xs
xsm
sm
md
lg

อย่าเอา...ความไม่โปร่งใส CCTV - เครื่องตัดสัญญาณมาล้อเล่นกับความตายคน จชต.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวหาดใหญ่...รายงาน

เสียงรถบรรทุกสิบล้อเบรกดังเอี๊ยด...โครม...แล้วเอียงกระเท่เร่อยู่ริมถนน หลังจากเฉี่ยวชนเสาไฟฟ้าต้นหนึ่ง แรงล้อที่บี้เบียดถนนและแรงกระแทกทำให้กล้องโทรทัศน์วงจรปิดหล่นตุ๊บกองอยู่กับพื้น

“ผมเห็นเหตุการณ์พอดี โชคดีที่ไม่มีคนเจ็บ มีแต่กล้องที่หักหล่นลงมา กลัวว่าจะมีใครหยิบไปหรือรถคันอื่นที่ไม่เห็นมาเหยียบซ้ำ จึงรีบเก็บเอาไปให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดูเผื่อว่าจะยังใช้การได้ แต่ก็พบว่าเป็นเรื่องที่น่าเจ็บปวด ไอ้กล้องที่ติดอยู่หน้าบ้านผมนั้นมันเสียมานานแล้ว โดยที่ชาวบ้านไม่รู้ คิดว่าหากเกิดเหตุร้ายขึ้นมาจะเป็นที่พึ่งพาได้” นายดิสพูน จ่างเจริญ รองประธานชมรมผู้ประกอบการร้านอาหาร จ.ปัตตานี กล่าวด้วยความเจ็บใจหลังถูกหน่วยงานราชการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่ใช้การไม่ได้เป็นเวลานาน
กล้องวงจรปิดที่ติดตามเสาไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ไม่ได้รับการดูแลจากหน่วยงานรัฐและบริษัทผู้ได้รับสัมปทาน แถมยังใช้การไม่ได้
นี่เป็นเพียงกรณีตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นที่ตอกย้ำว่า นอกจากชีวิตของคนใน 3 จังหวัดชายแดนใต้จะถูกแขวนอยู่บนเส้นด้ายด้วยเหตุความไม่สงบแล้ว ยังต้องวัดดวงกันด้วยว่าพื้นที่ที่ที่โชคดีมีกล้องโทรทัศน์วงจรปิด หรือ CCTV นั้น เมื่อถึงวินาทีฉุกเฉินแล้วจะทำงานได้จริงหรือไม่

ทั้งนี้ ตลอดห้วงเวลา 6 ปีที่เกิดไฟใต้ รัฐบาลได้ลองผิดลองถูกแก้ปัญหามาโดยตลอด ทั้งการทุ่มกำลังเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ตลอดจนงบประมาณในการจัดการปัญหาปีละนับหมื่นล้าน แต่แนวทางหนึ่งที่ได้รับการยอมรับว่ามีผลทั้งทางจิตวิทยา และช่วยในการแกะรอยการก่อเหตุความไม่สงบ คือ การติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพื่อใช้ในความมั่นคง

จากข้อมูลของหน่วยความมั่นคง จ.ปัตตานี ระบุว่า การติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดตั้งแต่ปี 2547 ช่วยลดเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่เทศบาลเมืองปัตตานีได้ โดยปี 2548 เกิดเหตุ 40 ครั้ง แต่ในปี 2551 เกิดเหตุเพียง 19 ครั้ง และนำสู่การจับกุมคนร้ายที่ก่อเหตุได้ในหลายคดี เช่น คดีคนร้ายลอบยิงคนงานเสียชีวิต 5 ศพ หน้าโรงเรียนประสานวิทยา อ.ยะรัง และคดีอุ้มฆ่าปล้นเงินพนักงานบริษัทที่เทศบาลเมืองปัตตานี

ด้วยประสิทธิภาพของ “ดวงตาอิเล็กทรอนิกส์” นี้เอง ทำให้หน่วยงานราชการในพื้นที่ และรัฐบาลทุ่มเทงบประมาณเป็นกรณีพิเศษในการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในพื้นที่เสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ หลายโครงการ ต่างกรรมต่างวาระด้วยกัน ขณะที่ประชาชนก็ให้ความหวังว่าการติดตั้งเพิ่มเติมในแหล่งชุมชน และพื้นที่ล่อแหลม จะสามารถเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายที่ไม่มีวันหลับให้พี่น้องในพื้นที่ได้มั่นใจในความปลอดภัย

เป็นที่น่าสังเกตว่า ส่วนใหญ่งบประมาณในการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดนั้น ต้นทางจะมุ่งสู่สถานที่ราชการอันเป็นตัวแทนของอำนาจจะต้องรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยสูงสุด ก่อนจะกระจายสู่พื้นที่เศรษฐกิจ ทว่ากล้องโทรทัศน์หลายร้อยตัวรวมเป็นเครือข่ายที่หลับใหล ด้วยอุปกรณ์ชำรุดแล้วไม่มีงบในการซ่อมแซม

ขณะที่ภาคธุรกิจเอกชนลงได้เจียดเงินติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเสียเองด้วยประสิทธิภาพที่ขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ เพราะเกรงว่าหากรอกล้องโทรทัศน์วงจรปิดของราชการจะช้าเกินการณ์ ทว่าหลังเกิดเหตุร้ายแล้วกลับมีความซื่อสัตย์บันทึกภาพวินาทีฉุกเฉินไว้ทั้งสิ้น และเป็นหลักฐานให้เจ้าหน้าที่สืบหาเบาะแสได้ในหลายคดี
ประชาชนผู้บริสุทธิ์ตกเป็นเหยื่อก่อความไม่สงบไม่เว้นแต่ละวัน ขณะที่กล้องวงจรปิดไม่สามารถใช้การได้
ดังเช่น กรณี 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน จ.ปัตตานี และยะลา ในช่วงหัวค่ำวันที่ 20 ธันวาคม 2551 คนร้ายนำรถจักรยายนต์ซุกระเบิดจอดไว้หน้าห้างสรรพสินค้าเอสพีซุปเปอร์มาเก็ต กลางเมืองปัตตานี ซึ่งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดของห้างนั้นสามารถบันทึกวินาทีที่นางสือนี หวันสุหลง กำลังก้าวเท้าซ้ายขึ้นรถจักรยานยนต์ ซึ่งมีลูกชายวัย 4 ขวบ และ 2 ขวบนั่งซ้อนท้ายอยู่แล้ว เสี้ยววินาทีนั่นเองก็เกิดเหตุระเบิดดังสนั่น หลังกลุ่มควันฟุ้งจางลงพบร่างท่วมเลือดของนางสือนี โชกเลือดและจากไปไม่มีวันกลับ ทิ้งไว้เพียงลูกชายและประชาชนได้รับบาดเจ็บรวม 5 ราย

ในเวลาไล่เลี่ยกัน ยังเกิดเหตุระเบิดคาร์บอมบ์หน้าห้องอาหารรอยัลปาร์ค โรงแรมยะลาปาร์ควิว เขตเทศบาลเมืองยะลา ซึ่งแม้ระเบิดที่มีน้ำหนักไม่ต่ำกว่า 30 กิโลกรัมจะทำงานไม่เต็มที่ แต่อานุภาพความร้ายแรงที่มีทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 4 ราย

โดยมีการตรวจสอบภาพกล้องวงจรปิดที่ติดบริเวณที่เกิดเหตุ ทำให้พบบุคคลต้องสงสัยและสืบสวนจนทราบว่าทั้ง 2 เหตุการณ์เป็นฝีมือกลุ่มของนายไพศอล หะยีสามะแอ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการผลิตระเบิดในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั่นเอง

นายฟุ้ง สุขเสรีทรัพย์ อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดยะลา ยอมรับว่า เหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น แม้ความถี่จะลดลง แต่มีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะระยะนี้ที่เป็นช่วงถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม และการยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นการชั่วคราว ซึ่งคนร้ายมุ่งก่อเหตุทั้งร้านขายของชำ ร้านอาหาร แม้ว่าการจับจ่ายเม็ดเงินจะคึกคักเป็นกรณีพิเศษ แต่ต้องแลกมาซึ่งความเสี่ยงต่อเหตุที่เกิดขึ้นทุกวัน

อย่างไรก็ตาม พี่น้อง 3 จังหวัดชายแดนใต้ก็ยังต้องอยู่ในพื้นที่ต่อไป ซึ่งนอกจากปราศจากเงินเสี่ยงภัยดั่งเช่นข้าราชการแล้วยังเป็นการอยู่เพื่อประเทศชาติที่ไม่ยอมให้เสียดินแดน และใช้ชีวิตเป็นเดิมพัน ดังนั้น ไม่ว่ารัฐบาลจะนำเงินภาษีมากเพียงใดในการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้สามารถใช้การได้ก็เพียงพอแล้ว

แต่ดูเหมือนเสียงร้องขอของประชาชน และเป็นตัวแทนนักธุรกิจในพื้นที่จะฟังดูไร้ค่าแล้วเพราะนอกจากปัญหากล้องโทรทัศน์วงจรปิดเสียที่ยังไม่ได้รับการซ่อมแซมจะเป็นฟ้องการบริหารงบประมาณที่ล้มเหลว และขาดความใส่ใจในชีวิตของพี่น้องจังหวัดชายแดนใต้แล้ว รัฐบาลยังถูกตบหน้าซ้ำด้วยเมกกะโปรเจ็คติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด 42 อำเภอ ใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ที่ละลายงบเฉียดพันล้าน กับซากอุปกรณ์ไฮเทคกลางเมืองทั่วจังหวัดชายแดนใต้ นับเป็นการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีงบประมาณสูงสุดในห้วง 6 ปี และข้อพิรุธส่อทุจริตเด่นชัด ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบรายวันที่ฉุดคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ทั้ง ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ ประชาชน ไม่เว้นแต่ละวัน

เพราะหลังจากบริษัท ดิติตอล รีเสิร์ช แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด หรือ DRC ผู้รับสัมปทานจะทำหนังสือถึงสำนักปลัดกระทรวงมหาดไทย ขอยกเลิกหนังสือสัญญาการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดและวางสายไฟเบอร์ออฟติก ลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2552 โดยนายวิชัย ศรีขวัญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ตอบรับการยกเลิกสัญญาอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 กันยายนที่ผ่านมาแล้ว

ชีวิตของประชาชนยังคงถูกล้อเล่นกับความตาย และกลายเป็นเครื่องมือแสวงหาผลประโยชน์จากการร่วมกันทุจริตของบางกลุ่มต่อไป!!!

ทั้งนี้ นายเจ๊ะอามิง โต๊ะตาหยง ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาธิปัตย์ และประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งได้ติดตามโครงการนี้มาโดยตลอด เผยว่า เชื่อว่ามีการทุจริตตั้งแต่มีการฮั้วประมูล โดยกระทรวงมหาดไทยได้เลือกบริษัท DRC เพียง เพราะให้ราคาต่ำกว่าราคากลางเพียง 3 ล้านบาท แม้ว่าจะไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการติดตั้งและวางระบบไฟเบอร์ออฟติกก็ตาม โดยไม่คิดถึงผลที่จะตามมาว่าจะยังความเสียหายให้กับทั้งภาครัฐและประชาชนมากกว่ามูลค่าราคาที่เสนอต่ำกว่ามากมายมหาศาล

อีกทั้งระหว่างการดำเนินการตามสัญญานั้นยังเห็นข้อหละหลวมของภาครัฐที่มีต่อการติดตามการใช้งบประมาณ ไม่มีการตรวจสอบหนังสือสัญญาให้ถี่ถ้วน ทั้งร่างหนังสือทีโออาร์ที่มีคณะกรรมการทีโออาร์รับรองเพียง 3 คน จากข้อกำหนด 5 คนและตั้งคณะกรรมการรับรองผลตรวจงานที่ไม่ใช่ชุดเดียวกับคณะกรรมการร่างทีโออาร์ การกระทำเช่นนี้ส่อให้เห็นว่าเมื่อเกิดปัญหาการฟ้องร้องความเสียหายทางกฎหมายภายหลัง จะเป็นทางหนีทีไล่ของคณะกรรมการทีโออาร์ให้พ้นผิด ในขณะที่คณะกรรมการรับรองผลตรวจงานก็ไม่เคยรับรองงานของบริษัท DRC เลย เนื่องจากรู้ว่าเป็นการกระทำที่ผิดระเบียบอยู่แล้ว และหากมีการลงนามก็อาจนำไปสู่การฟ้องร้องภายหลังแน่นอน ด้วยมีปมพิรุธในการดำเนินงานตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว

ปมการทุจริตที่ถูกซุกไว้ภายในกระทรวงมหาดไทยร่วมกับบริษัทรายนี้ได้ปูดต่อธารกำนัล เมื่อผลงานการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดล่าช้ากว่าสัญญา ทว่ามีเม็ดเงินที่ถูกเบิกออกไปแล้ว 145 ล้านบาท แต่ยังค้างเงินค่าปรับสูงกว่า 48 ล้านบาท ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ยังไม่ดำเนินการติดตามทวงคืนความเสียหายของรัฐ ปล่อยให้บริษัทบอกเลิกสัญญาไปในที่สุด ซึ่งเรื่องนี้นายเจ๊ะอามิงกล่าวย้ำว่า จะต้องมีการตรวจสอบขบวนการทุจริตทั้งหมด ซึ่งเชื่อว่าน่าจะมีทั้งนักการเมืองและข้าราชการประจำที่เกี่ยวข้องด้วย

ขณะที่นายต่อพงษ์ อ่ำพันธุ์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ฝ่ายบริหาร ประธานคณะกรรมการตรวจสอบก็ได้กล่าวยอมรับว่า โครงการนี้ไม่สามารถตรวจรับงานที่บริษัทติดตั้งดำเนินการได้ เพราะงานที่ออกมาไม่ตรงตามสเปคที่วางไว้

จากการตรวจสอบของ “ASTVผู้จัดการรายวัน” ยังพบว่านอกจากโครงการติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิด 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว บริษัท DRC ยังเป็นผู้รับสัปทานจัดซื้อและติดตั้งเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือให้กับจังหวัดชายแดนภาคใต้ของกระทรวงมหาดไทย ประจำปีงบประมาณ 2551 เป็นโครงการที่ 2 ซึ่งเป็นชิ้นปลามันที่มีมูลค่าสูงกว่าโครงการจัดซื้อ จัดจ้างอื่นๆ ในปีเดียวกัน

โดยกระทรวงมหาดไทยมีการตั้งราคากลาง 90 ล้านบาท และประมูลด้วยวิธีจัดซื้อแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งบริษัท DRC ได้เสนอราคาต่ำกว่าราคากลางที่ 87,493,900 บาทเท่านั้น โดยมีบริษัทซิมเพิล ค็อกเครน (เอเชีย) จำกัด เป็นบริษัทคู่แข่งเสนอราคาที่ 88,520,000 บาท

ล่าสุดนายปวิณ ชำนิประศาสตร์ ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวนั้นก็ยังดำเนินการไม่เสร็จเรียบร้อยเช่นกัน เนื่องจากกระบวนการตรวจสอบของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ทั้งการอนุญาตให้นำ การครอบครอง และการใช้นั้นมีความล่าช้า

ดังนั้น จึงมีการส่งมอบเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์เพียงบางส่วน คือแบบเคลื่อนที่ซึ่งบริษัทได้นำอุปกรณ์ไปตรวจสอบและส่งมอบให้เป็นของทางราชการแล้ว และได้ทำการแจกจ่ายให้จังหวัดต่างๆ คงเหลือส่งมอบส่วนหนึ่งที่เป็นเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์แบบติดตั้ง ซึ่งหากผ่านขั้นตอนนั้นแล้วจะนำไปติดตั้งประจำที่ว่าการอำเภอในจังหวัดชายแดนใต้ต่อไป

ทั้งนี้ จะต้องมีการจับตามองและตรวจสอบต่อไปว่าท้ายที่สุดแล้วโครงการนี้จะดำเนินรอยตามผลงานก่อนหน้านี้หรือไม่

กำลังโหลดความคิดเห็น