ทีมนักวิจัยไบโอเทค พัฒนาสารพิษกำจัดลูกน้ำยุงลายจากแบคทีเรียชนิดใช้น้อยแต่กำจัดได้มาก และไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์อื่น หวังช่วยป้องกันไข้เลือดออกระบาด พบวิธีเพิ่มฤทธิ์สารพิษในจุลินทรีย์ได้แล้ว ผลทดสอบฆ่าลูกน้ำยุงลายได้ดีขึ้น แต่ต้องวิจัยต่อหาวิธีทำให้สารพิษคงทนในสภาพแวดล้อมมากขึ้น อนาคตอาจนำไปใช้ได้จริง
น.ส.อัมพร หรั่งรอด ผู้ช่วยนักวิจัย ห้องปฏิบัติการวิศวกรรมจุลินทรีย์ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) กล่าวกับผู้จัดการวิทยาศาสตร์ในงานการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 34 (วทท 34) ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ว่าขณะนี้กำลังศึกษาหาวิธีการใช้สารพิษเอ็มทีเอ็กซ์ (Mosquitocida toxin: Mtx) จากแบคทีเรียชนิด บาซิลลัส สเฟียริคัส (Bacillus sphaericus) เพื่อใช้ในการกำจัดลูกน้ำยุงลาย
"สารพิษกำจัดลูกน้ำยุงลายที่นิยมใช้โดยทั่วไปเป็นสารพิษที่สร้างจากเชื้อบีทีไอ (Bacillus thuringiensis subsp israelensis: Bti) ซึ่งสร้างโปรตีนชนิดหนึ่งขึ้นมาในช่วงที่มีการสร้างสปอร์ โดยโปรตีนดังกล่าวจะติดอยู่ที่บริเวณสปอร์ ซึ่งโปรตีนนี้เป็นพิษกับลูกน้ำยุงรวมทั้งยุงลายด้วย เมื่อลูกน้ำยุงกินแบคทีเรียที่มีสารพิษนี้อยู่เข้าไปก็จะตาย" น.ส.อัมพร ให้ข้อมูลและบอกต่อว่า
มีรายงานวิจัยหลายชิ้นระบุว่าเชื้อ บาซิลลัส สเฟียริคัส บางสายพันธุ์สามารถสร้างโปรตีน Mtx ได้ ซึ่งมีฤทธิ์ฆ่าลูกน้ำยุงได้ในปริมาณที่ใช้น้อยกว่า จึงสนใจนำมาศึกษา โดยเลือกศึกษาใน บาซิลลัส สเฟียริคัส 2297 และพบว่าสารพิษ Mtx ที่เชื้อชนิดนี้สร้างขึ้นแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ Mtx 1 ฆ่าลูกน้ำยุงรำคาญได้ดี แต่ไม่ค่อยดีในลูกน้ำยุงลาย ส่วน Mtx 2 และ Mtx 3 ออกฤทธิ์ไม่ดีกับยุงทั้ง 2 ชนิด
นักวิจัยจึงตั้งสมมติฐานว่าหากนำ Mtx 1 และ Mtx 2 มารวมกัน จะมีประสิทธิภาพในการกำจัดลูกน้ำยุงลายได้ดีขึ้นหรือไม่ จึงได้ทดลองโคลนนิงยีนของสารพิษ Mtx 1 และ Mtx 2 ใส่ในเชื้อ อี โคไล (E. coli) เพื่อให้สร้างสารพิษทั้ง 2 ชนิดออกมาในลักษณะรวมกันเป็นโปรตีนก้อนเดียวกัน
จากนั้นนำไปทดสอบฤทธิ์ในการฆ่าลูกน้ำยุงลาย โดยใช้สารละลายที่มีเซลล์ E. coli ดังกล่าวในระดับความเข้มข้นต่างๆ กัน เปรียบเทียบกับชุดควบคุมที่มีทั้งกลุ่มที่ไม่มีสาร Mtx ชนิดใดๆ เลย และกลุ่มที่ใช้เซลล์ที่สร้างเฉพาะ Mtx 1 และ Mtx 2 อย่างใดอย่างหนึ่ง
ผลปรากฏว่า ชุดที่มีทั้ง Mtx 1 และ Mtx 2 อยู่ด้วยกัน สามารถฆ่าลูกน้ำยุงลายได้ดีกว่าชุดที่มีเพียง Mtx 1 หรือ Mtx 2 อย่างเดียวอย่างเห็นได้ชัด จึงมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปพัฒนาเป็นสารพิษสำหรับกำจัดลูกน้ำยุงลายที่ไม่เป็นอันตรายกับสิ่งแวดล้อมได้ในอนาคต ทั้งนี้ สารพิษ Mtx มีความเป็นพิษจำเพาะสูงมากต่อลูกน้ำยุง จึงไม่เป็นอันตรายกับสิ่งมีชีวิตอื่น และ บาซิลลัส สเฟียริคัส ก็เป็นแบคทีเรียที่ไม่เป็นอันตรายกับมนุษย์ด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม น.ส.อัมพร บอกว่าจะต้องศึกษาเพิ่มเติมต่อไปอีกว่าจะนำไปใช้ได้ในรูปแบบใด และศึกษาวิธีการทำให้สารพิษชนิดนี้คงตัวมากขึ้น เนื่องจากสาร Mtx ถูกสร้างขึ้นในขณะที่เซลล์ยังไม่ได้สร้างสปอร์ จึงถูกย่อยสลายโดยเอนไซม์ที่มีอยู่มากมายในเซลล์ได้ง่าย รวมทั้งต้องศึกษากลไกการทำงานร่วมกันของ Mtx 1 และ Mtx 2 ด้วยว่าทำไมถึงไปมีฤทธิ์ฆ่าลูกน้ำยุงลายได้ดีขึ้น