“ชินวรณ์” เผยเวทีประชุมการศึกษาเพื่อปวงชน มุ่งประเด็นจัดการศึกษากลุ่มประเทศสมาชิกในสภาวะขัดแย้ง ชี้ มี 32 ประเทศ อยู่ในสนามรบ พบนักเรียนตกเป็นเหยื่อ 32 ล้านคน โดนฆ่าถึง 6 ล้านคน เล็งปรับโครงสร้างสู่สันติภาพ ด้าน นักวิจัยยูเนสโก ระบุ หลายประเทศทุ่มงบด้านการทหารถึง 1.6 หมื่นล้านดอลลาร์ แนะดึงเงินหนุนงบการศึกษาประเทศยากจน
วันนี้ (23 มี.ค.) ที่ รร.รอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท จอมเทียน-พัทยา จ.ชลบุรี นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เปิดเผยภายหลังการนำเสนอผลจากรายงานการติดตามระดับโลก ปี 2554 ในการประชุมระดับสูงว่าด้วยการศึกษาเพื่อปวงชน ครั้งที่ 10 (10th Meeting of the High Level Group on Education for All หรือ EFA) ว่า การประชุมในครั้งนี้ ทำให้ประเทศสมาชิกของยูเนสโกได้ตระหนัก และทบทวนปฏิญญาจอมเทียนเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา ให้เดินไปข้างหน้าต่อไป โดยเฉพาะการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นไปจะต้องมุ่งเน้นเรื่องการจัดการศึกษาในประเทศสมาชิกที่ยังมีสภาวะความขัดแย้งกันอยู่ ซึ่งขณะนี้มีประเทศที่มีสถานการณ์สู้รบถึง 32 ประเทศ โดยกระทบกับนักเรียนประมาณ 32 ล้านคน และในจำนวนนี้มีกลุ่มนักเรียน หรือเด็กและเยาวชน โดนฆ่าจากสภาวะดังกล่าวถึง 2 ล้านคน พิการ 6 ล้านคน ดังนั้น ทุกประเทศจึงต้องการที่จะใช้การศึกษาเพื่อปวงชนมาดำเนินการจัดการศึกษาให้กับเด็กกลุ่มดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น และปรับโครงสร้างในการจัดการศึกษาเพื่อสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้น ซึ่งประเทศไทยก็จะร่วมมือกับทุกประเทศขับเคลื่อนการศึกษาเพื่อปวงชนให้บรรลุเป้าหมายต่อไป
“ในความจริงแล้วทุกภูมิภาคในโลกก็เกิดความขัดแย้งเช่นเดียวกัน แต่อาจจะแตกต่างกันที่พื้นฐานของประเพณี วัฒนธรรม และความเชื่อของแต่ละพื้นที่ แต่จุดหลักที่ตรงกัน คือ ความขัดแย้งนั้นเกิดจากการสู้รบ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนที่อยู่ในวัยเรียน โดยในการประชุมมีหลายประเทศที่ได้นำเสนอการจัดการศึกษาในสภาวะความขัดแย้ง เช่น ประเทศเกาหลี ซึ่งเคยผ่านเหตุการณ์ความขัดแย้งมาก่อน ได้ใช้วิธีการปรับหลักสูตร และการปรับการศึกษาภาคบังคับให้สนองตอบต่อการที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศเกี่ยวกับการศึกษาให้เป็นขั้นตอน ขณะที่กลุ่มประเทศแถบทะเลทรายซาฮาร่า ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีความขัดแย้งโดยตรง ได้มีข้อเสนอแนะที่จะต้องดำเนินการ และดูแลทั้งในเรื่องการจัดการศึกษาในสภาวะความขัดแย้ง สุขภาพอนามัย การดูแลมารดา เพราะจะมีผลโดยตรงต่อการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาของเด็ก” รมว.ศธ.กล่าว
นายชินวรณ์ กล่าวด้วยว่า ในส่วนของประเทศไทยก็ยังคงมีความขัดแย้งเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต่อเนื่องมา 3-4 ปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษาของเด็กและเยาวชน กระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ซึ่ง ศธ.ก็ได้นำนโยบายการศึกษาเพื่อปวงชนมาใช้ โดยเฉพาะโครงการเรียนฟรี เรียนดี 15 ปีอย่างมีคุณภาพ ที่จะมุ่งเน้นนำไปสู่เด็กเหล่านี้โดยเฉพาะ และแม้จะเป็นผู้ที่ได้รับผลจากความขัดแย้ง เช่น มีการป่วยเรื้องรังที่โรงพยาบาล หรือประสบอุบัติเหตุจากสภาวะดังกล่าว ศธ. ก็จะจัดครูไปช่วยสอนให้ นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงเด็กชาติพันธุ์ หรือเด็กที่หนีภัยสงครามจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกที่มีโครงการรับเด็กเหล่านี้ให้สามารถมาเรียนในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานได้
ด้าน นางนิโคล เบลล่า นักวิจัยจากองค์การยูเนสโก เปิดเผยถึงรายงานการติดตามการดำเนินการจัดการศึกษาเพื่อปวงชนปี 2011 ว่า สงครามและความขัดแย้งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการศึกษา และพลเมืองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครู หรือบุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะในเด็กและผู้หญิง ซึ่งไม่กล้าที่จะเดินทางไปโรงเรียน เนื่องจากกลัวจะถูกละเมิดทางเพศ ดังนั้นสิ่งที่ผลการวิจัยระบุไว้ คือ ต้องรวมทุกคนเข้าสู่ระบบการศึกษาให้ได้ไม่ว่าจะเป็น กลุ่มชาติพันธุ์ หรือชนกลุ่มน้อย เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งในสังคม สำหรับผู้ที่ไม่รู้หนังสือประมาณ 756 ล้านคนนั้นส่วนใหญ่อยู่ในประเทศที่ยากจน ซึ่งความยากจนนั้นเป็นต้นเหตุให้เกิดความขัดแย้งในกลุ่มคน จึงทำให้งบประมาณบางส่วนต้องถูกใช้ไปในทางการทหารเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น ทั้งนี้ แม้แต่ในประเทศที่ร่ำรวยส่วนใหญ่ก็ยังคงต้องใช้งบประมาณกว่า 16,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในทางทหาร เพราะฉะนั้นหากไม่มีความรุนแรงงบประมาณในส่วนนี้ก็จะนำไปสนับสนุนการศึกษาของประเทศยากจนได้