xs
xsm
sm
md
lg

โรงไฟฟ้าถ่านหินเมืองคอนคืนชีพ กล่อมสื่อท้องถิ่นหนุนอีกรอบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายทรงวุฒิ พัฒน์แก้ว ชี้ กฟผ.ควรถอยออกจากพื้นที่อย่างจริงจัง หลังจากที่เข้ามาสร้างความแตกแยกและยอมยุติความเคลื่อนไหวไปแล้วเมื่อหลายเดือนก่อน
นครศรีธรรมราช - ไฟฟ้าถ่านหินนครศรีธรรมราช เริ่มเคลื่อน เจ้าหน้าที่เริ่มรุกจ่อสร้างรอบใหม่ บอกแค่ “ปชส.ข้อมูล” กฟผ.บ้อท่าเรียกสื่อท้องถิ่น เป็นแนวร่วมกระบอกเสียง-อาขยาน 7 ขั้นตอนสร้างโรงไฟฟ้า

วันนี้ (19 ก.ค.) ความเคลื่อนไหวในการเตรียมการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินในพื้นที่ อ.ท่าศาลา และ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งได้ชะลอตัวไปเพียงระยะหนึ่ง เนื่องจากแรงต้านของประชาชนมีเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในอำเภอท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช มีการเชื่อมโยงการต่อต้านคัดค้านการเข้ามาของโรงไฟฟ้าตั้งแต่ระดับชุมชนชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไปจนถึงฝ่ายการเมืองระดับชาติในพื้นที่ ทำให้เป็นปัญหาในการเตรียมการก่อสร้างของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตอย่างหนัก แม้ว่าฝ่ายการไฟฟ้าจะอ้างว่าเป็นเพียงการเข้ามาประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจข้อมูลกับประชาชนในพื้นที่เท่านั้น

ขั้นตอนการดำเนินการยังอยู่เพียงขั้นตอนแรกใน 7 ขั้นตอน แต่อย่างไรก็ตามในข้อมูลเชิงลึกกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม โดยแผนการก่อสร้างและพื้นที่ได้ถูกกำหนดไว้เสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งในชุดแรกมีอยู่ด้วยกัน 3 จุด คือ 1.พื้นที่ ต.ท่าขึ้น อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช 2.พื้นที่แถบ ต.เกาะเพชร และ ต.หน้าสตน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช และ 3.พื้นที่บ้านไม้รูด ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่ จ.ตราด

ความคืบหน้าในเรื่องนี้ มีรายงานล่าสุด ว่า คณะทำงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้เริ่มแผนปฏิบัติการรอบใหม่หลังจากชะลอโครงการไปได้ราว 3-4 เดือน และเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมานายสัณห์ เงินถาวร วิศวกร 9 ในฐานะหัวหน้าคณะทำงานศูนย์ข้อมูลพัฒนาพลังงานไฟฟ้า นครศรีธรรมราช ได้นำ นางปราณี ไชยเชษฐ์ หัวหน้ากองสื่อสารพัฒนาโครงการ ฝ่ายสื่อสารองค์กร กฟผ.ลงพื้นที่นครศรีธรรมราช เพื่อพบปะกับหลายฝ่ายในการเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินในพื้นที่นครศรีธรรมราช รวมทั้งการเชิญสื่อท้องถิ่นในพื้นที่ส่วนหนึ่งมาพูดคุยในเรื่องดังกล่าว

จากเอกสารประชาสัมพันธ์ภายในของ กฟผ.นางปราณี ไชยเชษฐ์ หัวหน้ากองสื่อสารพัฒนาโครงการ ได้ระบุว่าการดำเนินการในพื้นที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการให้ความรู้ ความเข้าใจ ในสถานการณ์ไฟฟ้าของประเทศข้อดีข้อเสีย ข้อจำกัดของโรงฟ้าแต่ละประเภทของทุกภาคส่วน

ส่วนการดำเนินการในการก่อสร้างโรงไฟฟ้านั้นจะต้องประกอบด้วย 7 ขั้นตอน คือ 1.ศึกษาภูมิประเทศเบื้องต้น ให้ความรู้ชุมชน ประเมินความคิดเห็นชุมชน ประกาศจัดหาที่ดิน ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคม สุขภาพอนามัยของชุมชน ขออนุมัติจาก ครม.และดำเนินการก่อสร้าง ทั้งนี้ จะต้องให้ประชาชนยอมรับก่อนถึงจะดำเนินการได้ และขอให้สื่อช่วยประชาสัมพันธ์ข้อมูลพลังงานไฟฟ้าของไทย สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิง สัดส่วนด้านพลังงาน ถ่านหินสะอาด และพลังงานทางเลือกในอนาคต เพื่อสร้างความรู้ความใจให้กับประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวภายในรายหนึ่ง เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ของคณะทำงานครั้งนี้ถือเป็นความผิดพลาดอีกครั้ง ยังอยู่ภายใต้กรอบแบบเดิมๆ ที่เคยผิดพลาดมาแล้วในรอบที่แล้ว จนถึงขั้นที่จะต้องปิดศูนย์ประสานงานชั่วคราว และต้องส่งเจ้าหน้าที่ออกนอกพื้นที่ไป รวมทั้งการทำงานมวลชนที่ล้มเหลว โดยเฉพาะงานประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจกับมวลชนในพื้นที่ มีการชี้นำโดยบุคคลบางกลุ่ม ซึ่งเป็นที่รู้กันถึงกับมีการตั้งตำแหน่งให้กับบุคคลเหล่านั้นในทำนองว่า เป็นผู้จัดการ กฟผ.ประจำจังหวัด หรือผู้ช่วยผู้จัดการ กฟผ.ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นการร่วมกันละลายงบประมาณที่ กฟผ.ทุ่มลงไปในพื้นที่เป็นต้น

แม้ว่าคณะทำงานและทีมงาน จะย้อนกลับมาในพื้นที่เริ่มต้นการทำงานเพื่อเป้าหมายในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินอีกครั้ง หลังจากนี้ไม่นานจะเห็นการต่อต้านที่ชัดเจนมากขึ้นอีกครั้ง และครั้งนี้ กฟผ.จะต้องรับงานที่หนักกว่าเดิม ปรากฏการณ์ คน กฟผ.ต้มคน กฟผ.กันเองจะมีให้เห็นมากขึ้นกว่านี้

ด้าน นายทรงวุฒิ พัฒแก้ว ในฐานะแกนนำเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลา เปิดเผยว่า หาก กฟผ.ขยับที่ลงมาสร้างโรงไฟฟ้าในพื้นที่อีกครั้ง หลังจากที่ก่อนหน้านี้แม้กระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดได้มีการขอร้องให้ออกจากพื้นที่ กฟผ.รับปากตามคำเรียกร้องของประชาชนจำนวนมากและผู้ว่าราชการจังหวัด หากกลับมาครั้งนี้อีก ถือว่าเป็นการหลอกลวง เมื่อประชาชนแสดงความเจตนาความต้องการชัดแล้ว ว่าไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน กฟผ.ก็ควรที่จะหยุด

ส่วนโรงไฟฟ้าควรมีหรือไม่ควรมีนั้น ควรหยุดไปได้แล้ว ถ้าควรมีควรจะสร้างในพื้นที่ที่ประชาชนมีความต้องการ การเข้ามาแหย่เข้าแหย่ออกในพื้นที่นครศรีธรรมราชเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ

“เข้าใจว่า กฟผ.กำลังผลาญงบประมาณจำนวนมากให้เสียเปล่า อย่างไรก็แล้วแต่ เชื่อว่าการจะมาสร้างที่ท่าศาลานั้นสร้างไม่ได้แน่ ควรจะเอาเวลาที่มาตอแยกับคนในพื้นที่ผลาญงบประมาณตรงนี้ควรเอางบนี้ไปพัฒนาพลังงานทางเลือกดีกว่าไม่เกิดประโยชน์ใดๆเลย หาก กฟผ.กลับเข้ามาอีกครั้งหลังวันที่ 23 ก.ค.นี้ เราจะมีการหามือมาตรการว่าจะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้” นายทรงวุฒิกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น