ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต เปิดเวทีระดมความเห็นการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของภูเก็ต เพื่อรองรับการเปิดเสรีอาเซียนในอีก 4 ปีข้างหน้า ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวแนะภูเก็ตต้องเร่งพัฒนาตัวเองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่ยั่งยืน พร้อมทั้งสร้างจุดกลายเป็นกลุ่มอันดามันที่จะเพิ่มนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น และพัฒนาบุคลากรให้พร้อมรับการแข่งขัน
วันนี้ (28 ก.ค.) ที่ห้องประชุม RPM รอยัลภูเก็ต มารีน่า อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายสมประสงค์ โขมพัตต์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นประธานเปิดการสัมมนา “Phuket Creative Tourism II” ซึ่งทางสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จัดขึ้น
ทั้งนี้ ได้มีการเสวนา เรื่อง การสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันของภูเก็ต เพื่อรองรับการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน ในปี 2558 หรือปี 2015 โดยมีวิทยากร ประกอบด้วย นายสมประสงค์ โขมพัตต์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายวิจิตร ณ ระนอง อดีตประธานคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ศ.ดร.จีระ หงส์รดารมภ์ เลขามูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ และ รศ.นิศา ชัชกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต โดยมี รศ.ดร.ประภา กาหยี อธิบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต นายสมบูรณ์ จิรายุส นายกสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง คณะกรรมการและสมาชิกสมาคม ตลอดจนอาจารย์และนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เข้าร่วม
นายสมบูรณ์ กล่าวว่า การจัดสัมมนาดังกล่าว เพื่อเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต ในการพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตในระยะยาว ซึ่งในปี 2553 ได้กำหนดยุทธศาสตร์โดยมีเป้าหมายในการพัฒนาจังหวัดภูเก็ตให้เป็นเมืองท่องเที่ยวเชิงคุณภาพอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นการใช้รูปแบบผสมผสานระหว่างชุมชนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และการพัฒนาการจัดการแบบยั่งยืน ตลอดจนเพื่อให้สมาชิกของสมาคม และผู้ประกอบการในจังหวัดภูเก็ตได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ตลอดจนเพื่อสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขันของภูเก็ตเพื่อรองรับประชาคมอาเซียนในอีก 4 ปีข้างหน้าด้วย
ภูเก็ตต้องพัฒนาแบบยั่งยืน
นายวิจิตร ณ ระนอง อดีตประธานคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่รู้จักกันทั่วโลก แต่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้น ถือว่ายังไม่สมบูรณ์ เพราะการพัฒนาที่ผ่านมามุ่งเน้นที่การใช้ทรัพยากรเพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้คำนึงถึงการดูแลและรักษาทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นหัวใจของการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืน และที่ผ่านมา ภูเก็ตยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ ดังนั้น เพื่อสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น ดังนั้น การเปิดเสรีอาเซียนจึงจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาในส่วนของทรัพยากรมนุษย์ควบคู่กันไปด้วย
“ภาพรวมการท่องเที่ยวของภูเก็ตนั้น มีการเติบโตที่ดีทั้งเรื่องของตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวและและรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อถามถึงเรื่องความยั่งยืนก็ยังมีข้อกังขากันอยู่ ดังนั้น การพัฒนาที่จะเกิดขึ้นต่อไปจะมองเฉพาะมิติของตัวเลขหรือรายได้อย่างเดียวคงไม่พอ แต่จะต้องคำนึงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน และให้เกิดความหลากหลายด้วยการเพิ่มมูลค่าของสินค้าทางการท่องเที่ยวที่มีอยู่” นายวิจิตร กล่าวและว่า
ที่ผ่านมา เราไม่ได้สนใจอาหารจานหลัก คือ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือเป็นหัวใจและเส้นเลือดอย่างหลักของภูเก็ตอย่างจริงจัง รวมถึงการให้บริการที่มีมาตรฐาน ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถของการแข่งขัน ตลอดจนการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และการเพิ่มความหลากหลายให้กับธุรกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวและเป็นธุรกิจที่มาช่วยเสริมหรือไม่ทำลายการท่องเที่ยว เช่น บริการสุขภาพ กีฬา ไอที เป็นต้น ขณะเดียวกัน ก็จะต้องมีการดูแลสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคมโดยการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามไว้ โดยไม่หลงระเริงไปกับวัฒนธรรมใหม่ๆ ที่รุกล้ำเข้ามาจนลืมรากเหง้าของตัวเอง
ด้าน ศ.ดร.จีระ หงส์ลดารมภ์ เลขามูลนิธิพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ระหว่างประเทศ กล่าวถึงอนาคตของภูเก็ต ว่า จะต้องเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ยั่งยืน มีคุณภาพ มีมูลค่าเพิ่มและกระจายรายได้ให้คนไทยมากกว่าชาวต่างประเทศ เนื่องจากแบรนด์ของภูเก็ตเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง แต่ Brand Positioning จะต้องสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยใช้ยุทธวิธีในการเพิ่มความแข็งแกร่ง นอกจากเป็นเมืองเพื่อท่องเที่ยวและพักผ่อนแล้ว จะต้องสามารถทำงานได้ด้วย ส่วนไหนที่ขาดก็จะต้องเติมเต็ม เช่น โครงสร้างพื้นฐาน ระบบไอที การบริหารจัดการ เป็นต้น ขณะเดียวกัน ในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฎภูเก็ตก็จะต้องมีการปรับตัวโดยการผลิตทุนมนุษย์ออกมารองรับการเติบโตและการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว
โดยเฉพาะเรื่องของภาษาต่างประเทศ รวมถึงการเพิ่มธุรกิจใหม่ๆ เช่น ไอที การแพทย์ การฝึกอบรม เป็นต้น นอกจากนี้ ก็จะต้องมีการติดต่อประสานงานกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคให้มากขึ้น นอกเหนือจากมุ่งหวังเฉพาะกลุ่มยุโรปแล้วจะต้องเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญๆ ในอาเซียน และพัฒนาการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัดในอันดามันด้วย เพื่อกระจายความเจริญสู่จังหวัดใกล้เคียง
ขณะที่ นายสมประสงค์ โขมพัตต์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การปรับตัวเพื่อรองรับการเปิดประชาคมอาเซียนนั้นเป็นเรื่องท้าทายสำหรับภูเก็ตอย่างมาก เช่น การพัฒนาความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องกับเมืองนีซ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งขาดความต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่เป็นโอกาสที่ดีมากสามารถดำเนินการได้ในระดับท้องถิ่น โดยเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภูเก็ตในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามามากขึ้น ควรมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มจังหวัดใกล้เคียงด้วย
เช่น กระบี่ พังงา เป็นต้น แม้ว่าโดยตัวของภูเก็ตนั้นจะขายได้อยู่แล้ว เพื่อให้เกิดการกระจายนักท่องเที่ยวและมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเสน่ห์สำคัญของภูเก็ตนอกจากเรื่องของอาหาร วัฒนธรรมประเพณีต่างๆ แล้ว แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน เพราะจะเห็นว่าปัจจุบันจะเน้นเฉพาะการพัฒนาทางด้านวัตถุค่อนข้างมาก โดยดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เช่น หาดในยาง เป็นต้น นอกจากนี้ก็จะต้องเพิ่มความหลากหลายทั้งในเรื่องของไอที กีฬา เป็นต้น ซึ่งล้วนแล้วแต่ท้าทายความสามารถทั้งสิ้น