xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" โอกาสทองของไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดงาน พร้อมปาฐกถาพิเศษ
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ - ธปท.เผยพร้อมรับมือ AEC ชี้คุณภาพชีวิตของประชาชนในอาเซียนดีขึ้น จึงเร่งขยายตลาดในภูมิภาคด้วยกันเองมากกว่าส่งออกไปตะวันตก ด้านสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ ย้ำ! คนไทยต้องเน้นหนักทักษะภาษาอังกฤษ ชี้เป็นโอกาสทองแลกเปลี่ยนปัจจัยการผลิตระหว่างกัน เอื้อการลงทุนของต่างชาติ

วันนี้ (2 ก.ย.) ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ จัดสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2554 หัวข้อ “อนาคตเศรษฐกิจไทยสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)” ขึ้น ที่ห้องแกรนด์บอลล์รูม โรงแรมลีการ์เดนส์ พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา โดยมี ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธานเปิดงาน ทั้งนี้ มีตัวแทนจากหน่วยงานราชการ สถาบันการเงิน ผู้ประกอบการธุรกิจ นักวิชาการ ตลอดจนนักศึกษาและประชาชนทั่วไป จาก 14 จังหวัดภาคใต้เข้าร่วมงานประมาณ 500 คน

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community หรือ AEC) เป็นการสานต่อโครงการจากการก่อตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA (ASEAN Free Trade Area) เพื่อเชื่อมโยงประเทศสมาชิกให้เป็นฐานผลิตและฐานบริการเดียวกัน

ทั้งนี้ เนื่องจากโครงสร้างประชากรในภูมิภาคอาเซียนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ภาคอุตสาหกรรมมีการขับเคลื่อนมากขึ้น ชนชั้นกลางเพิ่มจำนวนและมีกำลังซื้อมากขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อจากภาคครัวเรือนสูงขึ้นตามไปด้วย ประเทศในกลุ่มอาเซียนจึงเป็นตลาดส่งออกทดแทนประเทศมาหาอำนาจทางเศรษฐกิจเดิม เช่น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และประเทศญี่ปุ่น ที่กำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอยู่ในขณะนี้

นอกจากธนาคารแห่งประเทศไทย จะดูแลเรื่องนโยบายทางการเงินของประเทศให้มีเสถียรภาพมากที่สุดแล้ว ยังมีภารกิจหลักที่จะต้องเป็นพี่เลี้ยงให้กับประเทศในกลุ่มอาเซียนที่ยังมีการพัฒนาไม่มากนัก ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ด้วย เนื่องจากไทยเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของอาเซียน รองจากอินโดนีเซีย ประกอบกับมีภูมิประเทศส่วนใหญ่ใกล้เคียงกันด้วย

ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทยกล่าว กล่าวทิ้งท้ายว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนของประชาคมอาเซียนนั้น จะเกิดขึ้นได้จากการที่ประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลายเดินหน้าไปพร้อมๆ กัน ดังคำกล่าวโบราณที่ว่า “ถ้าต้องการเดินทางให้เร็วจงไปคนเดียว แต่หากต้องการเดินทางให้ไกลจงไปหลายคน”

ด้าน ดร.วิรไท สันติประภพ รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ขณะนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมชราภาพ คือมีจำนวนผู้สูงอายุสูงมาก เทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม มาเลเซีย แล้วพบว่าประเทศเหล่านี้มีคนวัยแรงานมากกว่า และประชาชนกำลังก้าวสู่การเป็นชนชั้นกลาง คือ มีรายได้ดี มีคุณภาพชีวิตดี ให้ความสำคัญกับการอุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นด้วย ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจึงไม่ใช่ทางเลือก แต่ถือเป็นความจำเป็นที่ไทยจะต้องเข้าร่วม เพื่อขยายฐานเศรษฐกิจและการลงทุน

ทั้งนี้ คนไทยส่วนใหญ่มักจะมีความกังวลว่า หากเข้าร่วมประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้วไทยจะสู้ประเทศเพื่อนบ้านได้หรือไม่ กรณีนี้ตนอยากให้มองว่าเหมือนการตัดแบ่งเค้ก การรวมตัวกันจะทำให้ก้อนเค้กมีขนาดใหญ่ขึ้น ต่อให้ตัดแบ่งในจำนวนชิ้นที่เท่าเดิม ทุกคนก็จะได้เค้กชิ้นใหญ่กว่าเดิมอยู่ดี นอกจากนี้ ยังสามารถแลกเปลี่ยนทรัพยากรที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการผลิต อาทิ แรงงานส่วนเกิน พลังงาน เงินทุน ระหว่างกันได้อีกด้วย ดร.วิรไท กล่าว

ส่วนนายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานหอการไทย เผยว่า ขณะนี้กลุ่มประเทศอาเซียนกำลังเข้าสู่กระบวนการปรับลดภาษี ซึ่งตนมองว่าการเจรจาปรับลดภาษีสินค้ามีปัญหา ไม่ใช่แต่เพียงปัญหาการเจรจาระหว่างประเทศเท่านั้น ยังมีปัญหาการเจรจาระหว่างกระทรวงต่างๆ ของรัฐที่ไม่ค่อยสอดรับกันด้วย ดังนั้น การจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องประสานงานกันอย่างดี จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด

ฝ่าย ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาอีกคน เปิดเผยว่า สิ่งสำคัญที่แรงงานไทยและนักเรียน นักศึกษาไทย จะต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนคือ ทักษะด้านภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นภาษาสากล รวมทั้งศึกษาภาษาที่ 3 เช่น จีน เกาหลี หรือภาษาของเพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียนเพิ่มเติมด้วยจะดีมาก

สำหรับปัญหาเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงาน ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า ไม่ว่าจะมีการย้ายแรงงานด้านวิชาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล วิศวกร สถาปนิค หรือแรงงานทักษะในธุรกิจบริการ ทั้งการย้ายคนเข้ามาและการย้ายคนอออกไปประเทศอื่นนั้น มีกำแพงด้านภาษาเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ นโยบายการเคลื่อนย้ายแรงงานของประเทศไทยยังไม่ชัดเจนเท่าที่ควร และส่วนใหญ่เน้นเชิงรับมากกว่าเชิงรุกด้วย

ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจ ตลอดจนนักศึกษา และภาคประชาชน ควรศึกษาทำความความใจข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในอนาคตด้วย เพื่อจะสามารถนำไปใช้ในการปรับตัว และวางแผนการดำเนินงานต่างๆ ได้ทันท่วงที และเตรียมตัวเป็น “คนอาเซียนเชื้อชาติไทย” ในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย
เวทีเสวนา เรื่อง ไทยจะรับมือกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างไร
เวทีเสวนา เรื่อง ไทยจะรับมือกับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น