ยะลา – นักธุรกิจ ผู้นำศาสนา จังหวัดยะลา การใช้ ม.21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคง ฯ จะต้องดูเป็นกรณีไป เพราะอาจจะกระทบต่อจิตใจของผู้ที่ได้รับผลกระทบได้
หลังจากที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรับมนตรี ได้ออกมาให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับ การเตรียมใช้มาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคง ฯ ที่เปิดโอกาสให้ผู้กระทำผิด หรือผู้ที่ก่อเหตุร้ายในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา เข้ารายงานตัว หรือ มอบตัว ต่อเจ้าหน้าที่ และเมื่อเข้ามอบตัวแล้ว เจ้าหน้าที่จะส่งตัวทำการฝึกอบรมแทนการถูกดำเนินคดี
นายพจน์ ไพบูลย์เกษมสุทธิ ประธานหอการค้า 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ตนเองคิดว่าในจุดนี้ไม่น่าที่จะแก้ไขปัญหาได้ ในความเป็นจริงก็ทราบกันดีอยู่แล้วว่า กฎหมายที่จะนำมาใช้นั้น ตนเองคิดว่าทางรัฐบาลได้เลียนแบบจากสมัยของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ซึ่งสมัยนั้นประเทศไทยได้มีการสู้รบกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ และคนส่วนนั้นก็มีอุดมการณ์ที่จะทำ
ในปัจจุบันเข้าใจว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลานั้น ในเรื่องอุดมการณ์ต่างๆ ค่อนข้างที่จะคลุมเครือ เพราะว่าบางส่วนอาจจะเป็นกลุ่มที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน บางส่วนก็เป็นปัญหาของยาเสพติด และ ผลประโยชน์ในพื้นที่ เพราะฉะนั้นปัจจุบันรัฐบาลเองก็ยังไม่ทราบว่ากำลังสู้รบอยู่กับใคร ผู้ที่บงการ คือใคร เพราะว่าไม่เคยแสดงตนชัดเจน
เพราะฉะนั้นการนิรโทษกรรมนั้น อาจจะใช้ได้กับผู้ที่เคยก่อเหตุมาแล้ว ส่วนผู้ที่ยังไม่เคยก่อเหตุ หรือกระทำความผิด ทางรัฐบาลจะไปนิรโทษกรรม หรือให้ออกมามอบตัวคงเป็นไปไม่ได้ และการนิรโทษกรรม ตนเองคิดว่าจะใช้ได้กับผู้ที่ก่อเหตุไม่รุนแรง เช่น เผาตู้โทรศัพท์ หรือทำลายทรัพย์สินและทางเจ้าหน้าที่มีหมายจับ กับบางกลุ่มที่เคยลงมือฆ่าคนบริสุทธิ์ ถ้าหากว่าทางรัฐบาลยกโทษให้แล้ว คนที่เป็นญาติพี่น้องผู้ถูกทำร้ายจนเสียชีวิต หากทราบว่ามีการนิรโทษกรรมแล้ว จะรับในจุดนี้ได้มากน้อยแค่ไหน
ทั้งนี้ คิดว่าในส่วนนี้ไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาที่ดี และก็คงไม่น่าที่จะช่วยให้เกิดความสงบสุขในพื้นที่ได้สักเท่าไหร่ เพราะที่ผ่านมาปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ เกิดจากประชาชน และ เยาวชนถูกชักจูง ไม่ว่าในเรื่องของการไม่มีงานทำ
สิ่งที่สำคัญในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ คือ ด้านการศึกษา เพราะการศึกษาสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบที่จะทำให้ประชาชนมีการศึกษาที่ดีขึ้น และอย่างน้อยที่สุด ผู้ที่จะให้ความรู้กับเยาวชนนั้น ก็ควรที่จะมีคุณภาพ เป็นอันดับแรก
อีกอย่างที่ได้มีการพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง คือ เรื่องของครอบครัวเป็นอันดับ 1 และ การศึกษาเป็นอันดับ 2 ซึ่งทั้ง 2 อย่างนี้ จะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญที่สุดรัฐบาลเอง ก็ควรที่จะมุ่งเน้น เป็นเรื่องสำคัญ
ด้านนายนิมุ มะกาเจ ผู้นำศาสนา และประธานสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดยะลา กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าพิจารณาในระดับพื้นที่พอสมควร เพราะในเรื่องนี้ตนเองเคยได้มีโอกาสประสานสัมพันธ์กับผู้นำในระดับรองแม่ทัพ เพราะในมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ความมั่นคง ฯ เป็นการช่วยเหลือทั้งชาติ และเป็นการช่วยบุคคลที่เคยทำผิดพลาดเป็นเรื่องที่ดี
ทั้งนี้ เพราะถือว่าสิ่งนี้เป็นมติ ครม.ที่จะให้ กอ.รมน.ไปดำเนินการในระดับหนึ่ง และก็ถือว่าบุคคลที่จะเข้ามามีส่วนร่วม คือผู้ที่ทำความผิดกระทบต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ซึ่งจะต้องกลับใจมอบตัว สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อการสร้างความเชื่อมั่นในมาตรา 21 และเชื่อมั่นในกฎหมายนี้ ว่ากล้าที่จะเข้ามอบตัวแค่ไหน
จากการสอบสวนแล้วปรากฏว่า บุคคลเหล่านั้นหลงผิดจริง เพราะได้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ถ้าเป็นลักษณะดังกล่าว ก็ถือว่าเป็นการเปิดโอกาสให้มีการกลับตัว จากคนในพื้นที่ และจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาความมั่นคง หลังจากนั้น ก็จะมีการเข้าอบรม ข้อสำคัญคือ บุคคลเหล่านั้นต้องยินยอมในการรับการอบรม
เมื่อผ่านการฝึกอบรมแล้ว ถือว่าเป็นการสิ้นสุด และก็จะไม่มีการนำคดีอาญามาฟ้องอีก เป็นหลักการที่ดีมาก และสิ่งที่สำคัญที่สุดจะต้องรับรองในเรื่องของความปลอดภัยของผู้ที่เข้ามอบตัว และผ่านการฝึกอบรม ต้องจัดหาอาชีพที่ดี ตนเองคิดว่า ทางกองทัพน่าจะทำในจุดนี้ได้ หากทำได้จริงคิดว่าจะสร้างความสงบสุขกลับมาในพื้นที่ได้