นครศรีธรรมราช - เดือดร้อนจากเหตุภัยพิบัติอุทกภัยและดินถล่มยังคงมีอยู่ใน 3 จุดใหญ่ โดยที่ อ.สิชล และนบพิตำ ได้หยุดอพยพคนแล้ว แต่เร่งขนย้ายผู้ป่วยและผู้บาดเจ็บพบแพทย์ ส่วนที่ลุ่มน้ำปากพนัง ยังจมเป็นวงกว้างกินพื้นที่ 5 อำเภอ อย่างไรก็ตาม ยังมีเสียงสะท้อนจากชาวบ้านที่ความช่วยเหลือยังส่งไม่ถึงและล่าช้า ล่าสุด ชาวบ้าน อ.สิชล รวมตัวประท้วงที่ว่าการอำเภอ หลังทราบว่ารัฐบาลมีมติยกเลิกการช่วยเหลือเงิน 5,000 บาทเมื่อปี 2553 ซึ่งมีชาวบ้านไม่ได้รับเป็นจำนวนมาก และครั้งนี้ยังถูกน้ำท่วมซ้ำอีก
วันนี้ (7 เม.ย.) ความคืบหน้าในการให้การช่วยเหลือแก้ปัญหาและบรรเทาทุกข์ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยและดินถล่มในพื้นที่นครศรีธรรมราชยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แบ่งออกเป็น 3 จุดใหญ่ ในขณะนี้คือ อ.นบพิตำ อ.สิชล เป็นพื้นที่ดินโคลนถล่มและอีก 5 อำเภอในเขตลุ่มน้ำปากพนังที่ยังคงมีน้ำท่วมขังเป็นบริเวณกว้าง
อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมนั้นลุ่มน้ำปากพนังยังคงเป็นปัญหาใหญ่ ในขณะนี้เนื่องจากการระบายน้ำเป็นไปอย่างล้าช้า ที่น้ำยังคงท่วมสูงในหลายจุดเช่น อ.ปากพนัง อ.เชียรใหญ่ และ อ.หัวไทร และ อ.เฉลิมพระเกียรติ โดยเฉพาะที่ อ.ปากพนัง และ อ.เชียรใหญ่ นั้น ถือเป็นพื้นที่หนักสุดประชาชนได้รับผลกระทบและความเสียหายเป็นวงกว้าง โดยทางเจ้าหน้าที่และหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนต่างๆ พยายามนำเครื่องอุปโภคบริโภคที่จำเป็นลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีอุปสรรคที่สำคัญคือการเดินทางที่เป็นไปด้วยความยากลำบากจากระดับน้ำ และการเดินทางด้วยเรือที่บรรทุกสิ่งของไปด้วย
กำนันนบพิตำเผยต้องเร่งสร้างสะพาน
พื้นที่เกษตรสูญนับหมื่นไร่
นายกรีฑา อินณรงค์ กำนันตำบลนบพิตำ อ.นบพิตำ เปิดเผยว่า สถานการณ์ในภาพรวมของพื้นที่ อ.นบพิตำ นั้น เริ่มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของถนนหนทางนั้นยังไม่ได้ฟื้นฟูเท่าที่ควร สะพานในพื้นที่ ต.นบพิตำ ขาดทั้งหมดใน หมู่ที่ 2, 3, 4, 5, 7, 9 ยังไม่สามารถเชื่อมกัน ได้เนื่องจากขาดสะพานแบริ่งหากจะเข้าไปได้นั้นต้องใช้รถขับเคลื่อนสี่ล้อเท่านั้นต้องลุยลงไปในลำห้วยลำคลอง ไม่เช่นนั้นผ่านไม่ได้
ยังมีอยู่อีก 3-4 หมู่บ้านยังออกมาด้านนอกไม่ได้ต้องเร่งเสริมสะพานแบริ่งเข้าไปแต่ตอนนี้ยังขาดแคลนมาก จากการสำรวจประมาณการนั้นพบว่าการถล่มของภูเขานั้นมีกว่า 100 จุดในพื้นที่ 2 ตำบลคือ ต.นบพิตำ และ ต.กรุงชิง ส่งผลให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะสวนยางพาราและสวนผลไม้นับหมื่นไร่ บางจุดถูกกวาดไปหมดไม่เหลือแม้แต่ต้นเดียว บางจุดลำคลองกว้าง 3 เมตรขยายกลายเป็นร้อยเมตร”
กำนันตำบลนบพิตำ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการใช้ชีวิตนั้นยังเต็มไปด้วยความยากลำบาก เฮลิคอปเตอร์มาสแตนบายอยู่ 4 ตัว ต้องคอยลำเลียงน้ำดื่มสะอาดขึ้นไปแจกจ่าย เนื่องจากขาดแคลนน้ำดื่มอย่างมาก ในขณะนี้การอพยพคนนั้นหยุดแล้วคงมีเพียงการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย และผู้บาดเจ็บด้วยเฮลิคอปเตอร์เท่านั้น
ชาว ต.ฉลอง-ต.เทพราช อ.สิชล
ฉุนข่าวตัดไม้ทำเหตุดินถล่ม
นางอวยพร บุญพรหม ชาว ม.15 ต.เทพราช อ.สิชล เปิดเผยว่า ชาวบ้านในพื้นที่ ต.เทพราช และ ต.ฉลอง ซึ่งเป็นพื้นที่ประสบภัยอย่างรุนแรงนั้นรู้สึกไม่ดีกับข่าวที่ออกมา ว่า ชาวบ้านตัดไม้ท่อนซุงจำนวนมากไหลลงมากับน้ำป่านั้น ขอยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง ข้อเท็จจริงนั้นให้ไปดูได้โดยเฉพาะในจุดฝายคลองท่าทน ที่มีต้นไม้ ท่อนไม้มากองยังจุดนั้นเป็นจำนวนมากเกิดจากกระแสน้ำป่าและการถล่มของดินริมชายคลองท่าทน ไม้เหล่านั้นเป็นไม้ที่ถูกกระแสน้ำป่าพัดเซาะถอนมาทั้งรากทั้งโคน
คลองท่าทนเดิมกว้างประมาณ 10-20 เมตร แต่ตอนนี้กลายเป็นกว้างเพิ่มขึ้นกว่า 100 เมตร ต้นไม้ทั้งสองฝั่งคลองเหนือฝายขึ้นไปถูกพัดเซาะมารวมกัน ข่าวที่ว่าเป็นการตัดไม้นั้นไม่เป็นความจริง สำหรับจุดที่ถล่มนั้นมีมากกว่า 300 จุด ล้วนเป็นจุดที่อยู่บนพื้นที่สูงชั้น ลาดชันสูงแทบทั้งสิ้น สามารถเข้ามาตรวจสอบได้ หากนำเสนอไปว่าพวกเราตัดไม้กันนั้นอาจจะส่งผลให้ความช่วยเหลือที่จะเข้ามาเกิดความล่าช้าหรือประชาชนโดยทั่วไปเข้าใจผิดได้
จระเข้ลุ่มน้ำปากพนังอาละวาดไล่งับ
ฟาดหางใส่ชาวบ้านบาดเจ็บ
เมื่อเช้าที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการพบเห็นจระเข้ในพื้นที่ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช หลายจุดด้วยกัน ซึ่งสร้างความหวาดผวาให้กับชาวบ้านหลายตำบล โดยเฉพาะใน ต.คลองกระบือ และ ต.คลองน้อย อ.ปากพนัง
หลังจากที่ ด.ต.เจริญ บัวคง หัวหน้าสายตรวจตำบลคลองน้อย รับแจ้งว่า มีจระเข้อาละวาดไล่กัดคน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บในบริเวณ ม.10 ต.คลองกระบือ จึงเข้าทำการตรวจสอบ พร้อมจัดทีมไล่ล่าจระเข้ทันที โดยในช่วงเช้าเจ้าหน้าที่สามารถจับตายจระเข้ตัวเขื่องน้ำหนักประมาณ 40 กก.เศษยาวประมาณ 2 เมตรไว้ได้ และยังออกล่าอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีชาวบ้านพบเห็นหลายจุดนับสิบตัว
ส่วนผู้บาดเจ็บเนื่องจากถูกจระเข้ทำร้ายนั้นพบว่า คือ นายบุญนำ บุญจันทร์ อายุ 66 ปีอยู่ 4 ม.10 ต.คลองกระบือ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ผู้สื่อข่าวจึงเข้าตรวจสอบพบว่าในหมู่บ้านตลอดทางถูกน้ำท่วมสูงประมาณ 30-50 ซม.ซึ่งลดระดับจากเดิมที่สูงกว่า 1 เมตร รถยนต์ยกสูงสามารถเดินทางเข้าไปในหมู่บ้านได้ เมื่อพบเจ้าตัวปรากฏว่า นายบุญนำ อยู่ในสภาพเข่าขวาและต้นขวาบวมเป่ง โดยเจ้าตัวระบุว่าถูกจระเข้พยายามงับและฟาดหางเข้าใส่
นายบุญนำ เปิดเผยว่า ก่อนเกิดเหตุได้นำเรือออกไปกู้ลอบดักปลา โดยลงจากเรือในขณะที่น้ำสูงประมาณไม่ถึงเมตร หยิบลอบดักปลาที่ทำด้วยไม้ไผ่เหลือบไปเห็นจระเข้ขนาดเขื่องพุ่งเข้าใส่พยายามงับ แต่ตนเองได้ใช้ลอบไม้ไผ่ขวางปากไว้ ก่อนที่จระเข้ตัวนั้นจะฟาดหางเข้าใส่ หลังจากนั้นจึงโดดขึ้นเรือแล้วถ่อหนี ทิ้งลอบไว้อย่างตกใจกลัว
ขณะที่ ด.ต.เจริญ บัวคง หัวหน้าสายตรวจคลองน้อย หัวหน้าชุดไล่ล่าจระเข้ เปิดเผยว่า มีรายงานการพบเห็นหลายจุดเจ้าหน้าที่ต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง บางจุดพบว่าพยายามขึ้นมากินวัวชาวบ้านมีขนาดใหญ่มาก คล้ายกับเป็นพ่อแม่พันธุ์ยาวกว่า 4 เมตร และยังพบไข่จระเข้อยู่บนเนินดินกลางทุ่งนาด้วย เมื่อเอาไปให้เจ้าหน้าที่ประมงตรวจสอบได้รับการยืนยันว่าเป็นไข่จระเข้ ขณะนี้ชาวบ้านต่างหวาดผวาเจ้าหน้าที่ตำรวจสายตรวจตำบลได้ระดมอาสาสมัครร่วมกันออกตามล่าอย่างต่อเนื่อง บางจุดระดับน้ำยังสูงเมื่อตระเข้เห็นความเคลื่อนไหวของคนจึงดำน้ำหลบกบดานการล่าจึงค่อนข้างยาก
ผวจ.นครศรีเร่งแจงหลักเกณฑ์แจกเงินชดเชย
ด้าน นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี เห็นชอบในหลักการจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ผู้ประสบอุทกภัย และดินโคลนถล่มในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ เบื้องต้นครัวเรือนละ 5,000 บาท ใน 10 จังหวัด โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ ตามที่คณะกรรมการอำนวยการ กำกับ ติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ (คชอ.) กำหนดในกรณีใดกรณีหนึ่งใน 3 กรณี คือ น้ำท่วมถึงบ้านพักโดยฉับพลัน ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย บ้านพักอาศัยถูกน้ำท่วมขังติดต่อกันไม่น้อยกว่า 7 วัน บ้านพักอาศัยได้รับความเสียหายจากน้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม
ทั้งนี้ บ้านพักอาศัยจะต้องมีทะเบียนบ้าน หากเป็นบ้านเช่าผู้เช่าเป็นผู้ได้รับเงินช่วยเหลือ บ้านเช่ามีหลายชั้นได้รับเงินเฉพาะชั้นที่น้ำท่วมถึง และบ้านพักอาศัยทั้ง 3 กรณี จะต้องอยู่ในเขตพื้นที่ประกาศภัยพิบัติด้วยนั้น ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับนายอำเภอทุกอำเภอ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งดำเนินการสำรวจพื้นที่ได้รับความเสียหาย ในระดับหมู่บ้าน-ชุมชน ตามแบบฟอร์มที่กำหนด และลงนามรับรอง จากกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารส่วนท้องถิ่น เสนอต่อคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติระดับอำเภอ (ก.ช.ภ.อ.) ตรวจสอบความถูกต้อง ก่อนส่งไปยังจังหวัดได้ตรวจสอบและรับรองโดยผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อส่งไปยังกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจัดทำรายละเอียดเสนอรัฐบาลต่อไป
สรุปความเสียหายยอดตายแล้ว 23 ราย
สำหรับความเสียหายจากอุทกภัยของจังหวัดนครศรีธรรมราช นายธีระ มินทราศักดิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกล่าวว่าภาพรวม ทั้ง 23 อำเภอ ขณะนี้ มีผู้เสียชีวิตจำนวน 23 ราย ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 312,500 ครัวเรือน จำนวน 909,500 คน บ้านเสียหายทั้งหลัง 180 หลัง และบางส่วน 2,800 หลัง พื้นที่ทางการเกษตรเสียหายกว่า 500,000 ไร่
นอกจากนี้ จำนวนผู้อพยพต่างทยอยเดินทางกลับหลังจากน้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย ยังคงเหลืออีกประมาณ 1,500 คน ในพื้นที่ 5 อำเภอ ความเสียหายเบื้องต้นมีมูลค่าประมาณไม่ต่ำกว่า 2,300 ล้านบาท ขณะที่ทุกภาคส่วน ระดมเครื่องจักรกล และเจ้าหน้าที่ เร่งบูรณะฟื้นฟูเส้นทางที่ได้รับความเสียหาย ในหลายพื้นที่ให้สามารถใช้การได้โดยเร็ว
สำนักนายกรัฐมนตรีจ่ายศพละ 5 หมื่น
นายจำเริญ ยุติธรรมสกุล ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการศูนย์ประสานงานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย พร้อมด้วย พล.ต.ท.อุดม ชัยมงคลรัตน์ ประธานอนุกรรมการช่วยเหลือฟื้นฟูและเยียวยาพื้นที่ประสบภัย คณะที่ 2 พื้นที่ภาคใต้ และว่าที่ร้อยตรี ฐิตวัฒน เชาวลิต รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้ร่วมกันมอบเงินช่วยเหลือพิเศษ ที่ได้รับจากการบริจาคผ่านบัญชีช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ของสำนักนายกรัฐมนตรี สำหรับจัดการศพผู้เสียชีวิต ในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 6 ราย ในเบื้องต้นรายละ 50,000 บาท ที่นอกเหนือจากเงินช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์เงินกองทุนที่จ่ายให้กับทายาทผู้เสียชีวิต ที่เป็นหัวหน้าครอบครัว 50,000 บาท และสมาชิกในครอบครัวรายละ 25,000 บาท จากทางจังหวัดไปแล้ว
สำหรับในส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช ถึงขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากอุทกภัยไปแล้ว จำนวน 23 ราย ซึ่งทางสำนักนายกรัฐมนตรี จะได้เดินทางไปมอบให้กับรายที่เหลืออื่นๆ ต่อไป และกล่าวว่า ขอให้ทุกคนที่ได้สูญเสียสมาชิกในครอบครัวได้มีจิตใจที่เข้มแข็ง พร้อมที่จะฟันฝ่าอุปสรรคให้หลุดพ้นจากอุบัติภัยที่เกิดขึ้น ทางราชการจะไม่ทอดทิ้ง และจะได้เข้าไปดูแลช่วยเหลือในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป
ชาวบ้าน อ.เชียรใหญ่
ประท้วงคำสั่งยกเลิกเงินช่วยผู้ประสบภัย
และเมื่อเวลา 11.30 น.ที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอเชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช ได้มีชาวบ้านจากท้องที่ต่างๆ ในอำเภอเชียรใหญ่ มารวมตัวชุมนุมประท้วง โดยมีนายจำแลง คงวัดใหม่ และนายไมตรี ไชยราช ชาวบ้านจาก ต.เชียรใหญ่ อ.เชียรใหญ่ เป็นแกนนำ ได้ตั้งเวลาเวทีปราศรัยเพื่อให้ทางอำเภอชีแจงเกี่ยวกับกรณี มีคำสั่งยกเลิกเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมเมื่อครั้งก่อนทั้งที่บางหมู่บ้านถูกยกเลิกจนหมด ขณะที่การช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งล่าสุดก็ยังให้การช่วยเหลือไม่ทั่วถึง
โดย นายจำแลง ได้กล่าวบนเวทีปราศรัยว่า มติ ครม.เมื่อวันที่ 26 ต.ค.53 และวันที่ 16 พ.ย.53 ที่ผ่านมา อนุมัติให้ในงบประมาณรายจ่ายปี 2554 สำรองจ่ายในกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็นเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินครอบครัวละ 5,000 บาท ซึ่งได้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อ.เชียรใหญ่ นครศรีธรรมราช ทำให้ชาวบ้านรับความเดือดร้อนกันอย่างถ้วนหน้า บ้านพักที่อยู่อาศัยถูกน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน หลังจากที่ชาวบ้านได้นำหลักฐานตามที่ทางอำเภอแจ้งมาเพื่อขอรับเงินช่วยเหลือดังกล่าวจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้รับแต่อย่างใด
นอกจากนั้น ล่าสุด มีการสั่งยกเลิกเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยในครั้งก่อน ทำให้ชาวบ้านมีความคับข้องใจว่าหน่วยงานราชการกำลังทำอะไรกันอยู่ ชาวบ้านเขาเดือดร้อนจริงๆ ไม่เข้าใจว่าสั่งยกเลิกด้วยเหตุผลอันใด จนมาถึงปัจจุบันนี้น้ำท่วมอีกครั้ง ซึ่งการช่วยเหลือของหน่วยงานราชการก็ล่าช้าและไม่ทั่วถึง บางหมู่บ้านยังไม่ได้รับการช่วยเหลือทำให้เดือดร้อนอย่างหนัก การที่ชาวบ้านมาร่วมตัวในครั้งนี้ เพื่อขอทราบคำชี้แจงถึงกรณียกเลิกเงินช่วยเหลือเรื่องน้ำท่วมในครั้งก่อน และมาเรียกร้องให้เร่งช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ยังไม่มีใครเข้าไปดูแลด้วย
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอัมรินทร์ เขมรัตน์ นายอำเภอเชียรใหญ่ ไม่อยู่บนที่ว่าการอำเภอจึงสั่งการทางโทรศัพท์ให้ปลัดอำเภอเรียกกลุ่มชุมนุมเข้าประชุมปรึกษาหารือ เพื่อชี้แจงกรณีดังกล่าวข้อเรียกของกลุ่มผู้ชุมนุม เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับกรณีเรื่องเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท และรับทราบพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือของผู้ประสบภัยว่ามีหมู่บ้านใดบ้าง เพื่อจะได้เข้าไปให้การช่วยเหลือต่อไป ขณะที่การช่วยเหลือยังคงทยอยถุงยังชีพออกแจกจ่ายให้กับผู้เดือดร้อนจากภาวะน้ำท่วมเป็นระยะแล้ว
พระภิกษุ-สามเณรออกช่วยชาวบ้าน
พระครูวรเขตคณารักษ์ เจ้าคณะอำเภอฉวาง รองเจ้าอาวาสวัดธาตุน้อย และอาจารย์-ผู้บริหารมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช (มจร.นครศรีธรรมราช) ได้นำสามเณรในโครงการบรรพชาสามเณรฤดูร้อนเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมายุ 56 พรรษา รุ่น 1 จำนวนกว่า 100 รูป ร่วมกับพระภิกษุสงฆ์อีกจำนวนหนึ่ง ลงพื้นที่แจกจ่ายถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่บ้านปากเนตร ต.บางจาก อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช และที่บ้านสระแก้ว ต.สระแก้ว อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ท่ามกลางเสียงสาธุการจำนวนมากจากชาวบ้าน