xs
xsm
sm
md
lg

“กมธ.ท่องเที่ยววุฒิสภา” ลุยแก้ปัญหาเขตอุทยานฯ ที่ชายหาดตรัง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ตรัง - คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา ลงพื้นที่ติดตามปัญหาการพัฒนาชายหาดปากเมง ประตูสู่แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลและเกาะแก่งชื่อดังฝั่งทะเลอันดามันด้าน จ.ตรัง หลังเกิดปัญหายืดเยื้อมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะการบริหารจัดการของอุทยานฯ ที่ไม่สอดรับกับความต้องการของประชาชน

นายวิเชียร คันฉ่อง สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จ.ตรัง เปิดว่า คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว วุฒิสภา ได้ให้ความสนใจลงมาติดตามปัญหาการพัฒนาชายหาดปากเมง ประตูสู่แหล่งท่องเที่ยวทางทะเลและเกาะแก่งชื่อดังในฝั่งอันดามันของ จ.ตรัง ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ต.ไม้ฝาด อ.สิเกา หลังจากได้รับการร้องเรียนจากผู้ประกอบการบริเวณชายหาด และตนเองเองก็เคยลงพื้นที่ไปรับทราบปัญหาหลายครั้ง และพบว่าปัญหาเกิดขึ้นจริงและสร้างผลกระทบเป็นวงกว้าง

โดยผลกระทบดังกล่าวทำให้นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะชาวต่างชาติไม่อยากเดินทางมาท่องเที่ยวบริเวณนั้น เนื่องจากมีสภาพที่ไม่ค่อยจะเหมาะสม และไร้การพัฒนาอย่างที่ควรจะเป็น ขณะเดียวกันก็ยังได้รับการร้องเรียนเรื่องการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ด้วย จึงเสนอให้คณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวของวุฒิสภา ลงพื้นที่มาศึกษาปัญหา เพื่อหาทางแก้ไขชายหาดแห่งนี้ให้เป็นรูปธรรม พร้อมทั้งเชิญส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาหารือร่วมกัน

ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมมีนโยบายที่จะแก้ปัญหาด้วยการให้เช่าพื้นที่บริเวณชายหาดปากเมง ในอัตราตารางเมตรละ 30 บาทต่อเดือน ซึ่งถ้าเป็นผู้ประกอบการคิดว่าคงจะพอจะรับได้ แต่สำหรับในส่วนของชาวบ้านที่ต้องการพื้นที่เพื่อปลูกบ้านอยู่อาศัย หรือนำไปประกอบการเกษตร เช่น สวนยางพารา สวนปาล์มน้ำมัน อาจจะได้รับผลกระทบ เพราะอัตราค่าเช่าที่กำหนดไว้ค่อนข้างจะสูง เนื่องจากเป็นการนำระเบียบมาบังคับใช้เหมือนกันทุกพื้นที่ทั่วทั้งประเทศ

แต่ในความเป็นจริงจะไปเทียบกับบริเวณชายหาดที่ จ.กระบี่หรือ จ.ภูเก็ตคงไม่ได้ เพราะแหล่งท่องเที่ยวของ จ.ตรังยังได้รับการพัฒนาที่แตกต่างกันมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการและชาวบ้านบางรายที่ค่อนข้างจะมีความชัดเจนว่า เข้ามาอยู่อาศัยก่อนที่จะถูกประกาศทับเป็นเขตพื้นที่อุทยาน ก็ควรเปิดโอกาสให้เช่าในอัตราที่เป็นธรรมและยอมรับกันได้

นอกจากนั้น ยังมีพื้นที่อีกประมาณ 2,000 ไร่เศษ ซึ่งถูกประกาศให้เป็นทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์เมื่อปี 2511 ซึ่งต่อมาปี 2524 ได้มีการประกาศทับเป็นเขตพื้นที่อุทยานฯ และในปี 2528 ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตรัง เป็นผู้เข้าไปบริหารจัดการทุ่งสงวนเลี้ยงสัตว์แปลงนี้ แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินการอะไรได้ เพราะยังคงมีปัญหาขัดแย้งในข้อกฎหมาย ทำให้ไม่สามารถนำพื้นที่ตรงจุดนี้มาทำการพัฒนา เพื่อสร้างความเจริญให้กับชายหาดปากเมงอย่างที่ควรจะเป็นได้

นายวิเชียรกล่าวว่า พอจะมีใครเข้าไปดำเนินการอะไรก็จะมีปัญหาเกิดขึ้นมาโดยตลอด อย่างล่าสุดก็คือ การที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จะวางระบบเคเบิ้ลใต้น้ำ เพื่อจ่ายกระแสไฟฟ้าจากพื้นที่บนฝั่งไปยังเกาะลิบง อ.กันตัง ซึ่งชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนมาอย่างยาวนานแล้ว แต่กลับไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะติดขัดตรงที่กฎระเบียบของอุทยานฯ

ขณะเดียวกันในการพัฒนาด้านอื่นๆ บริเวณชายหาดปากเมง เช่น ถนนหนทาง ประปา ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการผลักดันโดยหน่วยงานอื่นๆ รวมทั้ง ส.ว. ส.ส. อบจ. หรือ อบต. แต่อุทยานฯ ซึ่งเป็นผู้ครองครองพื้นที่โดยตรงกลับไม่เคยดำเนินการอะไรเลย แม้กระทั่งการดูแลสิ่งแวดล้อม หรือการรักษาความสะอาด แทนที่จะเป็นหน้าที่ของอุทยานฯ แต่ต้องให้ อบต.ไม้ฝาดเข้าไปดำเนินการแทน และต้องเสียงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาในส่วนนี้ถึงปีละ 2 ล้านบาท แถมผู้ที่ไปเที่ยวในเขตอุทยานก็ยังถูกเก็บเงินอีก โดยที่ไม่เคยมีการพูดถึงเรื่องของการพัฒนาชายหาดเลย

“ฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่อุทยานฯ จะต้องเลิกมองความคิดเก่าๆ แล้วแบ่งสรรปันส่วนพื้นที่บางจุดให้หน่วยงานอื่นเข้าไปช่วยบริหารจัดการบ้าง หรือเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบเพื่อให้สามารถพัฒนาพื้นที่ได้ง่ายขึ้น ดีกว่าอุทยานฯ จะหวงพื้นที่เอาไว้แบบนี้โดยไม่มีประโยชน์อะไร” นายวิเชียรกล่าวในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น