ตรัง - ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 7 ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า ในการเปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมไข้ปวดข้อยุงลายภาคใต้ ย้ำให้กำลัง อสม.รวมพลังหยุดยั้งให้ได้ใน 3 เดือน
วันนี้ (17 มิ.ย.) ที่ ห้องประชุมสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง นายแพทย์เสรี หงษ์หยก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 7 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการควบคุมไข้ปวดข้อยุงลายภาคใต้ ได้เดินทางมาตรวจเยี่ยม และติดตามความก้าวหน้าในการเปิดศูนย์ปฏิบัติการควบคุมไข้ปวดข้อกระดูกยุงลายภาคใต้ โดยกำหนดให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรังเป็นศูนย์บัญชาการ ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงสาธารณสุข เพื่อใช้เป็นศูนย์ปฏิบัติการควบคุมการระบาดของโรคไข้ปวดข้อกระดูกยุงลาย ที่มียุงลายเป็นพาหะสำคัญของโรค และเกิดการระบาดขึ้นในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ นับตั้งแต่ต้นปี 2552
ทั้งนี้ ได้มีคณะกรรมการฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการทำงานของศูนย์ฯ ดังกล่าวเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง เพื่อรายงานความคืบหน้าในการปฏิบัติงานให้ได้รับทราบ อาทิ นายแพทย์สาธิต ไผ่ประเสริฐ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดตรัง ในฐานะเลขานุการศูนย์ฯ นายแพทย์วิฑูรย์ เหลืองดิลก ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง นายธีระศักดิ์ มักคุ้น ผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมพัฒนา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง นายแพทย์สุวิทย์ ธรรมปาโล ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมโรค เขต 12 สงขลา และ นายแพทย์บัญชา ค้าของ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกระบี่
ภายใต้ยุทธศาสตร์ “90 วัน ใต้ต้านภัยไข้ปวดข้อยุงลาย” โดยให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ป้องกัน ทั้งเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งใกล้ชิดครัวเรือนของประชาชนในพื้นที่มากที่สุด รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีทั้งกำลังบุคลากร และงบประมาณ ตลอดจนสื่อมวลชนทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อร่วมกันสร้างกระแสความตื่นตัวให้เกิดขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ในการช่วยกันกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย และเข้ามามีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็ง
นายแพทย์ เสรี หงษ์หยก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 7 ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการควบคุมไข้ปวดข้อกระดูกยุงลายภาคใต้ กล่าวว่า กำลังสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจควบคุมไข้ปวดข้อยุงลายก็คือ เจ้าหน้าที่ อสม.ในพื้นที่ทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งมีอยู่จำนวนหลายหมื่นคน ทั้งนี้ ทางศูนย์โดยเฉพาะสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั้ง 14 จังหวัดของภาคใต้ จะต้องเร่งอบรมให้ความรู้ แจกกระจายแผ่นพับ และยากันยุง ให้กับประชาชนในพื้นที่ทุกครัวเรือน
นอกจากนั้น ยังต้องออกไปให้ความรู้ให้กับประชาชน เกี่ยวกับวิธีการชุบน้ำยาเคมีเสื้อกรีดยางพารา เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงกัน ตลอดจนการรณรงค์ให้ประชาชนดูแลตนเองอย่าให้ยุงกัด หรือหากป่วยเป็นไข้แล้วอย่าให้แพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่น ขณะเดียวกัน ยังจะต้องกำหนดวันคลีนนิ่งเดย์พร้อมกันทั่วทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ด้วย ซึ่งถ้าทำได้ก็เชื่อว่าภารกิจในการช่วยกันป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของไข้ปวดข้อยุงลาย จะสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วย และจะต้องหมดสิ้นไปในที่สุด