xs
xsm
sm
md
lg

รอบรู้โรคภัย : ระวัง!! ชิคุณกุนยา ไวรัสร้ายจากยุงลาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นอกเหนือจากโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 ที่กำลังแพร่ระบาดในขณะนี้แล้ว อีกหนึ่งไวรัสร้ายที่ได้แพร่ระบาดมาตั้งแต่ต้นปี และระบาดมากที่สุดในภาคใต้ ก็คือ ไวรัสชิคุนกุนยา(Chikungunya virus) ซึ่งก่อให้เกิดโรคชิคุนกุนยา หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศให้โรคนี้เป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ

“ขิคุนกุนยา” มาจากไหน?
การติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา เดิมมีรกรากอยู่ในทวีปอาฟริกา ในประเทศไทยมีการตรวจพบครั้งแรกพร้อมกับที่มีไข้เลือดออกระบาดและเป็นครั้งแรกในทวีปเอเชีย เมื่อ พ.ศ.2501 และพบมีการระบาดของโรคชิคุนกุนยาในประเทศไทย 6 ครั้ง ในปีพ.ศ. 2531 ที่จังหวัดสุรินทร์ พ.ศ.2534 ที่จังหวัดขอนแก่น และปราจีนบุรี ในปีพ.ศ.2536 มีการระบาด 3 ครั้ง ที่จังหวัดเลย นครศรีธรรมราช และหนองคาย
ขณะนี้โรคไข้ปวดข้อยุงลาย ได้แพร่ระบาดในจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย สถานการณ์ ตั้งแต่ต้นปี จนถึงวันที่ 23 มิถุนายน 2552 พบว่า จำนวนผู้ป่วยสะสม 30,596 รายใน 44 จังหวัด อัตราป่วย 48.26% ต่อประชากรแสนคน และพบผู้ป่วยเกือบ ทุกภาคของประเทศ แต่ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

ยุงลายคือพาหะ
โรคชิคุนกุนยาเป็นโรคติดเชื้อไวรัสชิคุนกุนยา (Chikungunya virus) ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรคที่สำคัญ(ซึ่งมักกัดคนเวลากลางวัน) เมื่อยุงลายตัวเมียกัดและดูดเลือดผู้ป่วยที่อยู่ในระยะไข้สูง ซึ่งเป็นระยะที่มีไวรัสอยู่ในกระแสเลือด เชื้อไวรัสจะเข้าสู่กระเพาะยุง และเพิ่มจำนวนมากขึ้น แล้วเดินทางเข้าสู่ต่อมน้ำลาย เมื่อยุงที่มีเชื้อไวรัสชิคุนกุนยาไปกัดคนอื่นก็จะปล่อยเชื้อไปยังคนที่ถูกกัด หลังจากระยะฟักตัว 1-12 วัน
โรคนี้จะพบมากในฤดูฝน เพราะยุงลายชุกชุม ทำให้เกิดการติดเชื้อในยุงลายมากขึ้น และโรคนี้จะพบได้ในทุกกลุ่มอายุ ซึ่งต่างจากไข้เลือดออกและหัดเยอรมันที่ส่วนมากพบในผู้อายุน้อยกว่า 15 ปี

อาการของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
ผู้ถูกยุงมีเชื้อกัดจะมีอาการไข้สูงอย่างฉับพลัน มีผื่นแดงตามร่างกาย แขน ขา และอาจมีอาการคันร่วมด้วย พบตาแดง แต่ไม่ค่อยพบจุดเลือดออกในตาขาว ส่วนใหญ่แล้วในเด็กจะมีอาการไม่รุนแรงเท่าในผู้ใหญ่
ในผู้ใหญ่อาการที่เด่นชัดคืออาการปวดข้อ ซึ่งอาจพบข้ออักเสบได้ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ข้อเล็กๆ เช่น ข้อมือ ข้อเท้า อาการปวดข้อจะพบได้หลายๆ ข้อเปลี่ยนตำแหน่งไปเรื่อยๆ อาการจะรุนแรงมากจนบาง ครั้งขยับข้อไม่ได้ ส่วนใหญ่อาการจะหายภายใน 1-2 สัปดาห์ ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดข้อเกิดขึ้นได้อีกภายใน 2-3 สัปดาห์ต่อมา แต่บางรายมีอาการปวดข้อนานเป็นเดือนหรือเป็นปี ปัจจุบันยังไม่มียารักษาเฉพาะ และไม่มีวัคซีนป้องกัน เพียงรักษา ตามอาการ โดยให้ยาลดไข้ และยาแก้ปวดข้อ โรคนี้ส่วนใหญ่ไม่รุนแรงถึงชีวิต จะหายได้เอง และจะมีภูมิคุ้มกันตลอดชีวิต
สำหรับประชาชนที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคไข้ปวดข้อยุงลาย สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์ปฎิบัติการควบคุมโรค 0-2590-3333 และศูนย์บริการ ข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข 0-2590-1994 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือดูข้อมูลผ่านเวบไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th

คำแนะนำ
ผู้ที่มีอาการไข้สูง ร่วมกับอาการปวดข้อ หรือออกผื่นให้รีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ หรือมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ภายใน 2 สัปดาห์(14 จังหวัดทางภาคใต้) ในกรณีที่ยังไม่อาจไปพบแพทย์ได้และมีความจำเป็นต้องรับประทานยา แนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอล
• ผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายในระยะ1 สัปดาห์หลังมีไข้ ควรป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุง กัด เพื่อลดการแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่น โดยนอนในมุ้งในเวลากลางวันและกลางคืน และไม่ควรเดินทางออกนอกพื้นที่ภายในระยะ 1 สัปดาห์
• ผู้ที่อาศัยอยู่ร่วมบ้านกับผู้ป่วยหรือผู้ที่ไปมาหาสู่ อาจมีโอกาสติดเชื้อควรเฝ้าระวังตนเอง 2 สัปดาห์
• ผู้ที่จำเป็นต้องเข้าไปในสวนยางพารา หรือสวนผลไม้ ควรป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด โดยสวมเสื้อผ้าแขนยาวขายาวให้มิดชิด ทายากันยุง เป็นต้น
• นอนในมุ้ง หรือห้องที่กรุด้วยมุ้งลวด จุดยากันยุง แม้ในเวลากลางวัน
• ประชาชนทุกครัวเรือนต้องทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ในบ้านและรอบบ้านของตน ทุก 7 วัน โดยเฉพาะภาชนะที่ไม่ได้ใช้รอบๆบ้าน ไปจนถึงในสวนยางพารา สวนผลไม้ เช่น ยางรถยนต์ ภาชนะที่มีน้ำขัง ได้แก่ ถ้วยรองน้ำยางพารา กะลามะพร้าว กาบใบไม้ เป็นต้น
• ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ในการควบคุมโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

จาก ธรรมลีลา ฉบับ 104 กรกฎาคม 52
กำลังโหลดความคิดเห็น