สปสช.สรรงบ 10 ล้านบาท สนับสนุนตั้งศูนย์ปฏิบัติการคุมโรคชิคุนกุนยาภาคใต้ ชี้หากไม่คุมการแพร่ระบาด คาดเฉพาะ 14 จ.ภาคใต้ยอดผู้ป่วยไม่ต่ำกว่า 35,000 คน ไม่เสียชีวิตแต่ปวดทรมานต้องหยุดงานเฉลี่ย 7 วัน ส่งผลสูญเสียทางเศรษฐกิจ 700 ล้านบาท เผยยอดล่าสุดป่วยแล้ว 47 จังหวัด 32,102ราย วางยุทธศาสตร์ 3 รบ หยุดโรคไข้ปวดข้อยุงลายภายใน ก.ย.นี้
นพ.วีระวัฒน์ พันธ์ครุฑ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สปสช.เห็นชอบให้จัดสรรงบประมาณเป็นเงินรวมจำนวน 10 ล้านบาท สนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคไข้ปวดข้อยุงลายภาคใต้ เพื่อให้เกิดการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้ปวดข้อยุงลายซึ่งกำลังเป็นปัญหาใหญ่ในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ได้อย่างทันท่วงที โดย สปสช.เขต 11 สุราษฎร์ธานี และเขต 12 สงขลาในฐานะเจ้าของพื้นที่ได้จัดสรรงบประมาณจากงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของทั้งสองเขตร่วมสมทบเพื่อสนับสนุนให้การดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
“แม้ว่าโรคไข้ปวดข้อยุงลายไม่ถึงขั้น ทำให้เสียชีวิตก็ตาม แต่ผู้ป่วยจะปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและข้อ ไม่สามารถทำงานได้ หากไม่เร่งควบคุมการแพร่ระบาด คาดว่าจะมีประชาชนใน 14 จังหวัดภาคใต้ป่วยไม่ต่ำกว่า 35,000 คน และหากหยุดงานเฉลี่ย 7 วัน จะสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจประเทศราว 700 ล้านบาท” นพ.วีระวัฒน์ กล่าว
นพ.วีระวัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับโรคไข้ปวดข้อยุงลาย เกิดจากเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งมักกัดคนเวลากลางวัน หลังจากกัดผู้ป่วยแล้วจะมีเชื้ออยู่ในตัวยุง ยุงตัวเมีย 1 ตัว มีอายุประมาณ 1-3 เดือน เมื่อยุงมากัดคนปกติก็จะถ่ายทอดเชื้อให้ หลังรับเชื้อ 1 ถึง 12 วัน จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ และมีผื่นแดงตามร่างกาย แขน ขา ปวดข้อมากจนบางครั้งขยับไม่ได้ ส่วนใหญ่อาการจะหายได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่บางรายมีอาการปวดข้อนานเป็นเดือน การป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่สู่คนอื่น ขอให้ผู้ที่ป่วยนอนในมุ้ง เพื่อไม่ให้ยุงกัด ซึ่งปริมาณเชื้อจะมีในเลือดมากในช่วงหลังป่วยมีไข้ 6 วันแรก ปัจจุบันยังไม่มียารักษาเฉพาะ และไม่มีวัคซีนป้องกัน มีเพียงรักษาตามอาการเช่นให้ยาลดไข้ และยาแก้ปวดข้อ
นพ.เสรี หงษ์หยก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 7 ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคไข้ปวดข้อยุงลายภาคใต้ เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฯ ขึ้นที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง ซึ่งมีแนวทางหลักในการตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคไข้ปวดข้อยุงลายภาคใต้นั้น เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาเชิงรุกแบบบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับจังหวัดโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีตัวแทนจากอำเภอ อบจ.เทศบาล อบต.อสม.และประชาชนทั่วไป ภายใต้ยุทธศาสตร์ 3 รบ คือ รบรุก ได้แก่ การสำรวจพื้นที่อย่างเร่งด่วน รบเร็ว ได้แก่ นำข้อมูลที่ได้จากการสำรวจมาวางแผนทำลายพาหะ และรบแรง คือ ระดมกำลังทุกภาคส่วนเข้ามาแก้ไขปัญหา มีเป้าหมายลดผู้ป่วยรายใหม่และควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคให้กลับสู่ภาวะปกติให้ได้ภายใน 90 วัน คือ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กันยายนนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานผู้ป่วยสะสมล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-30 มิ.ย.ใน 47 จังหวัด แบ่งเป็นภาคใต้ 14 จังหวัด ภาคกลาง 14 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด ภาคเหนือ 9 จังหวัด รวมมีผู้ป่วยทั้งสิ้นจำนวน 32,102 ราย
ทั้งนี้ หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถติดตามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th หรือโทร.สอบถามได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 0-2590-3333 และศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข หมายเลขโทรศัพท์ 0-2590-1994 ตลอด 24 ชั่วโมง