xs
xsm
sm
md
lg

จนท.กรมทรัพย์ฯลงพื้นที่ตรวจมาตรฐานผลิตสับปะรดภูเก็ต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เจ้าหน้าที่จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบและกำหนดมาตราฐาน “สับปะรดภูเก็ต” ที่ได้ขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไว้แล้ว
ศูนย์ข่าวภูเก็ต - เจ้าหน้าที่จากกรมทรัพย์สินทางปัญญาลงพื้นที่ติดตามตรวจสอบและกำหนดมาตรฐาน “สับปะรดภูเก็ต” ที่ได้ขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไว้แล้ว เตรียมมอบตราเครื่องหมายการค้าให้กลุ่มผู้ผลิตระบุหลังดำเนินการแล้วเสร็จผู้ผลิตรายอื่นไม่สามารถลอกเลียนแบบได้

วันนี้ (2 ก.พ.) นางสาวชนิกัณดา เทสสิริ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ สำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญากระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วย ผู้ประสานงานโครงการพิจารณาประเมินติดตามสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย ลงพื้นที่รับฟังและพิจารณาตรวจสอบเกี่ยวกับความพร้อมในการจัดทำคำขอตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ พ.ศ.2546 สินค้าโดดเด่นของจังหวัดภูเก็ต พร้อมชี้แจงขั้นตอนความถูกต้องของการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ที่กลุ่มผู้ปลูกสับปะรดภูเก็ตบ้านควน ต.เทพกระษัตรี อ.ถลาง จ.ภูเก็ต หลังกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ได้พิจารณาให้ขึ้นทะเบียนสับปะรดภูเก็ตเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์แล้ว ตั้งแต่วันที่ 27 พฤศจิกายน 2552

โดยวันนี้ (2 ก.พ) ทางกลุ่มผู้ปลูกสับปะรดภูเก็ตร่วมกันร่างกรอบกติกาและเงื่อนไขของกลุ่ม เพื่อกำหนดเป็น แนวทางดำเนินงานรักษาสิ่งบ่งชี้ของสับปะรดภูเก็ตที่จะให้ไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ว่าสับปะรดภูเก็ต มีสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่โดดเด่น มีชื่อเสียงและเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคทั้งในจังหวัดภูเก็ตและทั่วประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่พักต่างๆ ทั้ง โรงแรม รีสอร์ท ภัตตาคาร ร้านอาหาร ส่วนใหญ่จะสั่งสับปะรดภูเก็ตไว้ต้อนรับนักท่องเที่ยว

นายมานัส วาจาสัตย์ ประธานกลุ่มผู้ผลิตสับปะรดภูเก็ต กล่าวว่า ทางกลุ่มผู้ผลิตสับปะรดภูเก็ตมีสมาชิกอยู่ทั้งหมด 55 รายจากผู้ผลิต 62 ราย ซึ่งสมาชิกทั้งหมดได้ร่วมกันกำหนดมาตราฐานการรักษามาตรฐานการผลิตและรสชาดให้ได้มาตราฐานคงความเป็นสับปะรดภูเก็ตที่มีความหอม หวาน กรอบ อร่อย ไม่มีเซี่ยน เช่นนี้ตลอดไปแล้ว

สำหรับแปลงสับปะรดภูเก็ตของเกษตรกรในพื้นมีจำนวน 5,000 กว่าไร่ จากจำนวนผู้ผลิต 62 ราย ที่ โดยภาพสมาชิกรวมสามารถผลิตสับปะรดส่งให้ผู้ประกอบการได้วันละประมาณ 10,000 ลูก โดยจำหน่ายในราคาลูกละ ลูกละ 13 บาท โดยผู้ผลิตส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อำเภอถลางเป็นหลัก

ทางด้านนายชนะพล น้อยเชียง ผู้ประสานงานโครงการพิจารณาประเมินติดตามสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย กล่าวว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ต้องการมาดูการดำเนินงานของกลุ่มและวิธีการกำหนดมาตราฐานของสับปะรดภูเก็ตว่าทางกลุ่มนั้นกำหนดมาตราจากความเป็นจริงหรือไม่และสามารถดำเนินการได้ตามที่กำหนดมาตรฐานไว้หรือไม่ เพราะหากกำหนดมาตราฐานเสร็จทางกลุ่มต้องผลิตสับปะรดภูเก็ตให้ได้ตามมาตรฐานที่วางไว้ และมาตรฐานนี้และชื่อนี้ใครจะไปใช้หรือเลียนแบบไม่ได้

ขณะที่นางสาวชนิกัณดา เทสสิริ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการ สำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญญา กล่าวในการลงมาวันนี้เพื่อตรวจสอบร่างกรอบกติกาและเงื่อนไขของกลุ่ม เพื่อกำหนดเป็นแนวทางดำเนินงานรักษาสิ่งบ่งชี้ของสับปะรดภูเก็ตไว้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ว่า สับปะรดภูเก็ตนั้นมีรสชาดแบบใด และมีลักษณะเด่นที่แตกต่างจากสับปะรดที่อื่นอย่างใร มีวิธีการผลิตแบบใด เป็นต้น

หลังจากนั้นทางกรมจะมอบตราเครื่องหมายการค้าให้ ซึ่งตราเครื่องหมายการค้านี้จะได้เร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับทางกลุ่มว่า สามารถจัดทำได้เร็วหรือช้าหลังจากทางกลุ่มเสนอมาทางกรมจะลงตรวจสอบและเป็นไปตามที่ทางกลุ่มแจ้งไว้ จึงจะมอบเครื่องหมายการค้าให้ทางกลุ่มทันที
สวนสับปะรดภูเก็ตที่มีการปลูกกันในปัจจบันประมาณ 5 พันไร่
สับปะรดภูเก็ตและสับปะรดจากที่อื่นที่มีการเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่าง
กำลังโหลดความคิดเห็น