ตรัง - คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาการบุกรุกพื้นที่ชายหาดปากเมง ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา จ.ตรัง ซึ่งยังไม่ชัดเจนเรื่องกรรมสิทธิ์ ทำให้เอกชนที่ลงทุนเช่าที่ อบจ.ตรัง ถูกจับกุมข้อหาบุกรุก และยังมีปัญหาที่ชาวบ้านตั้งบ้านเรือนในพื้นที่อีกด้วย
นายบุญส่ง โควาวิสารัช รองประธานคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา พร้อมด้วยคณะอนุกรรมการ รวม 5 คน ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูล และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนกรณีขอให้พิจารณาศึกษาสอบสวนปัญหาการบุกรุกพื้นที่ชายหาดปากเมง ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา และรับฟังบรรยายสรุปสภาพพื้นที่และปัญหาต่างๆ โดยมีนายสุวิทย์ สุบงกฎ รองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง, นายสุชิน สุธาชีวะ นายอำเภอหาดสำราญ, นายเสริฐ ทองย้อย นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ไม้ฝาด ผู้แทนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตรัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ
นายรวมศิลป์ มานะจงประเสริฐ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง กล่าวว่า อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง มีเนื้อที่ 144,292 ไร่ แยกเป็นพื้นที่ทางทะเล 85,762 ไร่ พื้นที่เกาะ 5,580 ไร่ พื้นที่บนบก 58,530 ไร่ โดยแยกเป็นพื้นที่ป่าชายหาด 7,023 ไร่ กับป่าชายเลน 4,554 ไร่ และพื้นที่ป่าธรรมชาติ 46,952 ไร่ มีอาณาเขตตั้งอยู่ในเขต อ.กันตัง และ อ.สิเกา ครอบคลุมพื้นที่ 6 ตำบล 20 หมู่บ้าน
ปัจจุบันพื้นที่ทางบกและทางทะเล มีการพิสูจน์สิทธิ์แล้ว รวม 15,796 ไร่ มีพื้นที่ถูกบุกรุกตั้งแต่ปี 2541-ปัจจุบัน รวม 6,091 ไร่ และยังมีป่าเหลือโดยประมาณ 36,282 ไร่ ซึ่งที่ผ่านมาพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมมีประชาชนถือครองพื้นที่ใช้ประโยชน์ เพื่อเป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พื้นที่ชุมชน และยังมีการบุกรุกจับจองสิทธิ์การถือครองที่ดินอย่างหนาแน่น เพื่อทำสวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้
สำหรับชายหาดปากเมงนั้น มีเนื้อที่ 915 ไร่ มีชาวบ้านอยู่อาศัย 104 ครัวเรือน 387 คน และมีผู้ประกอบการร้านค้าในหาดปากเมง 64 ราย ซึ่งที่ผ่านมามักพบปัญหาการบุกรุกชายหาด โดยการนำโต๊ะเก้าอี้ร่มมาตั้งเพื่อบริการนักท่องเที่ยว ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้กวดขันจับกุมมาตลอด แต่ชาวบ้านก็ยังไม่เชื่อฟัง และมักจะมีการจัดตั้งม็อบประท้วงต่อต้านเจ้าหน้าที่บ่อยครั้ง
ส่วนการพิสูจน์ที่ดินบริเวณหาดปากเมง หมู่ที่ 4 ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา บริเวณช่วงที่ 1 ได้ดำเนินการรังวัดเมื่อปี 2548 บริเวณท่าเทียบเรือหาดปากเมง-สามแยกนาหละ มีการพิสูจน์สิทธิ์ จำนวน 169 ราย 213 แปลง เนื้อที่ 397-1-97 ไร่ ส่วนบริเวณช่วงที่ 2 ได้ดำเนินการรังวัดเมื่อปี 2549 บริเวณสามแยกนาหละ-สะพานคลองปอ มีการพิสูจน์สิทธิ์ จำนวน 24 ราย 35 แปลง เนื้อที่ 109-1-2 ไร่
ทั้งนี้ เป็นพื้นที่ราษฎรอยู่ก่อนประกาศอุทยานแห่งชาติ จำนวน 174 ราย 202 แปลง เนื้อที่ 158-2-77 ไร่ และราษฎรอยู่หลังประกาศอุทยานแห่งชาติ จำนวน 89 ราย 121 แปลง เนื้อที่ 348-0-22 ไร่ ซึ่งขณะนี้ขั้นตอนการพิสูจน์สิทธิ์ และอยู่ระหว่างการพิจารณากรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีปัญหาในปัจจุบัน คือ บริเวณชายหาดปากเมง ซึ่งมีเนื้อที่915 ไร่ มีราษฎรอาศัยอยู่ 104 ครัวเรือน 387 คน
ส่วนบริเวณพื้นที่สงวนเลี้ยงสัตว์ปากเมง (ทุ่งอ่าวเมาะ) ซึ่งเดิมทีอยู่ในพื้นที่จํานวน 2,025 ไร่ 3 งาน 97 ตารางวา โดยได้ขึ้นทะเบียนไว้เป็นที่สาธารณประโยชน์ สําหรับประชาชนใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ พาหนะ ร่วมกันตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2481 โดยอาศัยอํานาจตามความใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน พ.ศ.2478 ต่อมาได้ออกหนังสือสําคัญสําหรับที่หลวง ลงวันที่ 30 เมษายน 2511 ซึ่งบางส่วนเป็นพื้นที่ทับซ้อนในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม เนื้อที่ 841-3-64 ไร่
ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 ได้มี พ.ร.ก.ถอนสภาพที่สาธารณประโยชน์ทุ่งอ่าวเหมาะทั้งแปลง เพื่อให้ อบจ.ตรังจัดหาประโยชน์ กระทั่งในสมัยที่ นายกิจ หลีกภัย ดํารงตําแหน่ง นายก อบจ.ตรัง ที่ประชุม สภา อบจ.ตรัง ได้มีมติให้นําที่ดิน จํานวน 69 ไร่ มาจัดหาประโยชน์ โดยการเปิดให้เอกชนเช่าในอัตราระยะเวลาเช่า 20 ปี และเพิ่มอัตราเช่า 15 % ทุก 5 ปี แต่ขณะนี้ยังมีเอกชนมาเช่าเพียงแค่ 1 รายเท่านั้น
สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะอุทยานฯ ซึ่งอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงดังกล่าว ได้เข้าจับกุมเอกชนซึ่งเช่าที่ดินจาก อบจ.ตรัง เพื่อเข้าไปทําประโยชน์ กระทั่งกลายเป็นข้อพิพาทเกิดขึ้น เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องกรรมสิทธิ์ ความเดือดร้อนจึงตกไปอยู่กับเอกชนผู้เช่าที่ดินแปลงดังกล่าวโดยตรง เนื่องจากได้ชําระเงินค่าเช่าที่ดินให้กับ อบจ.ตรัง ไปแล้ว แต่ยังไม่สามารถเข้าไปทําประโยชน์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
นายบุญส่ง โควาวิสารัช รองประธานคณะกรรมาธิการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวว่า จะนำกรณีปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้นไปศึกษาข้อเท็จจริง เพื่อประมวลเรื่องร้องเรียนส่งให้กับคณะกรรมาธิการชุดใหญ่ หลังจากนั้นจะส่งเรื่องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป