xs
xsm
sm
md
lg

เผือกร้อนปม "CCTV" ที่ชายแดนใต้ รัฐปิดปาก-บริษัทรับสัมปทานหายตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในเมืองใหญ่ของต่างประเทศ นอกจากจะติดกล้องโทรทัศน์วงจรปิดแล้ว ต้องมีเจ้าหน้าที่ดูมอนิเตอร์เพื่อตรวจสอบความผิดปกติ
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่...รายงาน

กล้องวงจรปิด หรือ CCTV (Closed Circuit Television) ถือเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นอุปกรณ์ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการรักษาความปลอดภัย ซึ่งทั้งภาครัฐ ภาคอกชน และประชาชนต่างตั้งความหวังไว้ว่า หากมีการนำเทคโนโลยีชนิดนี้ไปติดตั้งครอบคลุมพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็จะสามารถช่วยให้วิกฤตความไม่สงบ หรือไฟใต้ ที่ถูกจุดให้คุกรุ่นและลุกลามขึ้นมาระลอกใหม่ต่อเนื่องกว่า 5 ปีมาแล้วนั้น อุปกรณ์ชนิดนี้จะช่วยบันทึกภาพเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น จนสามารถนำไปสู่การติดตามจับกุมกลุ่มผู้กระทำผิด หรืออย่างน้อยก็ช่วยป้องปรามไม่ให้เกิดการก่อวินาศกรรมต่างๆ ขึ้นมาได้โดยง่าย

ทว่า ดูเหมือนตามแผนการติดตั้งอุปกรณ์ชนิดนี้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของรัฐบาลที่ผ่านๆ มาจะตอกย้ำความล้มเหลว และความไม่โปร่งใสในการแก้ปัญหาชายแดนใต้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะความล่าช้าของโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิด พร้อมระบบไฟเบอร์ออปติกในชุมชนอันเป็นพื้นที่ล่อแหลมใน 42 อำเภอของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย จ.ปัตตานี ในพื้นที่ 12 อำเภอ ให้มีการติดตั้งรวม 990 ตัว, จ.ยะลา 8 อำเภอ ติดตั้งรวม 596 ตัว, จ.นราธิวาส 13 อำเภอ ติดตั้งรวม 1,028 ตัว, จ.สงขลา 8 อำเภอ ติดตั้งรวม 874 ตัว และ จ.สตูล 1 อำเภอ ติดตั้ง 32 ตัว โดยคิดเป็นการติดตั้งตามโครงการนี้รวมทั้งสิ้น 3,520 ตัว

ตามโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดพร้อมระบบไฟเบอร์ออปติกในชุมชนล่อแหลมใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ดังกล่าวนี้ มีสำนักปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบดูแลโครงการ ซึ่งมีงบประมาณสูงถึง 969 ล้านบาท ตามสัญญาให้เริ่มดำเนินการโครงการตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2550 และมีกำหนดให้ต้องส่งมอบอุปกรณ์ที่ตั้งตั้งให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2551 แต่ล่วงเลยเวลาจวบจนใกล้จะสิ้นปีงบประมาณ 2552 แล้วในเวลานี้ โครงการนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะหาจุดจบลงได้

ย้อนหลังเมื่อช่วงเปิดตัวโครงการในเดือนกันยายน 2550 การเดินหน้าดำเนินการโครงการนี้มีนิมิตหมายในทางที่ดีเมื่อ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้เดินทางไปร่วมเป็นสักขีพยานการสาธิตการทำงานของกล้องวงจรปิดที่จะนำไปใช้ในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งบริษัท ดิจิตัล รีเสิร์ช แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด หรือ ดีอาร์ซี (DRC) ที่มี นายชาญ กุลถาวรากร กรรมการผู้จัดการ เป็นผู้ประมูลโครงการนี้ได้ โดยประกาศว่าได้นำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของ โรเบิร์ต บอซ ผู้ให้บริการเทคโนโลยีระบบรักษาความปลอดภัยและเครื่องเสียงชั้นนำของโลกมาใช้

แต่ต่อมาเมื่อเดือนตุลาคมปี 2551 ในรัฐบาลที่มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นั่งแท่นเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ ซึ่งเป็นรัฐบาลที่สืบเนื่องมาจากรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช โครงการดังกล่าวนี้ก็เริ่มจะมีข้อสงสัยต่อสาธารณชน และส่อพิรุธว่าน่าจะมีการทุจริตเกิดขึ้นในโครงการ ส่งผลให้มีข้าราชการชั้นผู้น้อยรายหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ ได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อนายเจ๊ะอามิง โต๊ะตาหยง ส.ส.นราธิวาส เขต 1 พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.) ถึงความล่าช้าของการดำเนินการ เนื่องจากจวนเจียนถึงกำหนดเวลาส่งมอบ แต่การติดตั้งกล้องวงจรปิดกับมีความคืบหน้าเพียงประมาณ 10% เท่านั้น

อีกทั้งเมื่อมีการท้วงถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้นต่อโครงการนี้ไปยังบริษัท ดิจิตัล รีเสิร์ช แอนด์ คอนซัลติ้ง ปรากฏว่าคำตอบผู้ถามมักจะได้รับกลับมาก็จะเป็นไปในลักษณะของการข่มขู่ พร้อมสำทับว่าถ้าใครอยากรู้ให้ไปถามนักการเมืองคนหนึ่งที่อยู่ในพรรคร่วมรัฐบาลเอาเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการตรวจสอบต่อไปก็พบว่า สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เบิกเงินงบประมาณไปแล้วเป็นจำนวนเงินถึง 140 ล้านบาท ทั้งๆ ที่ยังมีปัญหามากมายในทุกจังหวัดที่จะได้รับการติดตั้งกล้อง CCTV จากโครงการนี้

แม้แต่ในพื้นที่ จ.สงขลา ดูเหมือนเกือบจะเป็นจังหวัดแรกที่ได้รับการติดตั้งกล้อง CCTV ไปใช้งานตามโครงการนี้แล้วก็ตาม เพราะหลังจากที่มีการติดตั้งและบริษัทพร้อมจะส่งมอบให้จำนวน 200 ตัว เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมา แต่คณะกรรมการตรวจรับงานของ จ.สงขลา กลับไม่มีการเซ็นรับงาน เพราะมีการตรวจพบว่าอุปกรณ์ที่นำมาติดตั้งให้นั้นผิดสเปกไม่เป็นไปตามที่ระบุไว้ในสัญญา

ในส่วนของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดสถานการณ์ความไม่สงบสูงยิ่งนั้น ปรากฏว่า โครงการติดตั้ง CCTV ที่ดำเนินการไปแล้วในแทบจะทุกพื้นที่ต่างก็ยังไม่ครอบคลุม และอุปกรณ์ต่างๆ ก็ยังไม่เรียบร้อยจนสามารถใช้งานได้เช่นกัน หลายชุมชนที่ติดตั้ง CCTV ไปแล้วยังคงค้างคาด้วยข้อร้องเรียนถึงคุณภาพที่ไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในสัญญา

รวมถึงระบบการใช้งานและการดูแลรักษาที่ซับซ้อน ทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ต่างร้องเรียนถึงความเดือดร้อนที่เกิดขึ้น และแม้หน่วยงานในท้องถิ่นก็ร่วมติดตามหาคำตอบให้กับประชาชนแล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่าหนทางที่จะคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นกับโครงการนี้ดูจะตีบตันไปเสียหมด ด้วยผู้มีอำนาจนิ่งเงียบและยอมที่จะทนดูความสูญเสียของพี่น้องชายแดนใต้ได้ทุกวี่ทุกวัน

ดังเช่นที่ จ.ปัตตานี ซึ่งมีการติดตั้งกล้อง CCTV ไปได้เพียงบางส่วนเท่านั้น แต่จากการตรวจสอบกลับปรากฏว่า กล้องวงจรปิดที่ติดตั้งไปแล้วแทบจั้งหมดไม่สามารถใช้การได้จนถึงปัจจุบัน ที่ผ่านมาทางจังหวัดได้พยายามแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยการทำหนังสือไปถึงกรมการปกครอง เพื่อของบประมาณซ่อมแซมและดำเนินการโครงการต่อให้แล้วเสร็จ แต่กรมการปกครองได้แจ้งกลับไปว่า ได้อนุมัติงบประมาณและโอนไปให้สำนักปลัดกระทรวงมหาดไทยเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ กรมการปกครองยังระบุด้วยว่า จังหวัดน่าจะไม่สามารถเบิกงบประมาณดังกล่าวได้ เพราะการดำเนินการติดตั้งกล้องวงจรปิดยังไม่แล้วเสร็จตามโครงการ จึงไม่สามารถเบิกงบประมาณเพื่อการซ่อมแซมใดๆ ได้นั่นเอง

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีปัญหาการร้องเรียนในโครงการนี้มากขึ้น จึงนำไปสู่การพยายามค้นหาคำตอบว่า แท้ที่จริงแล้วสาเหตุที่เกิดความล่าช้านั้นเกิดจากอะไรกันแน่ ซึ่งคำตอบที่ได้รับคือ ในส่วนของบริษัท ดิจิตัล รีเสิร์ช แอนด์ คอนซัลติ้ง ไม่มีความพร้อมทั้งในเรื่องของการติดตั้งและระบบเชื่อมต่อสัญญาณต่างๆ อีกทั้งวัสดุอุปกณ์ที่นำมาใช้ก็ไม่ตรงตามสเปก

ความเสียหายเฉพาะส่วนที่บริษัท ดิจิตัล รีเสิร์ช แอนด์ คอนซัลติ้ง ต้องรับผิดชอบนั้นนายเจ๊ะอามิงระบุว่า บริษัทผู้รับเหมาติดตั้งกล้องวงจรปิดตามโครงการนี้ควรจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้รัฐแล้วกว่า 40 ล้านบาท อีกทั้งควรจะต้องมีมาตรการบังคับให้บริษัทเร่งดำเนินการติดตั้งกล้องวงจรปิดตามที่กำหนดไว้ให้แล้วเสร็จโดยเร็วที่สุดด้วย

ก่อนหน้านี้ กมธ.ความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญบริษัท ดิจิตัล รีเสิร์ช แอนด์ คอนซัลติ้ง เข้าชี้แจงถึงข้อเท็จจริงกรณีการดำเนินโครงการที่ล่าช้ากว่ากำหนด ซึ่งบริษัทได้อ้างสาเหตุว่า ฝ่ายปฏิบัติงานไม่สามารถทำงานได้ เพราะยังมีความไม่ปลอดภัยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่มาก และบริษัท เดล คอมพิวเตอร์ ได้ยกเลิกการผลิต CPU ต้นแบบที่กำหนดให้นำมาใช้ในโครงการนี้ ทำให้เสียเวลาในการจัดหาอุปกรณ์ใหม่ รวมถึงสำนักปลัดกระทรวงมหาดไทยไม่ลงนามรับงานต้นแบบ จึงไม่สามารถดำเนินการใดๆ ต่อไปได้

จนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีเหตุผลใหม่ออกมาจากบริษัท ดิจิตัล รีเสิร์ช แอนด์ คอนซัลติ้ง ความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้นใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ และจะคลี่คลายปัญหานี้อย่างไร เพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐที่ใช้ภาษีประชาชนเกือบพันล้านละลายแม่น้ำเช่นนี้ ซึ่งหากผู้รับสัมปทานไม่สามารถดำเนินงานได้แล้ว สมควรที่จะหาบริษัทรายใหม่เข้ามาดำเนินการแทนหรือไม่

สำหรับบริษัท ดิจิตัล รีเสิร์ช แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด หรือ ดีอาร์ซี (DRC) ก่อตั้งเมื่อปี 2544 โดยอ้างว่าเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มคนที่มีประสบการบริหารจัดการในธุรกิจวิทยุสื่อสารโทรคมนาคมมากกว่า 25 ปี บริษัทนี้เคยเข้ายื่นซองประกวดราคาโครงการใหญ่ๆ หลายโครงการจากภาครัฐ

อย่างเมื่อปี 2550 ได้เป็นหนึ่งใน 3 บริษัทผู้ประมูลโครงการจัดซื้อและติดตั้งระบบเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติใน 57 จังหวัด จำนวน 144 แห่ง พร้อมอุปกรณ์เชื่อมโยงสัญญาณเตือนภัยไปยังระบบเสียงตามสาย และระบบเตือนภัยในท้องถิ่นบริเวณพื้นที่เสี่ยงภัย 20 จังหวัด จำนวน 2,000 แห่ง มูลค่า 388 ล้านบาท ของกรมอุตุนิยมวิทยา แต่ถูกตัดสิทธิ์ไม่ผ่านการพิจารณาด้านเทคนิค ซึ่งนำไปสู่การร้องเรียนถึงความไม่โปร่งใสในเวลาต่อมา เนื่องจากกรมอุตุนิยมวิทยาเองก็มีกรณีฉาวโฉ่อยู่หลายเรื่องก่อนแล้ว

อย่างไรก็ตาม แต่บริษัทนี้ได้เป็นตัวแทนติดตั้งหอเตือนภัยสึนามิใน จ.กระบี่ด้วยงบประมาณ 32 ล้านบาทมาแล้ว ซึ่งกำหนดให้มีการติดตั้งหอเตือนภัย จำนวน 20 จุด โดยแล้วเสร็จไปเมื่อเดือนกันยายน 2549 แต่ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2550 กลับเกิดเหตุสัญญาณเตือนภัยดังขึ้นนานนับชั่วโมงจากจำนวนหอเตือนภัย 12 จุด ใน 4 อำเภอ ทำให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวแตกตื่นวิ่งหนีตายอลหม่าน ทั้งที่ไม่ได้มีเหตุสึนามิแต่อย่างใด ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหายจำนวนมาก แต่บริษัทก็ได้แสดงความรับผิดชอบและยอมรับในความผิดพลาดทางเทคนิคแล้ว

ทั้งนี้ ในส่วนของภาคเอกชนและประชาชนต่างก็หวังว่า ผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดพร้อมระบบไฟเบอร์ออปติกในชุมชนอันเป็นพื้นที่ล่อแหลมใน 42 อำเภอของ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มากมายไปด้วยปัญหานี้ จะได้เร่งชี้แจงทำความประจักษ์แจ้งให้กับสังคม เพราะเพียงแค่ความเดือดร้อนของพี่น้อง ณ ปลายด้ามขวานทองของไทยจากวิกฤตไฟใต้ก็มีมากอยู่แล้ว อย่าให้มีผู้ใดนำความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนไปแสวงหาประโยชน์กันอีกเลย
เหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเขตชุมชนของ 3 จังหวัดชายแดนใต้ พื้นที่ล่อแหลมนี้ยังไม่มีกล้องโทรทัศน์วงจรปิดครอบคลุม และบางจุดติดตั้ง แต่ใช้การไม่ได้
ตัวอย่างกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่มีใช้่ในประเทศไทย
1 ในจำนวนกล้องวงจรปิดกว่า 1,000 ตัวที่ใช้อยู่ในพื้นที่ จ.ปัตตานี ซึ่งกำลังมีปัญหาอยู่ในขณะนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น