xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เปิดวอร์รูมสู้ “ชิกุนคุนยา” ที่ตรัง ใช้ยุทธศาสตร์ 3 รบ ฟุ้ง 90 วันเห็นผล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สาธารณสุข เปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคไข้ปวดข้อยุงลายภาคใต้ ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง ประกาศใช้ยุทธศาสตร์ 3 รบ คือ รบรุก รบเร็ว รบแรง มั่นใจเห็นผลภายใน 90 วัน

วันนี้ที่จังหวัดตรัง นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามความร่วมมือกับนายกองค์กรบริหารส่วนจังหวัด และประธานชมรม อสม. 14 จังหวัดภาคใต้ ร่วมกำจัดโรคชิคุนกุนยา หรือโรคไข้ปวดข้อยุงลาย และเปิดศูนย์ปฏิบัติการหรือวอร์รูมควบคุมการแพร่ระบาดโรคไข้ปวดข้อยุงลายใน 14 จังหวัดภาคใต้ ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง

นายวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้โรคไข้ปวดข้อยุงลาย กำลังเป็นปัญหาในจังหวัดทางภาคใต้ และในหลายจังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศในขณะนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินงานเชิงรุกในการควบคุมป้องกันโรค สามารถลดจำนวนผู้ป่วยในภาพรวมจาก 7,000 กว่าราย ในเดือนพฤษภาคม เหลือไม่ถึงร้อยละ 50 ในเดือนมิถุนายน ที่ยังน่าเป็นห่วง คือ จังหวัดทางภาคใต้ตอนบน 7 จังหวัด ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา ภูเก็ต และ ระนอง มีแนวโน้มพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะเข้มการดำเนินงานมากขึ้น ได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคไข้ปวดข้อยุงลายภาคใต้ ที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง มีนายแพทย์ เสรี หงษ์หยก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานศูนย์ โดยประสานการทำงานอย่างใกล้ชิดกับ 14 จังหวัดภาคใต้ และเครือข่ายทุกภาคส่วนเพื่อลดความรุนแรงในการระบาดของโรค

นายวิทยา กล่าวต่อว่าในวันนี้ ได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง กระทรวงสาธารณสุข กับนายกองค์กรบริหารส่วนจังหวัด และประธานชมรม อสม.ใน 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อร่วมมือในการควบคุมและป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลาย โดยมีการสนับสนุนวัสดุอุปกรณ์ สารเคมีกำจัดยุง ยาพ่น ยาทากันยุง รวมทั้งประชาสัมพันธ์ขอร่วมมือประชาชนอีกด้วย ซึ่งหากทุกฝ่ายประสานการทำงานอย่างใกล้ชิด จะสามารถขจัดโรคนี้ได้ไม่ยาก

ด้านนายแพทย์ เสรี หงษ์หยก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรคไข้ปวดข้อยุงลายภาคใต้ กล่าวว่า ในการควบคุมป้องกันโรคไข้ปวดข้อยุงลายในภาคใต้ ได้กำหนดยุทธศาสตร์ 3 รบ ได้แก่ 1.รบรุก โดยให้เจ้าหน้าที่ผนึกกำลังกับ อสม.ออกเอกซเรย์ค้นหาผู้ป่วยในทั่วทุกพื้นที่ภาคใต้ หากพบผู้ป่วยให้รีบรายงาน แจกยาทาป้องกันยุงกัดภายใน 3 วัน และนอนในมุ้ง เพื่อป้องกันยุงกัด นำเชื้อไปแพร่สู่คนอื่น 2.รบเร็ว โดยเมื่อได้รับรายงานผู้ป่วยในพื้นที่ใด ระดมเจ้าหน้าที่ ออกทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุง และยุงลายตัวแก่ภายใน 3 สัปดาห์ต่อเนื่อง และ 3.รบแรง โดยระดมทุกเครือข่าย ระดมทรัพยากรที่มี เพื่อควบคุมป้องกันโรคอย่างเต็มที่ และทำอย่างต่อเนื่องตลอด 3 เดือน มั่นใจว่าภายในกันยายน 2552 นี้ จะสามารถลดจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ลงได้ แน่นอน

ทั้งนี้ หากประชาชนสนใจ หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคไข้ปวดข้อยุงลาย สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.chikungunya.org/ สำหรับสถานการณ์โรคไข้ปวดข้อยุงลายใน 14 จังหวัดภาคใต้ล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-23 มิถุนายน 2552 มีรายงานผู้ป่วยสะสม 29,553 ราย ไม่มีรายงานเสียชีวิต
กำลังโหลดความคิดเห็น