ตรัง - 2 ผู้ช่วยและที่ปรึกษา รมต.สาทิตย์ ลงพื้นที่ชี้แจงนโยบายโฉนดชุมชนให้ชาวบ้าน ต.ในเตา อ.ห้วยยอด จ.ตรัง ยืนยันไม่กังวลการสานต่อโครงการ แม้จะมีการยุบสภาแล้วเปลี่ยนขั้วการเมือง
วันนี้ (23 เม.ย.) เมื่อเวลา 12.30 น. ที่โรงเรียนในเตาพิทยาคม ต.ในเตา อ.ห้วยยอด จ.ตรัง นายนิพนธ์ บุญภัทรโร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมนายสาธร วงศ์หนองเตย ที่ปรึกษา นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการโฉนดชุมชน ลงพื้นที่เปิดการสัมมนาเรื่องโฉนดชุมชน เพื่อการทำกินและรักษาที่ดินอย่างยั่งยืน เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจให้กับชาวบ้าน ผู้นำชุมชน อปท. และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่ ต.ในเตา ต.ควนเมา ต.หนองปรือ ต.เขาไพร อ.ห้วยยอด และ อ.รัษฎา ร่วมรับฟังกว่า 500 คน
นายสาธร วงศ์หนองเตย ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากเดิมมีพื้นที่นำร่อง 88 พื้นที่ ซึ่งขณะนี้มีชุมชนยื่นเรื่องเข้ามา 300 กว่าชุมชนทั่วประเทศ ในส่วนของคณะกรรมการประสานงานจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความถูกต้องแล้ว และสามารถอนุมัติให้ดำเนินการในรูปแบบโฉนดชุมชนไปแล้ว 35 พื้นที่ และมีการยื่นเพิ่มเติมอีก 40 พื้นที่ ซึ่งต้องรอตรวจสอบต่อไป
ในส่วนของ จ.ตรัง มีชุมชนทั้งหมด 5 พื้นที่ ประกอบด้วย อ.ห้วยยอด อ.ปะเหลียน อ.รัษฎา อ.นาโยง และ อ.ย่านตาขาว รวม 12,000 ไร่ ซึ่งขณะนี้ ปจช.ได้อนุมัติให้ดำเนินการในรูปแบบโฉนดชุมชนเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างการส่งเรื่องให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ดำเนินการตามกฏหมายต่อไป
สำหรับการยุบสภาในเดือนหน้านี้ นายสาธร ยืนยันว่า ไม่มีผลกระทบต่อนโยบายการออกโฉนดชุมแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาเพื่อแก้ปัญหาความเดือดร้อนในเรื่องที่ดินทำกินของประชาชนที่มีข้อพิพาทกับหน่วยงานรัฐ แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งและเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ก็ไม่มีใครยกเลิกระเบียบนี้ได้ และเตรียมเดินหน้ายกฐานะระเบียบให้เป็นกฎหมายให้ได้ หากใครไม่เห็นด้วย ก็ต้องเดินหน้าแก้ปัญหาต่อไป ซึ่งเรื่องดังกล่าวยอมรับว่า ชาวบ้านกังวลอย่างมาก จึงต้องชี้แจงทำความเข้าใจ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน
นางกันยา ปันกิติ คณะกรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ซึ่งรับผิดชอบในพื้นที่ จ.ตรัง พัทลุง และกระบี่ กล่าวว่า ขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่ ต.ละมอ อ.นาโยง ซึ่งยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการโฉนดชุมชน เนื่องจากยังมีปัญหาข้อพิพาทในที่ดิน กำลังถูกเจ้าหน้าที่คุกคามตัดฟันทำลายพืชผลอาสิน เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมารวมแล้วกว่า 3 แปลง ส่งผลให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก ส่วนพื้นที่ ต.ในเตา อ.ห้วยยอด ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนเช่นกัน แต่หลังจากเข้าร่วมโครงการแล้ว ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้เข้ามาสำรวจรังวัดร่วมกับชาวบ้าน เพื่อกันที่ดินกับป่าสมบูรณ์ให้มีความชัดเจนแล้ว
ส่วนการที่รัฐบาลชุดนี้เตรียมยุบสภาในเดือนพฤษภาคมนี้ นางกันยา กล่าวว่า การเรียกร้องสิทธิ์ในที่ดินทำกินของชาวบ้านที่มีข้อพิพาทกับหน่วยงานรัฐนั้น ได้มีมานานแล้วก่อนการที่รัฐบาลจะมีนโยบายดังกล่าวออกมา และถึงแม้ยุบสภาและเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ ไม่ใช่รัฐบาลชุดเดิม ก็ไม่รู้สึกกังวลแต่อย่างใด ทางองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ก็ยังยืนยันจะเดินหน้าผลักดันนโยบายดังกล่าวต่อไป เพราะนโยบายนี้ไม่ได้เป็นนโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ แต่เป็นของประชาชนที่ร่วมกันผลักดันไปยังรัฐบาล
นอกจาก 5 พื้นที่ที่เสนอเข้าร่วมโครงการแล้ว คิดว่าน่าจะมีอีกหลายพื้นที่ที่จะเสนอเพิ่มเติมต่อรัฐบาล ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่พิพาททับซ้อนในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าชายเลน เป็นต้น แต่ขณะนี้ยังระบุไม่ได้ว่ามีมากน้อยแค่ไหน เพราะต้องรอการสำรวจ ส่วนจะได้รับอนุมัติหรือไม่นั้น คณะกรรมการเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ซึ่งรับผิดชอบในพื้นที่ จ.ตรัง พัทลุง และกระบี่ กล่าวย้ำชัดเจนว่า ไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาล แต่อยู่ที่ชาวบ้าน
ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่อนุมัติ ทางชาวบ้านยืนยันที่จะทำกินในที่ดินนี้ต่อไป เพราะถือเป็นที่ดินทำกินดั้งเดิม รวมทั้งมีการบริหารจัดการกันเองในชุมชน และไม่ได้มีการบุกรุกแต่อย่างใด จึงถือเป็นโฉนดชุมชนอย่างแท้จริง ไม่จำเป็นที่รัฐบาลจะต้องรับรอง และถึงแม้ว่ารัฐไม่รับรองก็ไม่ว่า เพราะชาวบ้านเห็นว่า มีความชอบธรรมในการถือครองสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว