xs
xsm
sm
md
lg

เอกชน-นักวิชาการหนุนสภาฯสอบงบไฟใต้ 6 ปีกว่าแสนล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – ประธาน กมธ.มั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร ตื่นตรวจสอบประสิทธิภาพการใช้งบดับไฟใต้ มั่นใจจะรู้ผลภายใน 3 เดือน ภายหลังจาก 6 ปีรัฐทุ่มเม็ดเงินลงพื้นที่ไปแล้วกว่า 1 แสนล้าน แต่กลับมีข้อมูลจากฝ่ายวิชาการชี้ว่า ฝีมือดับไฟใต้ของ “รบ.มาร์ค” ไม่แตกต่างจาก “รบ.แม้ว” ด้านประธานหอ 5 จ.ชายแดนใต้ระบุการใช้จ่ายของรัฐคลุมเครือและไม่โปร่งใส มุ่งเน้นแต่งานความมั่นคง ละเลยการพัฒนาคุณภาพชีวิต แถมยังปล่อยให้งบยังกระจุกอยู่ที่ กอ.รมน.ส่วนกลาง ขณะที่นักวิชาการรั้ว มอ.ปัตตานีขานรับรัฐยังกระจายเม็ดเงินไม่ถูกจุด จี้ให้มีการทบทวนอย่างรอบด้าน

ไฟใต้ที่คุโชนขึ้นมาระลอกใหม่นับตั้งแต่ต้นปี 2547 จากเหตุการณ์ปล้นปืนในค่ายทหารที่ จ.นราธิวาส กว่า 6 ปีมานี้รัฐได้ทุ่มงบประมาณในการแก้ปัญหาความไม่สงบลงไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้แล้วกว่า 109,365 ล้านบาท แถมในแต่ละปีก็มีแนวโน้มจะต้องเทงบประมาณให้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในปี 2552 ที่ผ่านมางบประมาณที่รัฐใช้เพื่อดับไฟใต้มีตัวเลขสูงถึง 27,547 ล้านบาท

ทั้งนี้ หาดใหญ่โพล โดยสำนักวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ ได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชนใน จ.สงขลาและ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คือ ยะลา ปัตตานีและนราธิวาส เกี่ยวกับการดำเนินงานและการแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้แบบสำรวจเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลประชาชน 1,192 ตัวอย่างระหว่างวันที่ 21-23 ม.ค.ที่ผ่านมา มีข้อสรุปที่น่าสนใจอย่างมากคือ ร้อยละ 68.1 เห็นว่าผลงานการแก้ปัญหาไฟใต้ของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่แตกต่างจากผลงานของพรรคเพื่อไทย และร้อยละ 65.9 เห็นด้วยให้มีการทบทวนและมีการตรวจสอบการใช้งบประมาณที่ใช้ในชายแดนใต้

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าหน่วยงานด้านความมั่นคง โดยเฉพาะฝ่ายทหารได้ยืนยันการทำงานดับไฟใต้ได้ผลดีขึ้น ซึ่งสกัดให้การเกิดเหตุที่มีความรุนแรงลดลง และคดีที่เกิดในจังหวัดชายแดนใต้ตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมากกว่า 50,000 คดีนั้น ในจำนวนนี้มีความเกี่ยวข้องกับการสร้างสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่เพียง 1 ใน 5 เท่านั้น

จากข้อมูลดังกล่าว นายเจะอามิง โตะตาหยง ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เขต 1 จ.นราธิวาส ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผย “ASTVผู้จัดการ” ว่า คณะกรรมาธิการฯกำลังติดตามตรวจสอบเรื่องการใช้งบประมาณเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ โยเฉพาะในโครงการสำคัญๆ ทั้งในส่วนที่ผ่านศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กรมทางหลวงชนบท กรมพัฒนานาฝีมือแรงงาน เพราะมีความกังวลว่างบประมาณจะไม่ลงพื้นที่อย่างเต็มที่ โดยจะเชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงในวันที่ 28 ม.ค.นี้ เพราะในรัฐบาลชุดก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้มีการติดตามอย่างจริงจัง

ประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่แล้วการแก้ปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้ต้องทุ่มเทเม็ดเงินงบประมาณไปในด้านบุคลากร หรือการจ้างคน มากกว่าการพัฒนาด้านต่างๆ นอกจากนี้แล้วในส่วนของการใช้จ่ายงบราชการลับนั้น คณะกรรมาธิการฯจะต้องพิจารณาดูการเอื้อของข้อกฎหมายว่ามีมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าตรวจสอบไม่ได้ ต้องใช้ช่องทางอื่นๆ แต่อาจจะไม่เต็มที่นัก

“เราเห็นว่าการใช้งบประมาณในจังหวัดชายแดนใต้ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมามีเม็ดเงินลงไปเยอะมาก แต่ด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตกลับหยุดชะงักลงตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งเริ่มจะมีเหตุความไม่สงบเกิดขึ้นแล้ว แต่ทุกรัฐบาลก็ยังมุ่งทุ่มเงินให้กับการดูแลความปลอดภัยเพียงด้านเดียว ทำให้ประชาชนมีความเคลือบแคลงสงสัยมาตลอดว่า เหตุใดเงินลงไปเยอะมากขึ้นทุกปี แต่ทำไมพื้นที่ถึงไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร และยังมีเชื่อมั่นในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินไม่ได้ ดังนั้น คณะกรรมาธิการฯจึงได้ติดตามตรวจสอบเรื่องนี้ให้มีความคืบหน้าเร็วที่สุดภายใน 3 เดือน เพื่อที่จะไม่ให้ทันสิ้นปีงบประมาณ” นายเจะอามิงกล่าว

นายพจน์ ไพบูลย์เกษมสุทธิ์ ประธานหอการค้ากลุ่ม 5 จังหวัดชายแดนใต้ เปิดเผยว่า เรื่องการเปิดให้สังคมได้ตรวจสอบการใช้งบประมาณเพื่อแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้นั้น มีการคุยกันในหมู่ประชาชนหลายกลุ่มมานานแล้ว เพราะที่ผ่านมามีเม็ดเงินจำนวนมาก แต่การใช้จ่ายของรัฐยังคลุมเครือ ซึ่งส่วนใหญ่ทุ่มให้กับกำลังบุคลากร ยุทโธปกรณ์ และดูเหมือนไม่ค่อยจะมีประสิทธิผล เพราะทั้งเหตุร้ายรายวันแม้จะลดจำนวนลง แต่ความรุนแรงเพิ่มขึ้น และด้วยนโยบายรัฐยังมองว่าตราบใดยังไม่มีความมั่นคง การพัฒนาเศรษฐกิจก็เกิดขึ้นได้ยาก งบพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านนี้จึงน้อยกว่าด้านความมั่นคง ทั้งที่ควรจะกระจายการใช้จ่ายให้ควบคู่กันไป

“ถึงวันนี้รัฐคงต้องทบทวนต้นทุนกับความปลอดภัยที่ได้มาแล้วว่า จะบริหารจัดการอย่างไรให้เหมาะสม เพื่อจะได้พัฒนาด้านอื่นๆ ในจังหวัดชายแดนใต้ด้วย และควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รู้ ได้เห็น และร่วมแสดงความคิดเห็นว่ารัฐบาลนำเงินภาษีไปใช้จ่ายอย่างไร โดยเฉพาะที่ผ่านมางบส่วนใหญ่กระจุกอยู่ที่ กอ.รมน.ส่วนกลาง การดับไฟใต้ไม่ใช่เพียงแค่การทุ่มเงินอย่างเดียว แต่ต้องสร้างความโปร่งใสด้วย และคงไม่บ่ากว่าแรงที่หน่วยงานต่างๆ จะเปิดโอกาสให้ตรวจสอบได้ง่ายขึ้น” นายพจน์กล่าว

ด้าน ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี รองคณะบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (มอ.ปัตตานี) กล่าวว่า การวางงบประมาณของทางภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในชายแดนใต้ยังมีความคลาดเคลื่อนอยู่ 2 ประการคือ เงินทุนสำหรับพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังกระจายไปแก้ปัญหาไม่ถูกจุด กล่าวคือ มีการแบ่งสันปันส่วนเงินกว่า 40% ไปยัง 2 จังหวัดกันชนคือ สตูลและสงขลา แทนที่จะนำมาใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่เป็นใจกลางของปัญหาอย่างเต็ม 100%

ทั้งนี้ งบประมาณในส่วนที่นำมาใช้ในการทหารนั้น นักวิชาการจากรั้ว มอ.ปัตตานีเห็นว่ามีความเหมาะสมอยู่แล้ว เพราะนำมาจัดซื้อยุทโธปกรณ์ และเป็นค่าใช้ในค่าใช้จ่ายที่สืบเนื่องต่างๆ เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าลาดตระเวน ซึ่งได้ผลในเชิงควบคุมพื้นที่ให้เกิดเหตุน้อยลง แต่ต้นทุนของการควบคุมเหตุการณ์ความไม่สงบยังต้องถือว่าสูงอยู่ หรือคิดเป็นกรณีละประมาณ 80 ล้านบาท

“ด้านผลกระทบด้านจิตใจของประชาชนนั้น หลังจากมีการทำวิจัยเกี่ยวกับความเชื่อมั่น ความไว้วางใจที่ประชาชนมีต่อภาครัฐ ทั้งทางทหาร ตำรวจ สาธารณสุข และกระบวนทางกฎหมายพบว่า เราพบข้อมูลในเรื่องนี้ว่า ณ เวลานี้ยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก” ผศ.ดร.ศรีสมภพกล่าวและเสริมว่า

ในด้านการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจใน 3 จังหวัดชายแดนใต้ รัฐบาลควรที่จะมุ่งเน้นการเปิดโอกาสในการระดมทุนให้กับคนในพื้นที่ ให้มีส่วนเสริมสร้างการลงทุน อันเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ของตนเอง ทั้งในด้านการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เนื่องจากตอนนี้ยังมีความเป็นไปได้ในตลาด เพื่อกระตุ้นทางด้านการเกษตรและการท่องเที่ยว อันเป็นการสร้างดีมานด์ โดยมองจากศักยภาพของซัพพลายที่มีอยู่ในพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมายังมีการพัฒนายังไม่ถูกจุด เนื่องจากรัฐบาลได้มุ่งเน้นกระตุ้นไปยังผู้ประกอบการที่ไม่ใช่คนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากในการสสร้างความเชื่อมั่นในด้านความปลอดภัยให้กับผู้ประกอบการเหล่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น