xs
xsm
sm
md
lg

“สับปะรดภูเก็ต”ขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวภูเก็ต -พาณิชย์จังหวัดภูเก็ตเผยสับปะรดภูเก็ต ขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แล้ว ขณะที่มุกภูเก็ต กำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบ

วันนี้ (28 ม.ค.) นายสมพงษ์ อ่อนประเสริฐพาณิชย์จังหวัดภูเก็ต กล่าวในการประชุมกรรมการจังหวัดภูเก็ต ประจำเดือนมกราคม 2553 ว่า ที่ผ่านมาจังหวัดภูเก็ตได้เสนอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ 2 รายการ คือ สับปะรดภูเก็ต และมุกภูเก็ต โดยเสนอไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ซึ่งขณะนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์ พิจารณาให้ขึ้นทะเบียนสับปะรดภูเก็ตเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แล้ว โดยขึ้นมาตั้งแต่วันที่27พฤศจิกายน 2552

ส่วนมุกภูเก็ต คณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกำลังตรวจสอบ แก้ไขในรายละเอียดอยู่ และในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ นางปัจฉิมา ธนสันติ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาและคณะ จะเดินทางมาที่จังหวัดภูเก็ตเพื่อรับฟัง และพิจารณาตรวจสอบเกี่ยวกับความพร้อม ในการจัดทำคำขอตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์พ.ศ.2546 สินค้าโดดเด่นของจังหวัดภูเก็ตพร้อมชี้แจงขั้นตอนความถูกต้องของการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน 2547

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์พิจารณาขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไปแล้ว จำนวน 26 รายการ เช่น ร่มบ่อสร้างเชียงใหม่ เครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียง อุดรธานี หอยนางรมสุราษฎร์ธานี ผ้าไหมแพรวา กาฬสินธุ์ ข้าวหอมมะลิ สุรินทร์ มะขามหวาน เพชรบูรณ์ ส้มโอนครชัยศรี ข้าวสังข์หยด พัทลุง หมูย่างเมืองตรัง สับปะรดศรีราชา

นายสมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า ในขณะนี้ทางกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดภูเก็ต กำลังร่วมกันร่างกรอบกติกา และเงื่อนไขต่างๆของกลุ่ม เพื่อกำหนดเป็นแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้รักษาสิ่งบ่งชี้ของสัปปะรดภูเก็ตไว้ ทั้งนี้สับปะรดภูเก็ต มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่น มีชื่อเสียงและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค ทั้งในจังหวัดภูเก็ตและทั่วประเทศ โรงแรมต่างๆในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตส่วนใหญ่จะสั่งสับปะรดภูเก็ตไปต้อนรับนักท่องเที่ยว สำหรับแหล่งผลิต ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อำเภอถลาง

นายสมพงษ์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับประโยชน์ที่ได้รับจากขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์คือ ผู้บริโภคได้รับสินค้าที่มีมาตรฐาน ปลอดภัย คุ้มครองผู้ผลิตสินค้าและไม่ให้มีการฉกฉวยเอารัดเอาเปรียบ ป้องกันการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม เพิ่มมูลค่าของสินค้าของผู้ผลิตและเป็นเครื่องมือทางด้านการตลาด ตลอดจนเพื่อให้มีการดูแลมาตรฐานสินค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ผลิตสินค้าต่างๆ จะช่วยกันควบคุมดูแลต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันเป็นการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น