xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมฟ้องศาลค้านมติ “อบต.” บุรีรัมย์ไม่ชอบ-ยก “ป่าดงใหญ่” ให้เช่า 2.3 หมื่นไร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ค้านมติ“อบต.ลำนางรอง” บุรีรัมย์ จัดสรรที่ดินเขตป่าสงวนฯดงใหญ่ 2.37 หมื่นไร่ ให้นายทุน-ชาวบ้านเช่าพร้อมเตรียมฟ้องศาลปกครอง วันนี้ (28 พ.ค.)
บุรีรัมย์ - เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ค้านมติสภา “อบต.ลำนางรอง” บุรีรัมย์ เห็นชอบจัดสรรที่ดินเขตป่าสงวนฯดงใหญ่ 2.37 หมื่นไร่ให้นายทุน-ชาวบ้านเช่าทำประโยชน์ เตรียมฟ้องศาลปกครองพิจารณามติสภาอบต.ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และให้ชะลอการจัดสรรที่แปลงดังกล่าว ขณะแกนนำชาวบ้าน 170 ครอบครัว ยันไม่ได้บุกรุกพร้อมให้ความร่วมมือ จนท.รังวัด และเสนอขอออกเป็น “โฉนดชุมชน” หวั่นนายทุนจ้องฮุบสวมสิทธิ์

ช่วงบ่ายวันนี้ (28 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจังหวัดบุรีรัมย์ นำโดย นายวันชัย ชะอ้อนศรี ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ และชาวบ้านลำนางรองจำนวนหนึ่ง ได้ออกมาแถลงข่าว คัดค้านมติสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2552 ที่ระบุให้บริษัทเอกชนเช่าทำประโยชน์และชาวบ้านเช่าทำกิน ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติดงใหญ่ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ฝ่ายละครึ่งหนึ่ง จากพื้นที่ป่าที่บริษัทเอกชนได้หมดสัญญาเช่าจำนวน 9 แปลงรวมกว่า 23,700 ไร่

ทั้งนี้ ระบุว่า มติ สภา อบต.ลำนางรอง ดังกล่าว ยังมีเงื่อนงำไม่โปร่งใส เนื่องจากที่ผ่านมาสภา อบต.มีการประชุมหลายครั้งและมีมติเห็นชอบแตกต่างกันออกไป ทั้งที่มติครั้งแรกเห็นชอบไม่ให้เอกชนเช่า และให้นำพื้นที่ป่าที่หมดสัญญามาจัดสรรให้กับชาวบ้าน รวมทั้งเปิดช่องให้ชาวบ้านเช่าทำประโยชน์ได้ แต่สุดท้ายมติสภา อบต.กลับพลิกให้มีการจัดสรรพื้นที่ให้เอกชนและชาวบ้านเช่าคนละครึ่ง จนก่อให้เกิดความสงสัยว่า มีการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดหรือไม่

ทั้งนี้ ทางเครือข่ายปฏิรูปที่ดินฯ เตรียมยื่นร้องต่อศาลปกครอง ให้วินิจฉัยว่า มติสภา อบต.ลำนางรอง ที่ให้บริษัทเอกชน และชาวบ้านเข้าไปเช่าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนดงใหญ่ นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ พร้อมทั้งให้ชะลอการขอเช่าพื้นที่ป่าของบริษัทเอกชนไว้ก่อน เพราะการจัดสรรที่ดังกล่าวจะเห็นได้ว่า บริษัทสามารถดำเนินการเช่าพื้นที่ป่าได้มากถึง 16,000 ไร่ มากกว่าประชาชนได้เข้าไปเช่าทำกินเพียง 6,000 -7,000 ไร่เท่านั้น ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่จะให้ดำเนินการเช่าฝ่ายละ 50 เปอร์เซ็นต์ตามที่ได้สัญญาไว้

นายวันชัย ชะอ้อนศรี ที่ปรึกษาเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไม่น่าจะมีอำนาจในการจัดสรรพื้นที่ที่หมดสัญญาเช่าของเอกชน ทั้ง อบต.มีการก้าวล่วงในการจัดสรรที่ดิน ขบวนการจัดสรรดังกล่าวน่าจะมีหลายฝ่ายเข้ามาจัดสรรร่วมกันโดยมี หน่วยงานของรัฐ ตัวแทนชาวบ้าน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรเป็นเพียงหน่วยงานหนึ่งที่เข้ามาร่วมเท่านั้น

ส่วนชาวบ้าน 2 หมู่บ้าน กว่า 170 หลังคาเรือน ที่เข้าไปบุกรุกยึดพื้นที่ป่าสงวนฯ ดงใหญ่ แปลงที่ 4 แล้วนั้น ไม่ควรใช้กำลังเข้าไปผลักดันเพราะจะก่อให้เกิดความรุนแรง ควรนำตัวแทนชาวบ้าน ภาครัฐและหลายฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องมาหาข้อสรุปร่วมกัน ซึ่งก็เป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้วที่ไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงบานปลาย เพราะชาวบ้านก็พร้อมที่จะพูดคุย

ด้าน นายไพฑูรย์ สร้อยสด ตัวแทนชาวบ้านลำนางรอง หมู่ที่ 1 ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง กล่าวว่า ชาวบ้านลำนางรอง 175 ครัวเรือน ได้เข้าไปตรวจสอบพื้นที่ และสร้างสิ่งปลูกสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราว ในพื้นที่ 1,900 ไร่ โดยจัดแบ่งพื้นที่เป็นโซน ที่ตั้งชุมชน แหล่งน้ำ ที่สาธารณะ และ แปลงการเกษตร ยืนยันไม่ได้บุกรุกเป็นการเข้าไปสำรวจก่อนเจ้าหน้าที่รัฐจะเข้ามารังวัดเท่านั้น

เมื่อวันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้มาเจรจา ขอให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ อ้างว่าจะมีการลงมารังวัด หากชาวบ้านไม่ออกจะทำการรังวัดไม่ได้ แต่ชาวบ้านไม่ยอมออกจากพื้นที่ และไม่ได้ขัดขวางพร้อมช่วยเจ้าหน้าที่ในการรังวัด

“จึงอยากเรียกร้องให้ทางภาครัฐไม่ใช้ความรุนแรงในการดำเนินการกับชาวบ้าน และทางกลุ่มเห็นว่าการแบ่งให้ชาวบ้านเช่าเป็นรายๆ จะไม่มีความมั่นคง โดยเสนอให้เป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกันของชุมชน โดยรัฐจัดทำเป็นโฉนดชุมชน ให้ เพราะหากให้ชาวบ้านเช่าเป็นรายๆ นายทุนมีกำลังในการซื้อสูงจะเข้ามาสวมสิทธิ์ สุดท้ายชาวบ้านจะไม่เหลืออะไรเลย” นายไพฑูรย์ กล่าว

ด้าน นายนิรันดร์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า จากการที่ได้รับปากกับชาวบ้าน 3 อำเภอ กว่า 1,000 คน ที่มาชุมนุม และยื่นหนังสือหน้าศาลากลางจังหวัดฯ เร่งให้ไปสำรวจรังวัดที่ดินป่าสงวนฯ ดงใหญ่เพื่อจัดสรรให้ชาวบ้านเข้าเช่าทำกิน เมื่อวันที่ 26 พ.ค. ที่ผ่านมาว่าจะเข้าไปสำรวจรังวัดในวันนี้ 28 พ.ค.นั้น ล่าสุด หลายหน่วยงานที่จะร่วมเข้าไปสำรวจรังวัด ยังไม่มีความพร้อม ขอเลื่อนไปเป็นวันเสาร์ที่ 30 พ.ค.ที่จะถึงนี้

“ส่วนชาวบ้าน ม.1 และ ม.10 กว่า 170 ครัวเรือนที่เข้าไปบุกยึดพื้นที่ป่าดงใหญ่ก่อนได้รับการจัดสรร ขณะนี้ก็ยังไม่ยอมออกจากพื้นที่ป่าดังกล่าวแต่อย่างใด” นายนิรันดร์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น