พัทลุง - ที่ปรึกษาโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ติดตามผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จังหวัดพัทลุง พบเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น จากปีละ 20,000 บาทเป็น 40,000 บาท
วันนี้ (29 ก.ย.) ที่บ้านบนลาน หมู่ที่ 7 ตำบลแหลมโตนด อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง นายวารินทร์ บุษบรรณ ที่ปรึกษาโครงการส่วนพระองค์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยตัวแทนจากชลประทานจังหวัดพัทลุง ตัวแทนจากศูนย์เมล็ดพันธุ์ ข้าวพัทลุงและตัวแทนจากสำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง ติดตามโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทราบผลการดำเนินงาน ความก้าวหน้าโครงการ และรับทราบปัญหาอุปสรรค เพื่อนำไปปรับแก้ไขและขยายผลออกไปสู่พื้นที่อำเภออื่นๆ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น
นายวารินทร์ บุษบรรณ กล่าวว่า โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ดำเนินการใน 3 จังหวัด คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสงขลา และจังหวัดพัทลุง เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ ปี 2537 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 14 ปี ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งว่าให้รักษาอู่นาข้าว บริเวณลุ่มน้ำปากพนัง ไว้ให้ได้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สนองพระราช กระแสรับสั่งดังกล่าว
โดยกรมชลประทานได้จัดการเรื่องน้ำ กรมการข้าวจัดการเรื่องเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี กรมส่งเสริมการเกษตรทำหน้าที่เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลัก และมีหน่วยงานอื่นๆอีกหลายหน่วยงานให้การสนับสนุน ส่งผลให้เกษตรกรมีข้าวกินเหลือขายเป็นรายได้เสริม มีผัก พืชไร่ ไม้ผล ที่ปลอดภัยจากสารพิษกิน และขายมีการรวมกลุ่มของเกษตรกรในการผลิตสินค้า ทั้งจากภาคเกษตร และนอกภาคเกษตร ทำให้เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น จากปีละ 20,000 บาท เป็นปีละ 40,000 บาท
ด้าน นายอัครเดช จันทรัตน์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต สำนักงานเกษตรจังหวัดพัทลุง กล่าวเสริมว่า จังหวัดพัทลุง ดำเนินการโครงการดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน ในพื้นที่ 2 อำเภอ คือ อำเภอควนขนุน 3 ตำบล คือตำบลทะเลน้อย พนางตุง และแหลมโตนด อำเภอป่าพะยอม ตำบลลานข่อย พื้นที่ดำเนินโครงการ 61,186 ไร่ ครัวเรือนเกษตรกร 2,570 ครัวเรือน เกษตรกรได้รับการพัฒนาผ่านกิจกรรมต่างๆ 11 กิจกรรม งบประมาณทั้งสิ้น 30 ล้านบาทเศษ จากการดำเนินการพื้นที่ทำการเกษตรได้รับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต 19,265 ไร่ แยกเป็น นาข้าว 15,240 ไร่ ไร่นาสวนผสม 2,337 ไร่ พืชผัก-พืชไร่ 678 ไร่ ไม้ผล 775 ไร่ และปาล์มน้ำมัน 235 ไร่