พัทลุง - คณะอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ลงพื้นที่จังหวัดพัทลุง เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีสมาชิกเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด (ครท.) ถูกดำเนินคดีและได้รับผลกระทบรวม 68 ราย เป็นเงินกว่า 32 ล้านบาท โดยการตรวจสอบจะเสร็จสิ้นภายใน 30 วันเพื่อนำผลการตรวจสอบมาวิเคราะห์ให้การช่วยเหลือชาวบ้านต่อไป
หลังจากมีการประกาศเขตอนุรักษ์ทับซ้อนพื้นที่ชุมชน ให้แก่ป่าสงวนแห่งชาติในปี พ.ศ.2510 เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัดในปี พ.ศ.2518 และอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ในปี พ.ศ. 2525 ส่งผลให้มีการข่มขู่ คุกคาม ปักป้ายยึดพื้นที่ ดำเนินคดีทางอาญาและแพ่ง ต่อสมาชิกชุมชนดั้งเดิม ซึ่งชุมชนรอบเทือกเขาบรรทัดเป็นชุมชนเก่าแก่ มีการสั่งสมรากเหง้า วิถีวัฒนธรรม จารีต ประเพณี ในการอยู่ร่วมและพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล และยั่งยืนมายาวนาน สำหรับชุมชนใหม่มีการตั้งถิ่นฐานมาประมาณ 50-400 ปี โดยผู้เฒ่าผู้แก่เล่าให้ฟังว่า บรรพบุรุษของตนอพยพเข้ามาบุกเบิก ทำกินจากพื้นที่ราบในจังหวัดพัทลุง ตรัง และนครศรีธรรมราช เพื่อมาปลูกยางพารา ไม้ผล และข้าว ตลอดจนเก็บของป่าไว้เพื่อรับประทานกินและจำหน่าย
ทั้งนี้ จำนวนสมาชิกเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด (ครท.) หรือในนามองค์กรเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ที่ถูกดำเนินคดีและได้รับผลกระทบในรูปแบบอื่นๆ รวม 68 ราย คิดเป็นเงินจำนวน 32.385 ล้านบาท
นางนงพร รุ่งเพ็ชรวงศ์ ผู้อำนวยการกองพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า ตามที่องค์กรเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย ได้เข้าร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และปัญหาความเดือดร้อนต่างๆ และได้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาขององค์กรเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยมีนายกัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 ต่อมาวันที่ 10 สิงหาคม 2552 นายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาคดีความขององค์กรเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นเลขานุการ ซึ่งมีรายงานว่าขณะนี้มีการดำเนินคดีกับชาวบ้านทั่วประเทศ
นางนงพรยังกล่าวอีกว่า ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงของคดี โดยมีอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพเป็นประธานคณะทำงาน ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้แทนกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ผู้แทน สนง.คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ผู้แทนสภาทนายความ และผู้แทนจากภาคประชาชน
จากกรณีความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งประกอบด้วยจังหวัดพัทลุง ตรัง กระบี่ และสุราษฏร์ธานี สถานการณ์ถือได้ว่าวิกฤติมาก โดยมีการบังคับคดีแพ่งแล้วและดำเนินคดีอาญาซ้ำซ้อน (ศาลตัดสินคดีอาญาแล้ว) จำนวน 2 ราย เป็นเงิน 4.2 ล้านบาท (ดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี) บังคับคดีแพ่งแล้ว (ศาลตัดสินคดีอาญาแล้ว) จำนวน 7 ราย เป็นเงิน 14.76 ล้านบาท (ดอกเบี้ยร้อยละ 7 ต่อปี) กำลังดำเนินคดีแพ่ง (ศาลตัดสินคดีอาญาแล้ว) จำนวน 2 ราย เป็นเงิน 0.73 ล้านบาท มีหนังสือเรียกค่าเสียหายทางแพ่งและกำลังจะถูกฟ้องร้องจำนวน 10 ราย เป็นเงิน 10.595 ล้านบาท กำลังดำเนินคดีอาญาอยู่ในชั้นศาล 2 ราย กำลังดำเนินคดีอาญาอยู่ในชั้นโรงพักจำนวน 9 ราย และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบในรูปแบบอื่นๆ อาทิ ปักป้ายยึดพื้นที่ เผาบ้าน ทำลายอาสิน มีหนังสือทำลายอาสิน ลิดรอนสิทธิใน สกย. จำนวน 35 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 32.285 ล้านบาท
ดังนั้น จากความเดือดร้อนของชาวบ้าน ทางตนพร้อมคณะทำงานชุดดังกล่าว จึงได้รับมอบหมายให้ลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเป็นการด่วน และจะต้องให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แล้วนำผลการตรวจสอบมาวิเคราะห์ให้การช่วยเหลือชาวบ้านต่อไป นางนงพรกล่าว