xs
xsm
sm
md
lg

สธ.ออกประกาศคำแนะนำป้องกันโรคชิคุนกุนยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สาธารณสุขออกประกาศคำแนะนำเรื่องโรคชิคุนกุนยา ฉบับที่ 1 ให้ประชาชน อสม. อปท.และสถานศึกษาร่วมมือป้องกันโรค ทุกครัวเรือนต้องทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในบ้านและรอบบ้านทุก 7 วัน ผู้ที่มีอาการไข้สูง ร่วมกับอาการปวดข้อหรือออกผื่น โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในภาคใต้ ภายใน 2 สัปดาห์ ขอให้พบแพทย์ทันที

นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สธ.ได้ออกประกาศคำแนะนำประชาชน เรื่อง โรคไข้ปวดข้อยุงลาย (Chikungunya) ฉบับที่ 1 เพื่อความร่วมมือในการป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลาย หลังจากที่โรคไข้ปวดข้อยุงลาย ได้แพร่ระบาดในจังหวัดทางภาคใต้ของประเทศไทย โดยมียุงลายเป็นพาหะทำให้เกิดโรค สถานการณ์ตั้งแต่ต้นปีจนถึง 19 พฤษภาคม 2552 พบจำนวนผู้ป่วยสะสม 20,541 ราย ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

นายวิทยา กล่าวต่อไปว่า เพื่อเร่งรัดการเฝ้าระวังโรค สกัดกั้นการแพร่ระบาด การป้องกันและควบคุมโรค การดูแลผู้ป่วย การเผยแพร่ความรู้ ส่งเสริมบทบาทการป้องกันและควบคุมโรคของประชาชนให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น เพื่อรับมือกับโรคไข้ปวดข้อยุงลายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผลการดำเนินงานจะช่วยลดโรคไข้เลือดออกด้วย สำหรับการป้องกันควบคุมโรคที่สำคัญ คือ ประชาชน ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีส่วนร่วมในการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาดโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

สธ.จึงเน้นย้ำคำแนะนำประชาชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และสถานศึกษา เพื่อขอความร่วมมือในการป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ดังนี้ ในกลุ่มประชาชนทั่วไป ผู้ที่มีอาการไข้สูง ร่วมกับอาการปวดข้อ หรือออกผื่นให้รีบไปพบแพทย์ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่ หรือมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้ปวดข้อยุงลาย ภายใน 2 สัปดาห์ (14 จังหวัดทางภาคใต้) ในกรณีที่ยังไม่อาจไปพบแพทย์ได้และมีความจำเป็นต้องรับประทานยา แนะนำให้ใช้ยาพาราเซตามอล ผู้ป่วยโรคไข้ปวดข้อยุงลายในระยะ1 สัปดาห์ หลังมีไข้ ควรป้องกันตนเองไม่ให้ถูกยุงกัด เพื่อลดการแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่น โดยนอนในมุ้งในเวลากลางวันและกลางคืน และไม่ควรเดินทางออกนอกพื้นที่ภายในระยะ 1 สัปดาห์

กลุ่ม อสม. ขอให้เฝ้าระวังประชาชนในหมู่บ้านหรือพื้นที่ที่รับผิดชอบ หากพบผู้ที่มีอาการไข้สูง ร่วมกับอาการปวดข้อ หรือออกผื่นให้รีบพาไปพบแพทย์ และรายงานต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่โดยเร็ว สำรวจและร่วมทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ในบ้านและนอกบ้าน ผู้ป่วยและบ้านเรือนใกล้เคียงและต่อเนื่องถึงพื้นที่สวน ในรัศมี 400 เมตร ให้คำแนะนำและขอความร่วมมือประชาชนในการป้องกันยุงกัด เช่น การใช้มุ้ง ยากันยุง ยาทากันยุง การกำจัดและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย และตัวเต็มวัยด้วยตนเอง รวมทั้งคำแนะนำในการใช้ยาให้ถูกต้อง

กลุ่ม อปท.ขอความร่วมมือประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่ทราบสถานการณ์ วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันควบคุมโรคในชุมชน ดำเนินการต่าง ๆ เพื่อลดจำนวนยุงตัวเต็มวัย และแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เช่น ปรับปรุงสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม จัดรณรงค์ Big Cleaning Day สัปดาห์ละครั้ง ต่อเนื่อง 3 เดือน ออกข้อบัญญัติ หรือเทศบัญญัติท้องถิ่น เพื่อให้มีการดูแล กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในชุมชน อย่างทั่วถึงและต่อเนื่อง โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม ตลอดจนสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรค การควบคุมยุงลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ และลูกน้ำยุงลาย

ส่วนกลุ่มโรงเรียนและสถานศึกษา ดำเนินการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในสถานศึกษา ทุก 7 วัน ให้ความรู้และคำแนะนำแก่นักเรียน เกี่ยวกับโรคไข้ปวดข้อยุงลาย วงจรชีวิตของยุง การแพร่เชื้อ และวิธีป้องกัน หากพบนักเรียน นักศึกษาที่มีอาการไข้สูงร่วมกับอาการปวดข้อ หรือออกผื่นให้รีบพาไปพบแพทย์ และแนะนำวิธีปฏิบัติตัวในการป้องกันการแพร่เชื้อหากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคไข้ปวดข้อยุงลาย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในพื้นที่หรือมาจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้ปวดข้อยุงลายภายใน 2 สัปดาห์

ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถติดตามได้ที่ เว็บไซต์กระทรวงสาธารณสุข www.moph.go.th และหากมีข้อสงสัย สามารถติดต่อได้ที่ ศูนย์ปฏิบัติการ กรมควบคุมโรค หมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 3333 และศูนย์บริการข้อมูลฮอตไลน์ กระทรวงสาธารณสุข หมายเลขโทรศัพท์ 0 2590 1994 ตลอด 24 ชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น