ศูนย์ข่าวหาดใหญ่…รายงาน
เสียงรถบรรทุกสิบล้อเบรกดังเอี๊ยด…โครม… แล้วเอียงกระเท่เร่อยู่ริมถนน หลังจากเฉี่ยวชนเสาไฟฟ้าต้นหนึ่ง แรงกระแทกทำให้กล้องโทรทัศน์วงจรปิดหล่นตุ๊บลงไปกองอยู่กับพื้น
“ผมเห็นเหตุการณ์พอดี โชคดีที่ไม่มีคนเจ็บ มีแต่กล้องวงจรปิดหักหล่นลงมา กลัวว่าจะมีใครหยิบไป หรือรถคันอื่นมาเหยียบซ้ำ จึงรีบวิ่งไปเก็บแล้วเอาไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดู เผื่อว่า จะยังใช้การได้ แต่แล้วก็เป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวด ไอ้กล้องที่ติดอยู่หน้าบ้านผมตัวนั้น มันเสียมานานแล้ว โดยที่ชาวบ้านกลับไม่รู้ เราคิดมาตลอดว่าหากเกิดเหตุร้ายอะไรขึ้น กล้องตัวนี้จะช่วยเหลือเราได้บ้าง”
นายดิสพูน จ่างเจริญ รองประธานชมรมผู้ประกอบการร้านอาหาร จ.ปัตตานี บอกเล่าด้วยความเจ็บใจ หลังถูกหน่วยงานราชการหลอกติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่ใช้การไม่ได้บริเวณหน้าบ้านตนเองมาเป็นเวลาช้านาน
นี่เป็นกรณีตัวอย่างที่ตอกย้ำว่า นอกจากชีวิตของคนในชายแดนใต้จะแขวนอยู่บนเส้นด้าย อันเนื่องแต่เหตุความไม่สงบแล้ว ยังต้องวัดดวงกันด้วยว่า พื้นที่ที่โชคดีมีกล้องโทรทัศน์วงจรปิดหรือ CCTV เมื่อถึงวินาทีฉุกเฉินแล้วเครื่องมือชนิดนี้จะทำงานได้จริงหรือไม่
ตลอดห้วง 6 ปีที่เกิดไฟใต้ระลอกใหม่มานี้ รัฐบาลได้ลองผิดลองถูกกับการแก้ปัญหามาโดยตลอด ทั้งขนกองกำลังเจ้าหน้าที่และทุ่มเทงบประมาณเข้าไปในพื้นที่ปีละหลายหมื่นล้าน แต่ไฟใต้ก็ยังไม่มีแนวโน้มจะมอดดับ
แนวทางหนึ่งที่ได้รับการยอมรับว่า น่าจะเป็นการแก้ปัญหาไฟใต้ได้ดี โดยมีผลทั้งทางจิตวิทยาและช่วยแกะรอยผู้ก่อเหตุได้คือ การติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดให้ครอบคลุมพื้นที่ แต่เรื่องนี้กลับกลายเป็นว่า ที่ผ่านมารัฐบาลกลับไม่จริงจังอะไรในเรื่องนี้เลย
ข้อมูลจากหน่วยความมั่นคงใน จ.ปัตตานี ระบุว่า การติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในเขตเทศบาลเมืองปัตตานีมาตั้งแต่ปี 2547 ช่วยลดเหตุการณ์ความไม่สงบลงได้ โดยปี 2548 เกิดเหตุถึง 40 ครั้ง แต่ในปี 2551 เกิดเหตุเพียง 19 ครั้ง และนำสู่การจับกุมคนร้ายที่ก่อเหตุได้ในหลายคดี เช่น คดีลอบยิงคนงานหน้าโรงเรียนประสานวิทยา อ.ยะรัง เสียชีวิต 5 ศพ และคดีปล้นฆ่าชิงเงินพนักงานบริษัทที่เทศบาลเมืองปัตตานี เป็นต้น
ด้วยประสิทธิภาพของดวงตาอิเล็กทรอนิกส์ นี้เอง ทำให้หน่วยราชการในพื้นที่และรัฐบาลทุ่มเทงบติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในพื้นที่เสี่ยงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ประชาชนก็หวังว่าการติดตั้งในชุมชนและพื้นที่ล่อแหลมจะสามารถเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายที่ไม่มีวันหลับ ทำให้คนในพื้นที่มั่นใจในความปลอดภัย
แต่กลับเป็นที่น่าสังเกตว่า กล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่ติดตั้งไปแล้วนั้น ส่วนใหญ่จะกระจุกอยู่ในสถานที่ราชการมากกว่าที่จะกระจายสู่ย่านเศรษฐกิจหรือชุมชน แถมกล้องนับร้อยนับพันตัวกลับกลายเป็นเครือข่ายที่หลับใหลไปแล้ว เนื่องอุปกรณ์ชำรุดและไม่มีงบในการซ่อมแซม
ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบธุรกิจในชายแดนใต้จำนวนมากต้องเจียดเงินรายได้ที่มีเหลืออยู่น้อยนิดไปใช้ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อดูแลตัวเอง เพราะรอโครงการรัฐที่สุดแสนจะล่าช้าไม่ไหว และกล้องวงจรปิดของภาคเอกชนเหล่านี้ได้ช่วยเหลือราชการคลี่คลายคดีสำคัญๆ ไปหลายคดีแล้ว
อย่างคดีสุดแสนจะสะเทือนใจจากเหตุรถจักรยานยนต์บอมบ์หน้าห้างเอสพี ซุปเปอร์มาร์เก็ตกลางเมืองปัตตานี เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2551 ซึ่งกล้องของห้างบันทึกวินาทีที่ นางสือนี หวันสุหลง ถูกระเบิดเสียชีวิต ขณะที่ลูกชายวัย 4 และ 2 ขวบ ก็สาหัส และยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บคนอื่นๆ อีกรวม 5 รายไว้ได้
หรือคดีระเบิดคาร์บอมบ์ที่เกิดในเวลาไล่เลี่ยกัน หน้าห้องอาหารรอยัลปาร์ค โรงแรมยะลาปาร์ควิว กลางเมืองยะลา ซึ่งแม้ระเบิดที่มีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 30 กก.จะทำงานไม่เต็มที่ แต่ก็ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บถึง 4 ราย
ทั้ง 2 คดีดังกล่าวกล้องวงจรปิดของเอกชนสามารถจับภาพบุคคลต้องสงสัยไว้ได้ และนำไปสู่การสืบสวนของเจ้าหน้าที่จนทราบว่าทั้ง 2 เหตุการณ์เป็นฝีมือกลุ่มของ นายไพศอล หะยีสามะแอ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการผลิตระเบิดเพื่อปฏิบัติการในชายแดนใต้นั่นเอง
นายฟุ้ง สุขเสรีทรัพย์ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดยะลา ยอมรับว่า แม้ช่วงหลังๆ เหตุการณ์ความไม่สงบจะลดลง แต่กลับมีภาพของความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ตนจึงคิดไม่ต่างจากประชาชนในพื้นที่คือ ไม่ห่วงว่ารัฐบาลจะทุ่มเทงบจำนวนมากไปกับการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในชายแดนใต้ แต่ที่ห่วงคือต้องการให้กล้องเหล่านั้นใช้การได้ตลอดเวลา
แต่ดูเหมือนเสียงร้องขอของภาคธุรกิจและประชาชนจะไม่ได้รับการตอบสนองเท่าที่ควร เพราะนอกจากกล้องที่มีอยู่จำนวนมากจะชำรุดและยังไม่ได้รับการซ่อมแซมแล้ว โครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ รวม 42 อำเภอ ที่ใช้งบเฉียด 1 พันล้าน ที่รัฐบาลเดินหน้ามาแล้วหลายปี ในเวลานี้กับมีแต่ซากอุปกรณ์ไฮเทคกระจายอยู่ทั่ว และพบข้อพิรุธมากมาย
โครงการนี้อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย โดยมีบริษัท ดิติตอล รีเสิร์ช แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด หรือ DRC เป็นผู้รับสัมปทานติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด และวางสายไฟเบอร์ออฟติก ที่ผ่านมาได้เกิดปัญหาขึ้นมากมาย จน นายวิชัย ศรีขวัญ ผู้บริหารบริษัทได้ทำหนังสือถึงสำนักปลัดมหาดไทยขอยกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 22 ก.ค.2552 และปลัดกระทรวงมหาดไทยก็ได้ตอบรับการยกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 7 ก.ย.มาแล้ว
นายเจ๊ะอามิง โต๊ะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้ติดตามโครงการนี้มาโดยตลอด เปิดเผยว่า ตนเชื่อว่า โครงการนี้ต้องมีการทุจริตเกิดขึ้น ตั้งแต่มีการฮั้วประมูลที่กระทรวงมหาดไทยที่เลือก DRC เพียงเพราะให้ราคาต่ำกว่าราคากลาง 3 ล้าน ขณะที่ไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการติดตั้งและวางระบบไฟเบอร์ออฟติกมาก่อน โดยไม่คิดถึงผลที่จะตามมาว่าจะยังความเสียหายให้กับทั้งภาครัฐและประชาชนมากกว่ามูลค่าราคาที่เสนอต่ำกว่ามากมายมหาศาล
อีกทั้งระหว่างการดำเนินการตามสัญญายังเห็นข้อหละหลวมของภาครัฐต่อการติดตามการใช้งบ ไม่มีการตรวจสอบหนังสือสัญญาให้ถี่ถ้วน ทั้งร่างทีโออาร์ที่มีคณะกรรมการรับรองเพียง 3 คน จากข้อกำหนด 5 คน และตั้งคณะกรรมการรับรองผลตรวจงานที่ไม่ใช่ชุดเดียวกับคณะกรรมการร่างทีโออาร์ การกระทำเช่นนี้ส่อให้เห็นว่าเมื่อเกิดปัญหาการฟ้องร้องความเสียหายทางกฎหมายภายหลัง ก็จะเป็นทางหนีทีไล่ของคณะกรรมการทีโออาร์ให้พ้นผิด
ในขณะที่คณะกรรมการรับรองผลตรวจงานก็ไม่เคยรับรองงานของ DRC เพราะรู้ว่าเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบ และหากลงนามก็อาจนำไปสู่การฟ้องร้องภายหลัง ด้วยมีปมพิรุธในการดำเนินงานตั้งแต่ต้น
เงื่อนปมของโครงการที่ถูกซุกไว้ภายในกระทรวงมหาดไทยปูดขึ้นก็เพราะผลงานการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดล่าช้ากว่าสัญญา ทว่ากลับมีเม็ดเงินที่ถูกเบิกไปแล้ว 145 ล้านบาท ขณะที่ DRC เองกลับค้างเงินค่าปรับสูงกว่า 48 ล้านบาท ซึ่งก็ไม่ดำเนินการติดตามทวงคืน แถมปล่อยให้ DRC บอกเลิกสัญญาไปในที่สุด
“โครงการนี้จะต้องมีการตรวจสอบอย่างเป็นระบบทั้งหมด ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีทั้งนักการเมืองและข้าราชการประจำที่เกี่ยวข้องด้วย” นายเจ๊ะอามิง กล่าวย้ำ
ขณะที่ นายต่อพงษ์ อ่ำพันธุ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทยฝ่ายบริหาร ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบ กล่าวยอมรับว่า โครงการนี้ไม่สามารถตรวจรับงานที่บริษัทดำเนินการไปแล้วได้ เพราะงานที่ออกมาไม่ตรงตามสเปกที่วางไว้
จากการตรวจสอบของ “ASTVผู้จัดการรายวัน” ยังพบว่า นอกจากโครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดใน 5 จังหวัดชายแดนใต้แล้ว DRC ยังเป็นผู้รับสัปทานจัดซื้อและติดตั้งเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือในชายแดนใต้ของกระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ 2551 เป็นโครงการที่ 2 ด้วย ซึ่งเป็นโครงการที่มีมูลค่าสูงกว่าการจัดซื้อหรือจัดจ้างอื่นๆ ในปีเดียวกัน
โดยกระทรวงมหาดไทยมีการตั้งราคากลาง 90 ล้านบาท และประมูลด้วยวิธีจัดซื้อแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่ง DRC ได้เสนอราคาต่ำกว่าราคากลางที่ 87,493,900 บาทเท่านั้น โดยมีบริษัทซิมเพิล ค็อกเครน (เอเชีย) จำกัด เป็นบริษัทคู่แข่งเสนอราคาที่ 88,520,000 บาท
ล่าสุด นายปวิณ ชำนิประศาสตร์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า โครงการดังกล่าวยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จเช่นกัน เนื่องจากกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ทั้งการอนุญาตให้ครอบครองและการใช้นั้นมีความล่าช้า
ที่ผ่านมา จึงมีการส่งมอบเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์ได้เพียงบางส่วนในแบบเคลื่อนที่ ซึ่ง DRC ได้นำอุปกรณ์ไปตรวจสอบและส่งมอบให้เป็นของทางราชการแล้ว และได้แจกจ่ายให้จังหวัดต่างๆ คงเหลือส่งมอบส่วนหนึ่งที่เป็นเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์แบบติดตั้ง ซึ่งหากผ่านขั้นตอนของ กทช.แล้วจะนำไปติดตั้งประจำที่ว่าการอำเภอในชายแดนใต้ต่อไป
ทั้งนี้ จะต้องมีการจับตามองต่อไปว่า ท้ายที่สุดแล้วทั้ง 2 โครงการดังกล่าวที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของชาวชายแดนใต้นี้ รัฐบาลจะจริงใจในการแก้ไขปัญหาอย่างไร ??!!