xs
xsm
sm
md
lg

โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังในโครงการพระราชดำริ สร้างรายได้ให้คนพัทลุง 40,000 บาทต่อปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พัทลุง – โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เป็นการฟื้นฟูแก้ไขแหล่งเกษตรของทางภาคใต้ให้ยังยืนมีรายได้เพิ่มขึ้นในจังหวัดพัทลุง2 อำเภอกลุ่มสมาชิกแม่บ้าน 10 กลุ่มส่งผลให้มีรายได้ของคนในพื้นที่เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 40,000 บาทต่อปี

ลุ่มน้ำปากพนัง เคยเป็นแหล่งปลูกข้าวสำคัญของภาคใต้ ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด 13 อำเภอ ตั้งแต่ตอนใต้ของจังหวัดนครศรีธรรมราช จรดตอนเหนือของจังหวัดพัทลุงและสงขลา มีพื้นที่ 1 ล้าน 9 แสนไร่ ปลูกข้าวกว่า 5 แสนไร่ และมีประชากรอาศัยอยู่ในเขตลุ่มน้ำกว่า 6 แสนคน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตข้าว ศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรือง จนได้ชื่อว่า “เมืองแห่งอู่ข้าว อู่น้ำ” โดยมีแม่น้ำปากพนัง เป็นสายเลือดหล่อเลี้ยงชุมชนมาแต่โบราณ

แต่เมื่อความเจริญเข้ามาประชากรเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องใช้ทรัพยากรมากจนเสียสมดุล ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในหน้าฝน น้ำจืดไม่พอใช้ในหน้าแล้ง ปัญหาดินเปรี้ยว ปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็ม มีปัญหาการจัดสรรน้ำกันระหว่างผู้ทำนากุ้งกับนาข้าว ผู้คนต่างเดือดร้อนกันไปทั่ว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทราบความเดือดร้อนของพสกนิกร จึงมีพระราชดำริให้หน่วยงานราชการต่าง ๆ ร่วมกันแก้ไขปัญหาและพัฒนาให้ลุ่มน้ำปากพนัง ฟื้นกลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของภาคใต้ พัฒนาอาชีพของเกษตรกรให้มียั่งยืน มีรายได้เพิ่มขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและส่งเสริมการรวมกลุ่มของชุมชน

โครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2537 – ปัจจุบัน เป็นเวลา 15 ปี ในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อำเภอควนขนุน และอำเภอป่าพะยอม แบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะแรก ปี 2537 – 2543 ดำเนินการในพื้นที่อำเภอควนขนุน 3 ตำบล คือ ตำบลพนางตุง ทะเลน้อย และแหลมโตนด ระยะที่ 2 ปี 2543 – ปัจจุบัน ดำเนินการในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อำเภอป่าพะยอม ตำบลลานข่อย อำเภอควนขนุน ตำบลแหลมโตนด รวม 2 ตำบล 18 หมู่บ้าน พื้นที่ทำการเกษตร 60,789 ไร่ เกษตรกร 2,570 ครัวเรือน

ตั้งแต่เริ่มโครงการ ปี 2537 – 2552 กรมส่งเสริมการเกษตรกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนับสนุนงบประมาณ 32 ล้านบาทเศษ ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ทั้งที่เป็นกิจกรรมปรับโครงสร้างการผลิต พัฒนาการผลิต ปรับปรุงบำรุงดิน แปรรูปผลผลิต กิจกรรมส่งเสริมการรวมกลุ่ม จำนวน 13 กิจกรรม พื้นที่ทำการเกษตรของเกษตรกรได้รับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 19,265 ไร่ แยกเป็น นาข้าว 13,240 ไร่ ไร่นาสวนผสม 2,337 ไร่ พืชผัก – พืชไร่ 678 ไร่ ไม้ผล 775 ไร่ และปาล์มน้ำมัน 235 ไร่

กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรได้รับการพัฒนาการแปรรูป ระดับพื้นฐาน 10 กลุ่ม สมาชิก 245 ราย แปรรูปเชิงธุรกิจ 2 กลุ่ม สมาชิก 56 ราย เกษตรกรได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทัศนศึกษาดูงาน และมีการจัดทำฐานข้อมูลครัวเรือนเกษตรกรในเขตลุ่มน้ำปากพนัง 2,570 ครัวเรือน นอกจากนั้น จังหวัดได้สนับสนุนงบประมาณพัฒนาจังหวัด จำนน 22 ล้านบาทเศษ ผ่านโครงการ 7 โครงการ อบต.แหลมโตนด สนับสนุนงบประมาณให้กลุ่มแม่บ้านเกษตรกร 2 แสนบาท และกรมชลประทาน จัดทำโครงการชลประทานระบบท่องบประมาณ 120 ล้านบาท

จากการบูรณาการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนทำให้เกษตรกรมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากคนละ 20,000 บาท ต่อปี เป็น 40,000 บาทต่อปี นอกจากรายได้ต่อหัวสูงขึ้นแล้ว เกษตรกรมีรายได้ตลอดทั้งปี มีรายได้รายวัน รายเดือน รายปี สามารถมีชีวิตและประกอบอาชีพตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง นำความสุขความมั่นคงมาสู่ครอบครัว ชุมชน และสังคม

โดยรวมนายจำนง อรุณรัตน์ อายุ 68 ปี อยู่บ้านเลขที่ 103 ม.7 ต.แหลมโตนด อ.ควนขนุน เป็นครอบครัวหนึ่งที่ได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ มีกิจกรรมทางการเกษตร 3 กิจกรรม คือ ทำนาข้าว 70 ไร่ ผลิตปีละ 2 ครั้ง ใช้ข้าวพันธุ์ดีที่ราชการส่งเสริม เช่นข้าวสังข์หยด ข้าวชัยนาท 1ปทุมธานี 1 และพิษณุโลก 2 นาปีที่ผ่านมาได้ผลผลิตเฉลี่ย 650 กิโลกรัมต่อไร่ ต้นทุนการผลิต 4,700 บาท/ไร่ มีกำไร 12,250 บาท นาปรังได้ผลผลิตเฉลี่ย 700 กิโลกรัม/ไร่ ต้นทุนการผลิต 4,850 บาท/ไร่ มีกำไร 52,500 บาท

ส่วนนาปี ปี 2552/53 ข้าวกำลังแตกกอ และกิจกรรมไร่นาสวนผสมจำนวน 17 ไร่ ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น เช่น ทุเรียน มังคุด ลองกอง มะพร้าว มีกำไรปีละ 124,000 บาท ส่วนกิจกรรมผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อลดต้นทุนการผลิต สามารถ ลดต้นทุนได้ไร่ละ 500-1,000 บาท

นายจำนง อรุณรัตน์ ได้ทำงานเพื่อส่วนรวมและเป็นแกนนำในการพัฒนาการเกษตร เช่น เป็นประธานสหกรณ์การเกษตรทำนาแหลมโตนด ประธานวิสาหกิจชุมชนผลิตปุ๋ยอินทรีย์ตามวิถีพอเพียงแหลมโตนด เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวใช้เองและจำหน่าย รณรงค์ให้เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตโดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ตลอดถึงการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองพัทลุง


กำลังโหลดความคิดเห็น