นครศรีธรรมราช - สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ ส่งบริษัทที่ปรึกษาย่องเงียบประชุมกลุ่มย่อย ทำความเห็นจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ เครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะนครศรีฯ บุกค้านอ่านแถลงการณ์ระบุขัดต่อคำสั่ง ครม.
เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (21 ก.ค.) ที่โรงแรมทักษิณ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยบริษัท คอนซัลแทนท์ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทผู้รับจ้างดำเนินการโครงการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ เพื่อทำการศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ในภาพรวม
โดยมีตัวแทนของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น นายอุทัย ภูริพงศธร พลังงานจังหวัดนครศรีธรรมราช นายสัณห์ เงินถาวร หัวหน้าคณะทำงานศูนย์ข้อมูลการพัฒนาพลังงานไฟฟ้านครศรีธรรมราช (คณะทำงานเตรียมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน) กลุ่มตัวแทนกลุ่มชาวบ้านในแถบชายฝั่งทะเลอ่าวไทย จาก อ.ขนอม, อ.สิชล, อ.ท่าศาลา, อ.เมือง, อ.ปากพนัง และ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ประมาณ 60 คน ร่วมประชุมกลุ่มย่อย เพื่อระดมความคิดเห็น ในโครงการศึกษาจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ซึ่งบรรยากาศเป็นอย่างเงียบเชียบมีการประชุมกันในห้องโดยเฉพาะ
หลังจากการเปิดประชุม นายประยุทธ วรรณพรหม อาสาสมัครพิทักษ์สิ่งแวดล้อมนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับเชิญเข้าร่วมการระดมความเห็นครั้งนี้พร้อมด้วยเครือข่ายที่มาประชุมร่วมได้แสดงความคิดเห็น และกล่าวโจมตีการดำเนินการของบริษัทที่ปรึกษาในการจัดทำแผนพัฒนาภาคใต้ในครั้งนี้ ว่า ไม่ชอบธรรม ทั้งในด้านกระบวนการและกติกาที่ได้ตกลงกันไว้แล้วระหว่างประชาคมทั้งประเทศกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ แล้วนั้น
จนกระทั่งมีการพยายามให้ยกเลิกการจัดเวทีระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ เนื่องจากตัวแทนชาวบ้านเชื่อว่าแผนการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคใต้ จะมีแผนการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ ตามมาภายใต้แผนพัฒนาของประเทศในแถบชาวฝั่งทะเล ซึ่งจะส่งผลต่อวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของพี่น้องในแถบชายฝั่ง โดยเฉพาะกลุ่มชาวประมงชายฝั่ง
หลังจากนั้น มีความพยายามในการขอร้องให้ยุติเวทีดังกล่าวและมีการอ่านแถลงการณ์เครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะนครศรีธรรมราช โดยมีใจความสำคัญระบุว่าการดำเนินการของบริษัทภายใต้การว่าจ้างของสภาพัฒน์ อยู่นอกเหนือมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ โดยเมื่อวันที่ 23 ต.ค.53 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ได้มีหนังสือถึง ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้สภาพัฒน์ ดำเนินการจัดทำแผนพัฒนาภาคใต้ตามมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ซึ่ง ครม.มีมติเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมติสุขภาพแห่งชาติกรณีแผนพัฒนาภาคใต้ที่ยั่งยืน เมื่อ 30 ก.ค.54 ตามหนังสือที่ นร.0506/13067
ทั้งนี้ มีมติสมัชชามีมติเกี่ยวกับการทำแผนพัฒนาภาคใต้โดยสรุปว่า 1.ขอให้ ครม.มอบหมายให้ สศช.ทบทวนร่างแผนแม่บทภาคใต้ โดยมีหลักสำคัญภายใต้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม 2.สศช.ตั้งกรรมการประกอบขึ้นทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมใช้เครื่องมือที่หลากหลาย มุ่งตัดสินใจเชิงยุทธศาสตร์ คำนึงถึงผลกระทบรอบด้าน 3.ให้กรรมการตามข้อ 2 ผลักดันให้แผนได้รับการปฏิบัติอย่างจริงจัง ทั้งระดับภาค ท้องถิ่น กลไกติดตาม กำกับประเมิน เผยแพร่ข่าวสารให้ประชาชนทราบ และ 4.ขอให้ ครม.ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้การดำเนินการของคณะกรรมการมีความต่อเนื่อง
นายประยุทธ ยังกล่าวแถลงการณ์ต่อว่าการดำเนินการดังกล่าวฝืนมติสุขภาพแห่งชาติ และฝืนมติ ครม.ดังนั้น ทางเครือข่ายเตรียมเข้าชื่อฟ้องร้องต่อศาลปกครองกรณีสภาพัฒน์ไม่ดำเนินการตามคำสั่งของ ครม.ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนภาคใต้ และเคารพมติประชาชนทั้งประเทศ การดำเนินการของบริษัทผู้รับจ้างจากสภาพัฒน์จึงถือเป็นโมฆะ เครือข่ายขอให้ยุติดำเนินการ และจะติดตามการดำเนินงานของสภาพัฒน์ จนกระทั่งได้ปฏิบัติตามคำสั่ง ครม.
ต่อมาผู้เข้าร่วมประชุมในส่วนของภาคประชาชนจากภาคส่วนต่างๆ ได้พร้อมกันออกจากที่ประชุมราว 30 คนคงเหลือเพียงเฉพาะตัวแทนภาคส่วนราชการเท่านั้น ซึ่งหลังจากที่ภาคประชาชนได้ออกจากที่ประชุมไปจนหมด ได้มีการประชุมกันต่อโดยไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนมาก แต่ส่วนใหญ่นั้นคงมุ่งไปที่เนื้อหาการพัฒนาแบบสอดคล้องกับวิถีชีวิต การประกอบอาชีพที่มีอยู่เดิมของประชาชน ส่วนเอกสารที่ได้มีการแจกจ่ายนั้นมีอยู่ด้วยกัน 4 ส่วน มีเนื้อหาสำคัญคือ สถานการณ์ การพัฒนาของพื้นที่ศึกษา แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนา การวิเคราะห์ศักยภาพ โอกาส จุดอ่อน จุดแข็งของพื้นที่ หรือหลักการ SWOT และร่างบทบาทและประเด็นการพัฒนา
อย่างไรก็ตาม ในความเคลื่อนไหวของสภาพัฒน์ที่ส่งบริษัทผู้รับจ้างลงมาศึกษานั้นได้สร้างความหวาดวิตกให้กับกลุ่มประชาชนที่ติดตามความเคลื่อนไหวของการพัฒนาและหวั่นเกรงถึงการลงทุนขนาดใหญ่ในพื้นที่ที่ส่งผลกระทบเช่นโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่นครศรีธรรมราช ที่มีการดำเนินการอีกครั้งในช่วงนี้โดยมีเป้าหมายอยู่ใน อ.ท่าศาลา และ อ.หัวไทร โดยขณะนี้เป้าใหญ่นั้นอาจจะมีการก่อสร้างใน อ.หัวไทร ทำให้กลุ่มเครือข่ายอนุรักษ์พื้นที่ต่างๆ เริ่มมีปฏิกิริยาต่อต้านที่แข็งกร้าวมากขึ้น