สธ.เผยผลงานหลังประกาศสงครามปราบโรคไข้ปวดข้อยุงลายใน 14 จังหวัดภาคใต้ 7 สัปดาห์ ได้ผลน่าพอใจ จำนวนผู้ป่วยลดลงทุกสัปดาห์ จาก 4,000 กว่าราย ช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 2552 เหลือเพียง 362 รายในสัปดาห์นี้ ย้ำยังวางใจไม่ได้เนื่องจากอยู่ในช่วงหน้าฝน ต้องเข้มข้นดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนครบ 90 วันตามเป้าหมาย ป้องกันสถานการณ์กลับมารุนแรง
วันนี้ (22 สิงหาคม) ที่โรงแรมลีการ์เดนส์ พลาซ่า อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.เสรี หงษ์หยก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และประธานคณะกรรมการฝ่ายปฏิบัติการศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคไข้ปวดข้อยุงลายภาคใต้ ประชุมนพ.สาธารณสุขจังหวัด ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลาย และโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1
นพ.ปราชญ์กล่าวว่า หลังจากที่กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคไข้ปวดข้อยุงลายใน 14 จังหวัดภาคใต้ ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2552 มีนพ.เสรี หงษ์หยก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน และให้ทุกพื้นที่เน้นการป้องกันไม่ให้ป่วยโดยไม่ให้ยุงกัด และหากป่วยแล้วไม่แพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่น โดยประสานความร่วมมือทุกภาคส่วน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และระดมพลัง อสม. ออกรณรงค์พร้อมกันทุกหมู่บ้าน/ชุมชน ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และค้นหาผู้ป่วย ตามยุทธศาสตร์ 90 วัน ภาคใต้ร่วมใจต้านภัยไข้ปวดข้อยุงลาย และใช้หลักการเดียวกันป้องกันควบคุมโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ฯ ด้วย
ผลการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการฯ รอบกว่า 1 เดือนมานี้ เจ้าหน้าที่ และอสม. ค้นหาผู้ป่วยไข้ปวดข้อยุงลายรายใหม่ในชุมชนใน 14 จังหวัดภาคใต้ได้ 9,982 ราย ซึ่งสูงกว่าจำนวนที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลกว่า 3 เท่าตัว ทำให้ควบคุมป้องกันโรคได้อย่างรวดเร็ว การระบาดในภาพรวมของภาคใต้ลดลงเรื่อยๆ จาก 4,102 รายในช่วงสัปดาห์แรกหลังเปิดศูนย์ (28 มิถุนายน – 4 กรกฎาคม 2552) เหลือเพียง 362 ราย ในช่วง 9 - 15 สิงหาคม 2552 ส่วนจำนวนผู้ป่วยไข้เลือดออกก็ลดลงเช่นเดียวกันจาก 124 ราย เหลือ 21 รายในช่วงเดียวกัน
ทั้งนี้ สำนักระบาดวิทยา รายงานสถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลายทั่วประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 18 สิงหาคม 2552 พบผู้ป่วย 38,275 รายใน 51 จังหวัด ไม่มีผู้เสียชีวิต ร้อยละ 98 อยู่ในภาคใต้ จำนวน 37,835 ราย ที่เหลือกระจายในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูฝนของภาคใต้ ได้เน้นย้ำให้ดำเนินการอย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้สถานการณ์กลับมารุนแรง
ด้านนพ.เสรีในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายปฏิบัติการศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคไข้ปวดข้อยุงลายภาคใต้ กล่าวว่า ศูนย์ปฏิบัติการฯ ตั้งเป้าหมายควบคุมโรคไข้ปวดข้อยุงลายให้สำเร็จภายใน 90 วันคือสิ้นเดือนกันยายน 2552 จากผลกสนดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1–19 สิงหาคม 2552 ได้ออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วย 43,308 ครั้ง แจกยากันยุง 114,088 ชุด ชุบเสื้อกันยุง 24,202 ตัว พ่นหมอกควัน 281,464 หลังคาเรือน ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง 702,761 หลังคาเรือน แจกคู่มือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย 492,495 ชุด จัดเวทีเสวนาในกลุ่มชาวบ้าน 2,421 ครั้ง มีผู้เข้าร่วม 108,028 คน และออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ 571 ครั้ง