ตรัง - ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 7 สรุปผลการป้องกันและควบคุมไข้ปวดข้อยุงลายภาคใต้ เป็นไปตามเป้า แต่ต้องเฝ้าระวังพื้นที่อย่าให้กลับระบาดรอบ 2 เหมือนในพื้นที่ชายแดน
วันนี้ (3 ส.ค.) นายแพทย์เสรี หงษ์หยก ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขต 7 ในฐานะประธานคณะกรรมการฝ่ายปฏิบัติการ ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและควบคุมไข้ปวดข้อยุงลาย หรือชิคุนกุนยา ภาคใต้ (ศปยต.) กล่าวถึงมาตรการป้องกันและควบคุมไข้ปวดข้อยุงลายภาคใต้ ถึงผลการปฏิบัติงานช่วงเวลากว่า 1 เดือนที่ผ่านมาหลังจากเปิดศูนย์ฯว่า จำนวนผู้ป่วยในพื้นที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด
ทั้งนี้ เกิดจากการใช้หลายมาตรการเชิงรุก ตามที่ได้วางไว้ เช่น การใช้ข้อมูลของพื้นที่ที่ได้จากการรายงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ( อสม.) ที่เข้าไปตรวจเอ็กซเรย์ทุกหลังคาเรือนมาเป็นข้อมูลควบคุมโรค หากพบผู้ป่วยก็จะรายงานทันที แจกยากันยุง เร่งทำลายยุงตัวแก่ ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายต่อเนื่องกัน 3 สัปดาห์ พร้อมทั้งรณรงค์ให้ความรู้ความเข้าใจ ทำงานร่วมกับกลุ่มพลังประชาคมทุกภาคส่วน ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ และระดับตำบล ซึ่งเป็นมาตรการที่ทำต่อเนื่องกันมา
นายแพทย์เสรีกล่าวอีกว่า ประเด็นหลักของการป้องกันโรคนี้คือ อย่าให้ยุงกัด และทำอย่างไรหากป่วยแล้วไม่ให้แพร่เชื้อ การทำไม่ให้ยุงกัดนั้นต้องทำให้ประชากรยุงน้อยลง ต้องเร่งกำจัดยุงตัวแก่ในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยเพราะถือเป็นช่วงระบาด และกำจัดลูกน้ำยุงลาย สวมใส่เสื้อผ้าหนาๆ ไม่เหม็นอับ และทายากันยุง สวมเสื้อผ้าชุบยากันยุงเวลาออกนอกบ้าน เข้าสวน หรือเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง ส่วนคนที่ป่วยต้องป้องกันไม่ให้ยุงกัด เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อสู่บุคคลอื่น ดังนั้น คนที่ป่วยช่วงมีไข้ในระยะ 3 วัน จะต้องนอนกางมุ้ง ถ้าออกนอกมุ้งต้องทายากันยุงไม่ให้ยุงกัดแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น
นายแพทย์เสรีกล่าวด้วยว่า จากข้อมูลรายงานโดยภาพรวมเกือบทุกจังหวัดตัวเลขผู้ป่วยลดลง ทั้งข้อมูลชุมชน ข้อมูลรายงานโรคของโรงพยาบาล และข้อมูลรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออก ซึ่งฐานข้อมูล 3 ส่วนตรงกัน แต่ไม่สามารถชะล่าใจได้ เพราะช่วงที่ผ่านมาฝนหยุดตก แต่ช่วงที่ฝนตกเชื้อก็อาจจะกลับมาใหม่ ดังนั้น จะต้องดำเนินการตามแผนมาตรการป้องกัน ควบคุมอย่างต่อเนื่อง และเข้มข้นต่อไป ป้องกันไม่ให้เชื้อกลับมาระบาดรอบ 2 เหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคใต้
สำหรับมาตรการเข้มข้นที่ดำเนินการติดต่อกัน คือ รบรุก รบเร็ว และรบแรง ตามแผนยุทธการ 3 วัน 3 สัปดาห์ 3 เดือน เหมือนอย่างที่ดำเนินการมาและได้ผล ซึ่งโรคปวดข้อยุงลายและโรคไข้เลือดออก พาหะสำคัญคือ ยุงลาย ดังนั้น ในการควบคุมและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายอย่างต่อเนื่องและเข้มข้น จะทำให้สามารถลดจำนวนผู้ป่วยของโรคทั้งสองชนิดอย่างได้ผล