ตรัง - เกษตรกรจังหวัดตรังมาขึ้นทะเบียนเกินเป้ากว่าเท่าตัว พร้อมเร่งให้ผู้ปลูกข้าวเข้าร่วมโครงการประกันราคาให้มากที่สุด แม้จังหวัดตรังในขณะนี้ยังมีพื้นที่ทำนาน้อยมาก
นายสามารถ ลักขณา เกษตรจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ตามที่กรมส่งเสริมการเกษตร ประกาศให้มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ภายใต้โครงการปรับปรุงฐานข้อมูลเกษตรกรรายครัวเรือน ปี 2552 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2552 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2552 ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรให้มีความเป็นปัจจุบันมากที่สุด เพื่อจะนำไปประกอบการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยธรรมชาติ หรือการเปิดรับจำนำ การประกัน ผลผลิตทางการเกษตร หากประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ซึ่งในส่วนของจังหวัดตรังมีเกษตรกรมาขึ้นทะเบียนทั้งหมด 72,268 ครัวเรือน จากเป้าหมายที่ตั้งไว้เพียง 66,520 ครัวเรือน
ทั้งนี้ ในส่วนของเกษตรกรผู้ทำนาปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรแล้ว สามารถเข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2552-2553 ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธุ์ 2553 โดยราคาประกัน ประกอบด้วย ข้าวเปลือกหอมมะลิ 15,300 บาทต่อตัน หรือ 15.30 บาทต่อกิโลกรัม ครัวเรือนละไม่เกิน 14 ตัน ข้าวเปลือกหอมจังหวัด 14,300 บาทต่อตัน หรือ 14.30 บาทต่อกิโลกรัม ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน ข้าวเปลือกปทุมธานี 10,000 บาทต่อตัน หรือ 10.00 บาทต่อกิโลกรัม ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน ข้าวเปลือกเจ้านาปี 10,000 บาทต่อตัน หรือ 10.00 บาทต่อกิโลกรัม ครัวเรือนละไม่เกิน 25 ตัน และข้าวเปลือกเหนียว 9,500 บาทต่อตัน หรือ 9.50 บาทต่อกิโลกรัม ครัวเรือนละไม่เกิน 16 ตัน
สำหรับเกษตรกรปลูกข้าวที่เข้าร่วมโครงการประกันราคาข้าว จะทำสัญญากับ ธ.ก.ส. โดยมีข้อแม้ว่าข้าวเปลือกเจ้าที่มีระยะเวลาเก็บเกี่ยวน้อยกว่า 100 วัน ไม่อนุญาตให้เข้าร่วมโครงการ ซึ่งเกษตรกรผู้ทำนาปลูกข้าวในจังหวัดตรัง ที่มาขอขึ้นทะเบียนแล้วทั้ง 10 อำเภอ มีจำนวน 1,325 ราย ซึ่งถือว่าจังหวัดตรังยังมีเกษตรกรผู้ทำนาปลูกข้าวน้อยมาก จากที่มีพื้นที่ทำนาประมาณ 25,000 ไร่ โดยมีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาๆ คือ เมื่อปี 2550 จังหวัดตรังมีเนื้อที่ทำนา 15,000 ไร่ ส่วนเมื่อปี 2551 จังหวัดตรังมีเนื้อที่ทำนา 20,000 ไร่
อย่างไรก็ตาม จังหวัดตรังสามารถผลิตข้าวสารได้ประมาณปีละ 20,000 ตัน ส่วนที่เหลือต้องซื้อมาจากพื้นที่อื่นกว่า 60,000 ตัน ถือเป็นสัดส่วนรายจ่ายด้านการซื้อข่าวของจังหวัดตรังสูงมากกว่า 20% จึงได้มีการรณรงค์ให้เกษตรกรที่มีพื้นที่นาร้างหันมาทำนาให้มากขึ้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือและแก้ปัญหาค่าครองชีพให้กับเกษตรกร ในการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และส่งเสริมแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวทางพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยให้เกษตรกรมีข้าวกินโดยไม่ต้องหาซื้อ