xs
xsm
sm
md
lg

ฉายความจริงพื้นที่ "ป่าสงวนฯ-สปก." ส่อล้มคดีรุกป่าสบกก!

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ป่าสบกกที่ถูกบุกรุก
ต่างมุมมองของ "ทวี สอดส่อง-ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ" บนพื้นฐานที่แท้จริงในความแตกต่างระหว่าง “ป่าสงวนแห่งชาติ-ส.ป.ก” ที่มีปัญหาบุกรุกพื้นที่ป่าสบกก จังหวัดเชียงราย จนส่อให้เห็นเค้าลางความว่างเปล่าที่จะเอาผิดนายทุนที่รุกป่าได้

ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กับความเห็นที่แตกต่างระหว่าง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีดีเอสไอ กับ พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ ผู้บัญชาการสำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ในปัญหาโต้แย้งกันในเรื่องการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ป่าสบกกฝั่งขวา บ้านห้วยข่อยหล่อย ม.12 ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย จนเป็นเหตุให้ พ.อ.ปิยะวัฒก์ต้องออกมาชี้แจงเหตุที่ต้องขอถอนตัวดูแลคดีดังกล่าว เพราะพบว่าป่าสบกก เป็นป่าสงวนแห่งชาต และมีการบุกรุกพื้นที่จากนายทุนจริง จึงไม่ต้องการนำตำแหน่งไปกระทำผิดกฎหมาย ปฏิบัติหน้าที่มิชอบจนต้องล้มคดีนี้ตามที่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา และตนเองจะต้องถูกลงโทษตามกฎหมายอาญา ซึ่งต่อมา พ.อ.ปิยะวัฒก์ก็ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงที่ออกมาแฉเรื่องนี้ ซึ่งเพื่อให้เกิดความชัดเจนต่อสาธารณชน กับความเห็นต่างมุมมอง โดยขอยกพระราชบัญบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่จะแสดงให้เกิดความกระจ่างชัดว่า ป่าสบกกเป็นป่าสงวนแห่งชาติ หรือเป็นที่ ส.ป.ก.กันแน่

ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 26 (4) บัญญัติว่า “มาตรา 26 เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินใช้บังคับในท้องที่ใดแล้ว ฯลฯ

(4) ถ้าเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาติส่วนใดแล้ว เมื่อ ส.ป.ก. จะนำที่ดินแปลงใดในส่วนนั้นไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ให้พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในที่ดินแปลงนั้น และให้ ส.ป.ก. มีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้โดยไม่ต้องดำเนินการเพิกถอนตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ”

จากบทบัญญัติในมาตรา 26 (4) หมายความว่า เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินใช้บังคับในท้องที่ใดแล้ว หากเป็นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติ คณะรัฐมนตรีจะต้องมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมในที่ดินเขตป่าสงวนแห่งชาตินั้นด้วย หาก ส.ป.ก. จะนำที่ดินแปลงใดในส่วนที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาฯ และคณะรัฐมนตรีมีมติแล้วไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เช่น มีงบประมาณหรือแผนดำเนินการแล้ว กฎหมายให้อำนาจ ส.ป.ก.สามารถนำที่ดินนั้นไปใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้โดยไม่ต้องดำเนินการเพิกถอนตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ

ทั้งนี้ เพื่อมิให้ต้องเสียเวลาในการไปดำเนินการเพิกถอนตามกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติอีกเท่านั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ หาก ส.ป.ก.ยังมิได้นำที่ดินที่ได้มีพระราชกฤษฎีกาฯ และคณะรัฐมนตรีมีมติแล้วไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินนั้นจะยังคงมีสภาพเป็นป่าสงวนแห่งชาติอยู่หรือไม่ ในเรื่องนี้มีคำพิพากษาฎีกาและบันทึกการตอบข้อหารือของคณะกรรมการกฤษฎีกาไว้ดังต่อไปนี้

1) ที่ดินพิพาทที่อยู่ในโซนซีของป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งกรมป่าไม้ยังมิได้มอบพื้นที่ให้แก่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดิน แม้จะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินออกมาแล้ว แต่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าว เป็นเพียงการกำหนดขอบเขตของที่ดินที่จะทำการปฏิรูปที่ดินเท่านั้น ไม่ได้มีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติในทันที ที่พิพาทจึงยังคงมีสภาพเป็นป่าสงวนแห่งชาติอยู่เช่นเดิม (คำพิพากษาฎีกาที่ 4347/2544)

2) คณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาข้อหารือของกรมที่ดินเกี่ยวกับพื้นที่ป่าไม้ถาวรและป่าสงวนแห่งชาติซึ่งได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน โดยคณะกรรมการกำหนดเขตปฏิรูปจะมีผลเป็นการเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติตามมาตรา 26(4) แห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 ที่แก้ไขแล้ว ก็ต่อเมื่อมีองค์ประกอบอีก 2 ประการ คือ คณะรัฐมนตรีมีมติให้ดำเนินการปฏิรูปที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาตินั้น และ ส.ป.ก.จะนำที่ดินแปลงนั้นไปดำเนินการปฏิรูปที่ดินด้วย เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ส.ป.ก.ยังมิได้เข้าไปดำเนินการในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติบริเวณใด พื้นที่นั้นยังคงมีสถานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติอยู่เช่นเดิม สำหรับในส่วนที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้รักษาไว้เป็นป่าไม้ถาวรและยังไม่มีมติเพิกถอนมติคณะรัฐมนตรีเดิม พื้นที่ดังกล่าวยังคงเป็นป่าไม้ถาวรอยู่ ดังนั้น พื้นที่ป่าไม้ถาวร และป่าสงวนแห่งชาติที่ ส.ป.ก. ยังมิได้เข้าดำเนินการ ก็ยังคงมีสถานะเป็นป่าไม้ถาวรและป่าสงวนแห่งชาติอยู่เช่นเดิม

3) การที่มาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 กำหนดให้ ส.ป.ก.เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ ส.ป.ก.ได้มานั้น กฎหมายมุ่งประสงค์จะให้ ส.ป.ก.ถือสิทธิในที่ดินดังกล่าวเพื่อให้เอาที่ดินนั้นมาดำเนินการปฏิรูปที่ดิน มิได้มุ่งหมายจะให้ ส.ป.ก.มีกรรมสิทธิ์เช่นเดียวกับเจ้าของทรัพย์สินในกรณีทั่วไป ดังนั้น การถือกรรมสิทธิ์ของ ส.ป.ก. จึงมิใช่เป็นกรณีที่บุคคลได้มาซึ่งที่ดินตามกฎหมายที่ดิน และตามนัยมาตรา 4(1) แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ.2484 ที่ดินดังกล่าวยังคงอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ เพียงแต่มาตรา 26(4) แห่ง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 กำหนดให้ ส.ป.ก.มีอำนาจนำที่ดินนั้นมาใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมได้โดยไม่ต้องดำเนินการเพิกถอนตามกฎหมายว่าด้วยป่าสงวนแห่งชาติ แต่ถ้าที่ดินนั้นยังมีไม้หวงห้ามขึ้นอยู่ การดำเนินการใด ๆ กับไม้หวงห้ามดังกล่าวย่อมต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ ดังนั้น ไม้ดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นทรัพย์สินของ ส.ป.ก. ที่จะดำเนินการอย่างไรก็ได้ และต้องอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายว่าด้วยป่าไม้ด้วย เอกสาร ส.ป.ก. 4-01 เป็นเพียงหนังสืออนุญาตให้บุคคลเข้าไปทำประโยชน์เพื่อการเกษตรเท่านั้น ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงสถานภาพทางกฎหมายของที่ดินเดิมแต่อย่างใด (เรื่องเสร็จที่ 791/2548)

จากหลักกฎหมาย คำพิพากษาฎีกา และบันทึกตอบข้อหารือของคณะกรรมการกฤษฎีกาจะเป็นแนวทางในการพิจารณาที่ดินของรัฐที่มีการบุกรุกในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าสบกกฝั่งขวา ซึ่งโดยสภาพเป็นพื้นที่ภูเขาสูงชัน (หมายความว่าเป็นพื้นที่ที่มีความลาดชันเกิน 35 %) และเป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธาร ซึ่งตามสภาพแล้วต้องถือเป็นพื้นที่ป่า โดยป่าสบกกฝั่งขวาที่เป็นพื้นที่เกิดเหตุดังกล่าว เมื่อปี พ.ศ. 2517 ได้มีประกาศกฎกระทรวง ฉบับที่ 649 (พ.ศ. 2517) ลงวันที่ 3 มีนาคม 2517 ออกตามความในพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้ “ให้ป่าสบกกฝั่งขวาในท้องที่ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน และตำบลปงน้อย อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายกฎกระทรวงนี้ เป็นป่าสงวนแห่งชาติ” ซึ่งได้มีการส่งประกาศกฎกระทรวงฉบับดังกล่าวไปปิดประกาศไว้ที่ว่าการอำเภอ, ที่ว่าการกำนัน และที่ทำการผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ที่มีการประกาศเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าสบกกฝั่งขวา ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2537 ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่ตำบลแม่เงิน ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน โดยบัญญัติไว้ในมาตรา 3 ว่า “ให้ที่ดินในท้องที่ตำบลแม่เงิน ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน ฯลฯ จังหวัดเชียงราย ภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกานี้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน” หลังจากที่ได้มีการออกพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้เขตที่ดินในตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน เป็นเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว

สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือเรียกย่อว่า “ส.ป.ก.” ได้ดำเนินการรังวัดที่ดินให้กับราษฎรและบางรายได้จัดที่ดินและออกเอกสาร ส.ป.ก.ให้กับราษฎรไปแล้วหลายราย ต่อมาในปี พ.ศ.2538 กรมป่าไม้ และ ส.ป.ก. ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงว่าด้วยแนวทางการปฏิบัติในการกันพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่ไม่สมควรจะนำไปปฏิรูปที่ดินกลับคืนกรมป่าไม้ พ.ศ.2538 ลงวันที่ 14 กันยายน 2538 โดยเป็นการลงนามร่วมกันระหว่างเลขาธิการ ส.ป.ก. กับอธิบดีกรมป่าไม้ หลังจากนั้น ได้จัดทำบันทึกการตรวจสอบกันพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติออกจากเขตที่จะทำการปฏิรูปที่ดินกลับคืนให้กับกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นการดำเนินการระหว่างคณะเจ้าหน้าที่จากสำนักงานป่าไม้เขตเชียงราย และ ส.ป.ก.จังหวัดเชียงราย เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2548 โดยจัดทำบัญชีสรุปข้อมูลการตรวจสอบกันพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติออกจากเขตที่จะทำการปฏิรูปที่ดินไว้ โดยแต่ละแปลงได้ระบุลักษณะที่ไม่สมควรนำไปปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม นอกจากนั้น ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงราย ไม่เคยอนุญาตให้บุคคลหรือนิติบุคคลใดเข้าไปทำการปลูกป่าในบริเวณป่าสงวนแห่งชาติป่าสบกกฝั่งขวา อีกทั้งศูนย์ปฏิบัติการที่ดินป่าไม้ จังหวัดเชียงราย ไม่มีการรังวัดปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าสบกกฝั่งขวาแต่อย่างใด แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายได้อนุญาตให้ทำไม้หรือเก็บหาของป่าบางชนิดในเขตป่าสงวนแห่งชาติในพื้นที่ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน เพื่อใช้สอยส่วนตัวหรือบริโภคในครัวเรือนได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ตามประกาศจังหวัดเชียงราย ลงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2517

ดังนั้น พื้นที่ป่าสบกกฝั่งขวา ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ถูกบุกรุก จึงมีสภาพเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ตามประกาศ กฎกระทรวง ฉบับที่ 649 (พ.ศ. 2517) ลงวันที่ 3 มีนาคม 2517 แม้ว่าในปี พ.ศ. 2537 จะได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่ตำบลแม่เงิน ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน ฯลฯ จังหวัดเชียงราย ให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินก็ตาม แม้ต่อมา ส.ป.ก. จะได้ดำเนินการรังวัดที่ดินและออกเอกสาร ส.ป.ก. ให้กับราษฎรไปแล้วหลายราย แต่เมื่อปี พ.ศ. 2538 ส.ป.ก.จังหวัดเชียงราย ได้มีการกันที่ดินดังกล่าวกลับคืนให้กับกรมป่าไม้แล้ว โดยตรวจสอบกันพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติออกจากเขตที่จะทำการปฏิรูปที่ดินกลับคืนให้กับกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่างคณะเจ้าหน้าที่จากสำนักงานป่าไม้เขตเชียงราย และ ส.ป.ก.จังหวัดเชียงราย เสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2548 ฉะนั้น พื้นที่ดินที่ถูกบุกรุกจึงยังคงมีสภาพเป็นพื้นที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าสบกกฝั่งขวาตามเดิม สำหรับที่ดินแปลงอื่น ๆ ที่แม้จะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินและคณะรัฐมนตรีมีมติแล้วก็ตาม แต่หาก ส.ป.ก.จังหวัดเชียงรายยังมิได้เข้าไปดำเนินการ พื้นที่นั้นก็ยังคงมีสถานะเป็นป่าสงวนแห่งชาติอยู่เช่นเดิม ตามบันทึกตอบข้อหารือของคณะกรรมการกฤษฎีกาดังกล่าวข้างต้น

อย่างไรก็ตาม คดีการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนสบกก จังหวัดเชียงราย กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) จะดำเนินต่อไปในแนวทางใด ต้องขึ้นอยู่กับอำนาจสูงสุด พ.อ.ทวี สอดส่อง เป็นผู้ตัดสินใจจะถอนตัวพนักงานสอบสวน พ.อ.ปิยะวัฒก์ ออกจากการดูแลคดีตามที่เจ้าตัวร้องรอ แล้วแต่งตั้งทีมใหม่เข้าไปดูแลคดี หรือ พ.ต.อ.ทวี จะเดินหน้าล้มกระดานคดีรุกป่าสงวนแห่งชาติ ตามที่พบว่านายทุนไม่ได้รุกป่า เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ สปก. ประกอบกับมีพยานหลักฐานอ่อนตามที่เคยอ้างไว้ จึงเอาผิดใครไม่ได้

เหิมหนักบุกยึด “ป่าดงใหญ่” เสียหายกว่า 3,000 ไร่-ใช้กฎเถื่อนต่อต้านปิดล้อม จนท.
เหิมหนักบุกยึด “ป่าดงใหญ่” เสียหายกว่า 3,000 ไร่-ใช้กฎเถื่อนต่อต้านปิดล้อม จนท.
บุรีรัมย์ – บินสำรวจพบป่าสงวนฯดงใหญ่ อ.โนนดินแดง บุรีรัมย์ ถูกชาวบ้าน 3 กลุ่ม ไม่เกรงกลัวกม.บุกรุกแผ้วถางยึดครองเป็นที่อยู่อาศัย–ทำกินกว่า 400 ครัวเรือนเสียหายแล้วกว่า 3,000 ไร่ ชี้ส่งผลกระทบแหล่งอาศัยหากินสัตว์ป่าและต้นน้ำลำนางรอง เผยเหิมเกริมหนักใช้กฎหมู่เหนือกฎหมาย ตั้งกลุ่มเป็นรัฐอิสระต่อต้านปิดล้อม ข่มขู่จนท.ถึงขั้นเอาชีวิต อย่างไม่เกรงกลัวกม.บ้านเมืองและฮึกเหิมรุกป่าต่อเนื่อง ด้านจนท.อึดอัดทำอะไรไม่ได้เหตุรัฐบาลไม่มีนโยบายแก้ปัญหาชัดเจนเด็ดขาด
กำลังโหลดความคิดเห็น