงในช่วงฝนที่ตกหนัก และ ทำประกาศพื้นที่เสี่ยงให้ชัดเจน เพราะหากเกิดขึ้นมาทางเจ้าหน้าที่จะได้เข้าช่วยเหลืออพยพได้ทัน
ด้านนายสำเริง วงศ์มุณีวรณ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสตูล กล่าวว่า สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสตูล เป็นหน่วยงานกลางในการบูรณาการการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยร่วมกับหน่วยงานอื่น โดยจังหวัดได้ตั้งศูนย์เฉพาะกิจในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยปี 54 ขึ้น มีผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล กระจายข้อมูล
ฃตลอดจนการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในการเฝ้าระวัง แจ้งเตือน ในการสนับสนุน การประชาสัมพันธ์ การช่วยเหลือ โดยแต่ละฝ่ายรับบทบาทหน้าที่ไปปฏิบัติ เช่น ชลประทานจังหวัด มีหน้าที่ตรวจเช็คสภาพลุ่มน้ำ รายงานน้ำท่าทุกพื้นที่ให้ทางจังหวัดทราบ สถานีอุตุนิยมวิทยาสตูลมีหน้าที่รายงานปริมาณน้ำฝน สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดมีหน้าที่ขยายผล รวบรวมข้อมูล แจ้งเตือนประชาชนได้รับทราบ เพื่อเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของจังหวัดสตูล จากการที่ได้มีฝนตกลงมาในพื้นที่ในช่วงนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมา ปริมาณน้ำท่าต้นทุนที่มีอยู่ การหนุนของระดับน้ำทะเล และการตรวจสอบระบบการระบายน้ำของคูคลองต่างๆ ว่ามีสิ่งปิดกั้นขวางทางน้ำหรือไม่ ทำให้มั่นใจได้ว่าขณะนี้จะยังไม่เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่
นอกจากนี้ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสตูล ยังฝากเตือนพี่น้องประชาชนให้ติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่อง เพื่อเตรียมตัวรับมือได้อย่างทันท่วงที โดยเฉพาะในชุมชน ทั้งนี้ พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.2550 ให้บทบาทท้องถิ่นในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นด่านแรก ในการช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ทั้งนี้ ท้องถิ่นและชุมชนต้องเตรียมพร้อมรับภัยพิบัติ ต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ให้ได้ ต้องมีแผนของชุมชนในการอพยพและการดำรงชีวิตด้วย และหน่วยงานที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาล ไฟฟ้า ประปา ต้องมีแผนรองรับให้พร้อม โดยทุกหน่วยงานต้องบูรณาการกัน เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ