xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัยลงภูเก็ตเสนอใช้เขตวัฒนธรรมพิเศษแก้ปัญหาชาวเลอันดามัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวภูเก็ต - สถาบันวิจัยสังคม ม.จุฬาฯ ลงภูเก็ต จัดเวทีเสวนาหาแนวทางแก้ปัญหาชาวเลอันดามัน พร้อมระบุชาวเลกว่า 1 หมื่นคนกำลังประสบปัญหาไร้รัฐ ขาดความมั่นคงทางด้านที่อยู่อาศัยเสนอใช้แนวคิดเขตวัฒนธรรมพิเศษสร้างความมั่นคงในทุกด้าน

วันนี้ (3 มิ.ย.) ที่ห้องประชุม สำนักงานเหล่ากาชาดจังหวัดภูเก็ต ดร.นฤมล อรุโณทัย นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย นายพลาเดช ณ ป้อมเพชร นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายประเจียด อักษรธรรมกุล หัวหน้าสำนักงานจังหวัดภูเก็ต ตัวแทนกลุ่มชาวเล หรือชาวไทยใหม่ จากพื้นที่ต่างในจังหวัดภูเก็ต อาทิ บ้านสปำ บ้านหินลูกเดียว แหลมหลา อ.ถะลาง บ้านเกาะสิเหร่ อ.เมือง ร่วมเสวนาการแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องวัฒนธรรมชาวเลและชาติพันธุ์สัมพันธ์ ซึ่งสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดขึ้น โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

โดย นายพลาเดช ณ ป้อมเพชร นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในครั้งนี้ ว่า เพื่อมารวบรวมข้อมูลต่างๆที่เกิดขึ้นกับชาวเลโดยเฉพาะปัญหาต่างๆ ของแต่ละหน่วยงาน องค์กร รวมถึงชาวเล ด้วยการร่วมหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของชาวเลในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต

ขณะที่ ดร.นฤมล กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัยรวบรวมปัญหาต่างๆของชาวเลทั้งกลุ่มมอแกน มอแกลน อูรักลาโว้ยที่อาศัยอยู่ในฝั่งอันดามัน ทั้งจังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต ตรัง สตูล ประมาณ 1 หมื่นคน พบว่า ขณะนี้กลุ่มคนดังกล่าวกำลังประสบปัญหาเรื่องของการไร้รัฐ ขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัย ถูกกีดกันในการใช้และการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและไม่สามารถทำมาหากินได้ ขณะเดียวกัน ยังถูกดูแคลนจากผู้ที่ไม่เข้าใจในวิถีวัฒนธรรมแบบชาวเลอีกด้วย ซึ่งแนวทางการแก้ปัญหาดังกล่าว คิดว่าวิธีที่น่าจะเหมาะสมและทำได้คือการใช้แนวคิดเขตวัฒนธรรมพิเศษ เพื่อสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่และความเข้มแข็งของชุมชนพื้นเมือง

โดยการคุ้มครองพื้นที่ทำมาหากิน พื้นที่ทางจิตวิญญาณ รวมทั้งส่งเสริมวัฒนธรรม การศึกษาเรียนรู้ เช่น การมีหลักสูตรท้องถิ่น ศูนย์วัฒนธรรมท้องถิ่นที่มีกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ

ดร.นฤมล กล่าวต่ออีกว่า สำหรับแนวทางการจัดทำเขตวัฒนธรรมพิเศษกลุ่มชาติพันธุ์ ชาวเลไม่ควรดำเนินการในลักษณะสูตรตายตัว แต่จะต้องมีความยืดหยุ่น สามารถปรับใช้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมของแต่ละชุมชน เนื่องจากการกำหนดเขตวัฒนธรรมพิเศษเป็นเรื่องที่ค่อนข้างใหม่ จึงควรเปิดโอกาสให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นที่รอบด้าน

แต่ทั้งนี้ จะต้องป้องกันการครอบงำด้านความคิดจากหน่วยงานหรือองค์กรที่มุ่งแสวงหากำไรและนำวัฒนธรรมไปใช้ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในเชิงพาณิชย์ด้วย การดำเนินการทุกรูปแบบจึงต้องเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง โดยจะต้องคำนึงถึงอัตลักษณ์และความเฉพาะของพื้นที่ รวมทั้งเปิดพื้นที่ให้มีการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน หน่วยงานภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน ก่อนขยายผลต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น