xs
xsm
sm
md
lg

สสจ.กระบี่เตรียมพร้อมรับมือโรคจากยุงแพร่ระบาดระลอกใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กระบี่-“นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกระบี่” ชวนประชาชนเตรียมความพร้อม รับมือลดปัญหาการติดเชื้อป่วยเป็นไข้เลือดออก และโรคปวดข้อยุงลาย ก่อนถึงฤดูกาลระบาด หวั่นนักท่องเที่ยวขาดความเชื่อมั่น

นายแพทย์จิรพันธ์ เต้พันธ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกระบี่ กล่าวว่า ปี 2552 ที่ผ่านมา จังหวัดกระบี่ เผชิญกับการระบาดของโรคจากยุงลายถึง 2 โรค คือ โรคไข้เลือดออก มียุงลายบ้านเป็นพาหะ ซึ่งถือเป็นโรคประจำถิ่นของจังหวัดกระบี่ไปแล้ว ซึ่งปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยสะสม จำนวน 294 ราย และโรคปวดข้อยุงลาย ที่มียุงลายสวนพาหะ ในรอบปีที่ผ่านมาพบผู้ป่วย จำนวน 974 ราย ซึ่งทั้ง 2 โรค ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และวิถีชีวิตของประชาชนอย่างมากในการประกอบอาชีพ รวมถึงมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม โรคดังกล่าวถือว่า เป็นโรคที่ควบคุมได้ไม่ยาก หากประชาชนร่วมแรงร่วมใจกันควบคุมป้องกันโรค และเชื่อว่า จากประสบการณ์ของการระบาดในรอบปีที่ผ่านมา จะทำให้ชาวกระบี่ตื่นตัว และให้ความสำคัญในการป้องกันควบคุมโรคมากขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว การระบาดจะรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ จนกลายเป็นโรคระบาดซ้ำซาก ยากที่จะควบคุมได้ และจะกลายเป็นปัญหาสุขภาพในระยะยาว

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกระบี่ กล่าวต่อไปว่า ยุงลายบ้าน และยุงลายสวน จะชุกชุมมากในฤดูฝน เพราะช่วงหลังฝนตกชุกอุณหภูมิ และความชื้นเหมาะแก่การแพร่พันธุ์ ส่วนฤดูร้อนจะพบยุงลายน้อยมาก ทำให้การควบคุมกำจัดลูกน้ำทำได้ง่าย และสะดวกที่สุดกว่าช่วงอื่น ๆ

เนื่องจากลูกน้ำยุงลายอยู่ในภาชนะขังน้ำต่าง ๆ ทั้งภายใน และนอกบ้าน จึงเป็นเป้านิ่งในการควบคุมกำจัดได้ดีกว่าระยะอื่น ๆ วิธีที่ง่าย และสะดวกที่สุดคือ ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ ปิดฝาภาชนะเก็บน้ำให้มิดชิด เปลี่ยนถ่ายน้ำในแจกัน จานรองกระถาง ทุก ๆ 7 วัน

สำหรับภาชนะที่ปิดฝาไม่ได้ เช่น บ่อซีเมนต์ให้ใส่ทรายกำจัดลูกน้ำในอัตรา 10 กรับต่อน้ำ 100 ลิตร หรือปล่อยปลาหางนกยูง รวมถึงการปรับปรุงระบบสุขาภิบาลรอบบ้าน หรือที่อยู่อาศัย กำจัดเศษวัสดุเหลือใช้ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธ์ยุง ก่อนเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่โรคกำลังระบาดทำให้ยากที่จะควบคุมได้ในระยะเวลาอันสั้น

อย่างไรก็ตาม การป้องกันตัวไม่ให้ยุงกัดก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง ที่จะช่วยลดการระบาดของโรคในพื้นที่ได้ โดยให้ผู้ป่วยที่มีไข้ทายากันยุง และนอนในมุ้ง สวมเสื้อผ้าให้มิดชิด หรือทายาทากันยุงทุกครั้ง เมื่อต้องเข้าสวนหรือไปในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค.
กำลังโหลดความคิดเห็น